เป็นกลองที่มีขนาด รูปร่าง ลักษณะคล้ายคลึงกับกลองยาวของทางภาคกลาง สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลมาจากภาคกลางหรือกลองยาวของพม่า เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว รั้งด้วยเส้นเชือกหรือเส้นหนัง ตรงกลางหน้ากลองไม่ได้ท่าด้วยลัก ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้มะม่วง หรือไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น หุ่นกลองมีหลายขนาดตามแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน ส่วนใหญ่หน้ากลองกว้างประมาณ 20-25 ซม. ยาวตลอดตั้งแต่หน้ากลองถึงปลายหางยาวประมาณ 75-80 ซม. ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียว แล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง ริมขอบกลองมีรูห่วง ผูกสายสะพายไว้สำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยมือ ตัวกลองไม่ได้ตกแต่งด้วยผ้าสีปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาคล้ายกระโปรงเหมือนของภาคกลาง
         ชื่อกลองเป็นชื่อที่เรียกตามเสียงที่ตีรับกันระหว่างเสียงกลองและเสียงเครื่องประกอบจังหวะ คือ ฆ้องโมง เวลาบรรเลงจะดัง ทิ่งบ้อมๆ กลองชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อตามลักษณะของเสียงที่ได้ยิน เช่น ซิกม้อง สิ้งหม้อง ถิ้งหม้อง เถิ้งบ้อม เป็นต้น ก่อนตีต้องติดจ่าสำหรับถ่วงเสียงตรงกลางของหน้ากลอง อาจเพิ่มหรือลดจ่าตามเสียงที่ต้องการ เพื่อให้ได้เสียงกังวาน วิธีการเหมือนกับกลองชนิดอื่นๆ
         โดยทั่วไปมีกลอง 1 ลูก ฉาบ 1 คู่ และฆ้องโมง 1 ใบ ก็สามารถเล่นรวมวงได้ หรืออาจมีการเพิ่มจำนวนฉาบหรือฆ้องเพื่อให้ได้เสียงดังกระหึ่มมากขึ้น ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วงกลองทิ่งบ้อม จังหวะในการตีจะใช้เสียงฆ้องโมงตียืนเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ส่วนกลองและฉาบจะตีหยอกล้อกัน สอดสลับกับเสียงฆ้องโมง ส่วนใหญ่นิยมใช้ตีประกอบการฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ และในขบวนแห่โดยทั่วไป