"เต่งทิ่ง" หรือกลอง "เต่งถิ้ง" เป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือเรียกชื่อตามเสียงกลองที่ใช้บรรเลงคู่กับกลองป่งโป๊งด้วยแบบแผนหน้าทับเฉพาะตัวในวงพาทย์ฆ้องหรือวงปี่พาทย์ของล้านนา ซึ่งประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเหล็ก ฆ้องวง ปี่แนน้อย ปี่แนหลวง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น
         กลองเต่งทิ่งมีลักษณะเหมือนตะโพนมอญที่ใช้ในวงปี่พาทย์ภาคกลาง หุ่นกลองคล้ายตะโพนภาคกลางตรงกลางป่อง (ยาวประมาณ 70 ซม.) นิยมทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุนคว้านเนื้อไม้ข้างในออกเป็นกล่องเสียง
         การคว้านเนื้อไม้ออกให้เป็นโพรงในหุ่นกลางนั้นแต่ก่อนใช้เหล็กเผาไฟแดงคว้านให้เนื้อไม้ไหม้ไฟแล้วขูดออกที่ละน้อยจนกลวง ปัจจุบันใช้เครื่องจักรช่วยคว้าน ใช้หนังวัวขึงปิดทั้งสองหน้ารั้งให้หน้าตึงด้วยเส้นหวาย หนัง หรือ เชือกไนล่อน ตามแต่ความสะดวกและนิยม ดึงเร่งเสียงให้ได้ตามความต้องการโดยรอบ (หน้าใหญ่ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 42 ซม. หน้าเล็ก ประมาณ 35 ซม.) จากนั้นจึงนำหุ่นกลองมาวางแล้วผูกติดกับเท้ากลองซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบรรเลงด้วยฝ่ามือทั้งซ้าย ขวาได้ทั้งสองหน้า
         บริเวณหน้ากลอง จะทำการถ่วงหน้าเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานไพเราะด้วยวัสดุที่เรียกว่า "จ่ากลอง"ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งบดผสมกับขี้เถ้า ในอัตราส่วนที่เฉพาะของแต่ละบุคคล หรืออาจจะใช้กล้วยตากบด ติดแทนก็ได้