กลองป่งโป๊ง เป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือ ขึงหนังสองหน้า ลักษณะของหุ่นกลองคล้ายกับตะโพนไทยของภาคกลาง หุ่นกลองมักทำด้วยไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้มะค่า หรือไม้เนื้อแข็ง อื่นๆที่หาได้ในท้องถิ่น โยงรัดหน้ากลองทั้งสองด้วยสายหนังหรือเชือก ดึงเร่งเสียงโอบรอบหุ่นกลอง วางในแนวนอนโดยมีเท้ารองรับเช่นเดียวกันตะโพนไทยภาคกลาง
         หน้ากลองด้านใหญ่วัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 23-25 ซม. ส่วนหน้าเล็กวัดได้ประมาณ 19-21 ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ 45-47 ซม. ความสูงจากพื้นประมาณ 40-43 ซม. ด้านบนของหุ่นกลองไม่มีหูหิ้ว หน้ากลองไม่มีการทารักเหมือนกับกลองของภาคกลาง
         ก่อนการตีจะต้องถ่วงหน้ากลองด้วย "จ่า" ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งบดผสมกับขี้เถ้า หรือขนมเส้นบดผสมกับขี้เถ้า (ไม้ลำไย) แล้วแต่สูตรของแต่ละคน หรือใช้กล้วยตากอบน้ำผึ้งบดก็ได้ การติดจ่ากลองป่งโป้งในอดีตไม่ได้มีการเทียบเสียงเข้ากับเครื่องดนตรี แต่ในปัจจุบันในบางสำนักได้มีการเทียบเสียงให้กับขลุ่ยเมือง เป็นคู่ 5 โดยให้หน้าใหญ่ หากเทียบกับเสียงสากลเป็น เสียงโด ส่วนหน้าเล็ก หากเทียบกับเสียงสากลเป็น เสียงซอล
         กลองป่งโป๊งนั้นนิยมบรรเลงร่วมในวงพาทย์ฆ้องหรือวงกลองเต่งทิ่ง โดยปกติจะตีคู่กับกลองเต่งทิ่ง นอกจากนี้ยังใช้ตีประกอบจังหวะใน วงสะล้อซอซึง โดยจะมีการตีหน้าทับแบบต่างๆ อันเป็นแบบแผนเฉพาะตัวของกลองชนิดนี้อีกด้วย