จะเข้เป็นเครื่องดนตรีประเภทพิณหรือเครื่องดีดขนาดใหญ่ที่บรรเลงโดยวางวางราบลงบนพื้นเบื้องหน้าผู้บรรเลง
         ตัวจะเข้นั้นทำจากไม้ขนุนเซาะด้านในเป็นโพรงยาวตลอดตัวเป็นกล่องเสียง และปิดทับด้วยแผ่นไม้บาง เจาะช่องเสียงไว้เล็กน้อย บนตัวจะเข้ทางขวาของผู้ดีด โยงสายไหม 2 สาย สายลวด 1 สาย (ในปัจจุบันนิยมใช้สายเอ็นแทนสายไหม) วางพาดกล่องโลหะทองเหลือ เรียกว่า "โต๊ะ" บนโต๊ะนั้นจะมี ชิ้นไม้ไผ่เล็กๆรองรับอีกทีหนึ่งเพื่อให้เกิดเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของจะเข้ที่เรียกว่า "กินแหน" ด้านบนของตัวจะเข้ จะมีไม้โมกเหลาเป็นฐานเสียง หรือนมจะเข้ วางเรียงลดหลั่นตามตำแหน่งของเสียงที่ต้องใช้นิ้วกด จำนวน 11 นม โดยมีสายจะเข้ทั้ง 3 สาย พาดผ่านไปยัง "ซุ้ม" ที่จะเป็นตำแหน่งที่สายจะวางพาดอยู่ก่อนที่จะไปผูกโยงกับก้านลูกบิด โดยลอดผ่านช่องเล็กๆที่เรียกว่า "รางไหม"
         ในการบรรเลงจะเข้นั้น ผู้บรรเลงต้องมีอุปกรณ์ในการดีด คือ "ไม้ดีด" ซึ่ง ทำจากไม้เนื้อแข็ง งาช้าง เขาควาย หรือกระดูกสัตว์ เป็นรูป แท่งยาวท่อนกลม ปลายเรียว โดยต้องพันติดกับมือขวาของผู้บรรเลงให้แน่น เพื่อให้เกิดเสียงที่ดังคมชัด
         จะเข้ได้รับความนิยมมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทอยู่ในวงดนตรีไทยหลายประเภท เช่น เครื่องสายไทย เครื่องสายปี่ชวา มโหรี เป็นต้น