ตะโล้ดโป๊ด หรือตะหลดปด เป็นกลองพื้นบ้านภาคเหนือของไทย หุ่นกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็ง ขึ้นหนังสองหน้า หุ่นกลองเป็นรูปทรงกระบอก คล้ายกับเปิงมางหรือกลองสองหน้าของภาคกลางแต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า ใช้สายหนังหรือเชือกไนลอนโยงเร่งเสียง ขนาดยาวและกว้างตามความต้องการของผู้สร้างหรือขนาดของกลองที่จะนำไปใช้ร่วมด้วย คือ กลองหลวงหรือกลองแอว โดยทั่วไปตัวกลองตะโล้ดโป๊ดยาวประมาณ 71-78 ซม. หน้ากลองวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 17-20 ซม. มีหูผูกห้อยทำด้วยหนังไว้สำหรับแขวน ไม้ตีมีหัวค่อนข้างแข็งเพื่อให้เกิดเสียงดัง
         โดยปกติกลองตะโล้ดโป๊ด ใช้ตีคู่กับกลองแอวเมื่อบรรเลงเคลื่อนที่ในขบวนแห่ โดยผูกห้อยติดกับกลองแอว ซึ่งมีคนหามและคนเดินตีไปด้วย นอกจากนี้ยังใช้ตีประกอบการฟ้อน และใช้บรรเลงในการเล่นเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนืออีกด้วย โดยนิยมเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ อีก 5-6 ชิ้น คือ ปี่แน 2 เลา (แนน้อย 1 แนหลวง 1) ฉาบใหญ่ 1 ฆ้องโหม่ง 1 ฆ้องหุ่ย 1 และกลองแอว 1 รวมเรียกว่า วงกลองตึ่งโนง
         เสียงของตะโล้ดโป๊ดต้องเทียบให้เข้ากับฆ้องหุ่ย มีหน้าที่ตียืนจังหวะเพื่อให้ฉาบหรือเครื่องดนตรีอื่นตีรับตามทำนองนั้นๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการนำไปผสมกับวงกลองประเภทอื่นๆ เลย