กลองสะบัดชัย เป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นกลองที่ย่อส่วนดัดแปลงมาจากกลองปูจา หรือกลองบูชา โดยมีลูกตุบเป็นกลองขนาดเล็กอยู่ 3 ลูก ติดกับตัวกลองใบใหญ่ ถือว่าเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ใช้ในการออกศึกสงคราม และประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีวิธีการตีอยู่หลายทำนอง ส่วนใหญ่ใช้ตีในทางการศึก แต่ในการตีทำนองชนะศึกนั้นไม่ต้องมีลูกตุบ ภายหลังจึงได้เอาลูกตุบออกกลายมาเป็น กลองสะบัดชัยแบบไม่มีลูกตุบ ครั้นหลังจากหมดศึกสงคราม กลองส่วนใหญ่จะถูกเก็บรักษาไว้ที่วัด ในสมัยต่อมามีคนนำมาใช้ตีในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาด้วย
         เนื่องจากตัวกลองมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ภายหลังเมื่อมีการนำไปเข้าในขบวนแห่ จึงได้ลดขนาดให้สามารถใช้คนหามได้ 2 คน โดยย่อขนาดให้ลดลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน อย่างที่เห็นใช้ในปัจจุบัน หน้ากลองสะบัดชัย โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. ความกว้างของตัวกลองประมาณ 30 ซม. ขึงหนังสองหน้า รั้งด้วยเส้นเชือกหรือเส้นหนัง ไม้ที่ใช้ตีมี 2 ข้าง
         สำหรับลูกตุบปัจจุบันยังมีการใช้งานอยู่ ซึ่งทั้ง 3 ใบ มีขนาดแตกต่างกันไป ลูกใหญ่สุดหน้ากลองมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 ซม. ลูกรองลงมาประมาณ 22 ซม. และลูกเล็กประมาณ 20 ซม. ความยาวของหุ่นลูกตุบประมาณ 26 ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยการตอกหมุดซึ่งทำด้วยไม้เป็นลิ่มเล็กๆ ตอกยึดไว้ให้เหลือปลายหมุดยื่นออกมาในลักษณะสลับฟันปลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพัฒนาการของกลองสะบัดชัยพอสรุปได้เป็น 3 ยุค คือ
         ยุคแรก เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีลูกตุบ ที่มักเรียกว่า กลองปูจาหรือกลองบูชา แขวนอยู่ในหอกลองของวัดต่างๆ ลักษณะการตีมีจังหวะหรือทำนองทั้งช้าและเร็ว ใช้ประกอบศาสนกิจของสงฆ์
         ยุคหลังสงคราม ระหว่างไทยกับพม่า เป็นกลองสองหน้า มีลูกตุบ แต่มีการย่อส่วนตัวกลองใหญ่ให้เล็กลง มีคานหามเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายเรียกว่า กลองสะบัดชัยลูกตุบ เวลาตีมือข้างหนึ่งจะถือ ไม้แสะ ซึ่งทำจากหวายขนาดเล็กคล้ายไม้เรียวยาวประมาณ 40 ซม. อีกข้างหนึ่งจะถือไม้ตีกลอง อาจมีฉาบและฆ้องประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ ปัจจุบันเกือบสูญหายไปแล้ว มีผู้ที่ตีได้อยู่เพียงไม่มากนัก
         ยุคปัจจุบัน เป็นกลองสองหน้า ไม่มีลูกตุบ ใช้คนหาม 2 คน มีฉาบและฆ้องตีประกอบจังหวะ และมักจะใช้ไม้แกะเป็นรูปพญานาคทาสีสวยงามประดับไว้ที่ตัวกลองด้วย ส่วนลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในปัจจุบัน
         โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัย ยังมีปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ใช้ตีบอกสัญญาณ, ใช้แสดงเป็นมหรสพ, ใช้เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ และใช้เป็นเครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน ในปัจจุบันศิลปะการตีกลองสะบัดชัย ได้นำชื่อเสียงมาสู่วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา อยู่ในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมือง ขบวนแห่ เป็นต้น