กลองทัดเป็นกลองขึงหนังสองหน้าขนาดใหญ่ใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง หุ่นกลองมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกป่องตรงกลาง ทำจากไม้เนื้อแข็งเจาะคว้านทะลุเป็นกล่องเสียง ขึงหน้ากลองทั้งสองหน้าด้วยหนัง โค กระบือ แล้วยึดติดกับหุ่นกลองด้วยหมุดที่ทำจากโลหะ งาช้าง กระดูกสัตว์ ซึ่งมีชื่อเรียกส่วนนี้ว่า “แส้กลอง” แล้วทายางรักบริเวณตรงกลางเพื่อรักษาหน้ากลอง
         ด้านหนึ่งของกลองทัด มีหูโลหะเล็กๆ เรียกว่า “หูระวิง” สำหรับยึดกับขาหยั่งในการตั้งกลองกับพื้นในเวลาบรรเลงในวงปี่พาทย์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้กลองทัด 2 ใบซึ่งเป็นแบบแผนที่ยึดปฏิบัติมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกชื่อแบ่งออกตามลักษณะเสียงที่แตกต่าง ได้แก่ กลองทัดตัวผู้ (เสียงสูง) กลองทัดตัวเมีย (เสียงต่ำ)
         กลองทัดนั้นมีบทบาทหน้าที่สำคัญบรรเลงคู่กับตะโพนในวงปี่พาทย์มาแต่โบราณ ประกอบการแสดง โขน ละคร หนังใหญ่ เป็นอาทิ ทั้งยังมีพัฒนาการเพิ่มเติมจำนวนจาก หนึ่งใบไปจนกระทั่งครบ 3 ใบ เพื่อความเหมาะสมในโอกาสต่างๆ
         นอกจากนี้ยังนำไปเป็นกลองสัญญาณ เช่น ตี ณ หอกลองของวัด เรียกว่า กลองเพล หรือตีบอกเวลาจากหอกลองปะจำพระนคร เรียกว่า กลองย่ำพระสุริสีห์ เป็นต้น