ซอ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี เกิดเสียงโดยการใช้หางม้าที่ผูกติดกับคันชัก ถูเข้ากับสายเพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือน อีกทั้งยังสามารถใช้นิ้วกดสายตามตำแหน่งต่างๆเพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ
ซออู้มีส่วนประกอบสำคัญดังนี้
1.ทวนซอ หรือคันซอ จำจากไม้ชนิดต่าง เช่น ชิงชัน พยุง ประดู่ มะเกลือ หรือ แม้กระทั่งงาช้าง เป็นต้น นำมากลึงเป็นทรงกลมยาว บริเวณใต้ลูกบิดขึ้นไปถึงปลายซอ (เรียกว่า "ทวนบน") กลึงเป็นลักษณะกลมตลอดคัน มีลูกแก้ว (วงแหวน) วางระยะประดับพอสวยงาม ปลายล่างของคันทวนเรียวเล็ก สอดทะลุกะโหลกซอ
2.ลูกบิด มี 2 ลูก ทำจากไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง กลึงกลมปลายตัด สอดทะลุทวนซอด้านบน ทำหน้าที่ยึดสาย 2 สาย เรียกว่า สายเอก และ สายทุ้ม ทำการปรับเสียงโดยการหมุนลูกบิดเพื่อให้เกิดการตึงหย่อน ต่ำสูงตามต้องการ
3.กะโหลกซอทำจากกะลามะพร้าวที่มีลักษณะ "ทุย" ตัดส่วนหน้าออกโดยให้ส่วนที่เป็นพูปรากฏขึ้นด้านบน 2 พู และด้านหลังซึ่งเจาะสลักลวดลายให้เสียงลอดผ่านอีก 1 รู ด้านหน้าซอขึงด้วยหนังลูกแพะหรือหนังลูกวัว
4.รัดอก คือบ่วงเชือกทำหน้าที่ผูกรั้งสายซอทั้ง 2 สาย รวมไว้ด้วยกันบริเวณทวนซอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้บรรเลงใช้นิ้วกดสาย นิยมใช้เส้นไหมที่มีขนาดเท่ากับสายเอก
5.หมอน คือวัสดุที่วางอยู่บนหนังหน้าซอเพื่อรองรับสายซอทั้ง 2 สาย ทำหน้าที่ส่งแรงสั่นสะเทือนสู่หน้าซอ และกะโหลกซอ โดยนิยมใช้กระดาษกว้าประมาณ 2 ซม. ม้วนให้แน่นแล้วพันทับด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง
6.คันชัก ทำจากไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกับที่ทำทวนซอ หรืองาช้าง เหลากลึงเป็นรูปโค้ง ปลายทั้งสองด้านตรึงยึดกับหางม้า หรือเอ็น ขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 250 เส้น ให้มีความตึงหย่อนพอประมาณ จัดให้อยู่ระหว่างสายเอกและสายทุ้ม
7.สายซอ ทำจากไหม ซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กต่างกัน กล่าวคือสายด้านในคือสายทุ้มจะมีขนาดใหญ่กว่า เทียบเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียง "โด" สายด้านนอก มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า สายเอก เทียบเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียง "ซอล"
ซออู้นั้นนอกจากจะบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสาย มโหรี และปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์แล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญในการบรรเลงประกอบการแสดงหุ่นกระบอก และแอ่วเคล้าซออีกด้วย