ซอ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี เกิดเสียงโดยการใช้หางม้าที่ผูกติดกับคันชัก ถูเข้ากับสายเพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือน อีกทั้งยังสามารถใช้นิ้วกดสายตามตำแหน่งต่างๆเพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ
         ซอด้วงมีส่วนประกอบสำคัญดังนี้
         1.ทวนซอ หรือคันซอ จำจากไม้ชนิดต่าง เช่น ชิงชัน พยุง ประดู่ มะเกลือ หรือ แม้กระทั่งงาช้าง เป็นต้น ตอนปลายด้านบน (เรียกว่า "ทวนบน") กลึงเป็นลักษณะเหลี่ยมคล้ายโขนเรือ (เรียกว่า "โขน") ส่วนปลายด้านล่างเรียวเล็ก สอดทะลุกระบอกซอ
         2.ลูกบิด มี 2ลูก ทำจากไม้ชนิดต่างๆ หรืองาช้าง กลึงกลม ด้านปลายมีลักษณะเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ หันไปทางเดียวกับโขนซอ สอดทะลุทวนบน (โขน) ทำหน้าที่ยึดสาย โดยลูกบิดด้านบนจะผูกสายทุ้ม (เสียงต่ำ) ลูกบิดด้านบน ผูก สายเอก (เสียงสูง) ทำการปรับเสียงโดยการหมุนลูกบิดเพื่อให้เกิดการตึงหย่อน ต่ำสูงตามต้องการ
         3.กระบอก ซอทำจากไม้ชนิดต่าง หรืองาช้าง ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง โดยการนำวัสดุดังกล่าวมาขุด กลึงคว้านให้เป็นกระบอกทรงกลมคล้ายด้วงดักสัตว์ ด้านหนึ่งของกระบอกจะปิดหน้าด้วยหนังงูเหลือม เพื่อเป็นตัวกระจายความสั่นสะเทือนจากสายซอที่วางพาดอยู่บนหย่องบริเวณหน้าซออีกทีหนึ่ง
         4.รัดอก คือบ่วงเชือกทำหน้าที่ผูกรั้งสายซอทั้ง 2 สาย รวมไว้ด้วยกันบริเวณทวนซอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้บรรเลงใช้นิ้วกดสาย
         5.หย่อง คือเศษไม้สี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆที่วางอยู่บนหนังหน้าซอเพื่อรองรับสายซอทั้ง 2 สาย ทำหน้าที่ส่งแรงสั่นสะเทือนสู่หน้าซอ และกระบอกซอ
         6.คันชัก ทำจากไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกับที่ทำทวนซอ หรืองาช้าง เหลากลึงเป็นรูปโค้ง ปลายทั้งสองด้านตรึงยึดกับหางม้า หรือเอ็น ขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 250 เส้น ให้มีความตึงหย่อนพอประมาณ แล้วจึงแทรกหางม้าเข้าไปอยู่บริเวณเหนือกระบอก คั่นกลางระหว่าง สายเอก และสายทุ้ม
         7.สายซอ ทำจากไหม ซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กต่างกัน กล่าวคือสายด้านในคือสายทุ่มจะมีขนาดใหญ่กว่า เทียบเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียง "ซอล" สายด้านนอก มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า สายเอก เทียบเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียง "เร" ในปัจจุบันอาจใช้สายเอ็น หรือสายโลหะ เปลี่ยนแทนสายไหม เพื่อความทนทานและคุณภาพเสียงที่ชัดเจนขึ้น