ซึง คือ เครื่องดนตรีประเภทพิณ มีสายพาดอยู่เหนือกล่องเสียง และเกิดเสียงด้วยการดีดสาย อาจจะมีกี่สายก็ได้แล้วแต่ว่าเป็นซึงจากภาคใดของไทย ในบางท้องที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า ปิน แต่ในวรรณกรรมบางเรื่องและในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ติ่ง
         กล่องเสียงทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกัน ขุดคว้านให้เป็นกล่องหรือเป็นโพรง และใช้ไม้ตัดกลมเจาะรูกลางแผ่นทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดความกังวาน คันทวน (คอ) ทำเป็นเหลี่ยมโดยด้านหน้าถากเหลาให้แบนเรียบ เพื่อวางพาดสาย ตอนปลายของคันทวนขุดเป็นร่องเจาะรูสอดลูกบิดขวา 2 ซ้าย 2 อัน รวมมีลูกบิด 4 อัน เข้าไปในร่องสำหรับขึงสายทำด้วยลวดโลหะ ซึ่งจะตั้งเสียงไว้ซ้ำกันเป็นคู่ คือ สายเอก 2 สาย สายทุ้ม 2 สาย การใช้สาย 2 เส้นเสียงเดียวกันจะทำให้เสียงดังกังวานขึ้นอีก
         สายซึงทั้ง 2 คู่นี้ ใช้เส้นลวด 2 ขนาดไม่เท่ากัน (ขนาดเล็ก 2 ใหญ่ 2 สาย) วางพาดหย่องสำหรับหนุนสายตรงกลางกะโหลกด้านหน้า และมีฐานเสียง (ตะพานหรือนม) ทำจากไม้ชิ้นเล็กๆวางรับนิ้ว เรียงตามลำดับนับไปถึงปลายทวนรวม 9 ชิ้น แต่ละชิ้นจะมีความห่างที่แตกต่างกันตามตำแหน่งเสียงที่ต้องการ ชิ้นถัดๆ มาก็สั้นเข้าถึงอันที่ 9 ซึ่งอยู่ใกล้กะโหลกยาวราวครึ่งหนึ่งของหน้าทวน ปลายทวนทำให้แบนและงอมาทางด้านหน้า นิยมใช้ถือแนบหน้าอกด้วยมือซ้าย และมือขวาถือไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ โดยทั่วไปซึงสามารถแบ่งตามขนาดได้เป็น 3 ประเภท คือ
         ซึงหลวง หรือซึงใหญ่ มีความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 30 ซม. หนาประมาณ 6 ซม. ยาวประมาณ 130 ซม. มีเสียงทุ้มต่ำ ลีลาในการบรรเลงจะสอดรับกับซึงตัวอื่นๆ หน้าที่หลักของซึงใหญ่จึงคล้ายกีต้าร์เบสในทางดนตรีสากล
         ซึงกลาง มีความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 25 ซม. หนาประมาณ 5.5 ซม. ยาวประมาณ 110 ซม. มีหน้าที่ดำเนินทำนองหลักของเพลง ลีลาการบรรเลงมีลูกเล่นบ้าง โดยจะเล่นล้อรับกับซึงใหญ่และซึงเล็กสลับกันไป
         ซึงเล็ก ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 20 ซม. หนาประมาณ 5 ซม. ยาวประมาณ 90 ซม.มีเสียงแหลมเล็ก ลีลาการบรรเลงต้องมีลูกเล่นแพรวพราว สอดรับกับ ซึงกลาง สะล้อกลาง และขลุ่ยเมือง
         ซึงนอกจากใช้บรรเลงเดี่ยวแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ซึ่งแตกต่างกันไปตามรูปแบบการประสมวง เช่น วงสะล้อซึง วงปี่จุม วงซอน่าน เป็นต้น โดยทั่วไปซึงมีการตั้งเสียงแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
         ซึงลูกสาม ตั้งเสียงสายทุ้มเป็นเสียง โดต่ำ สายเอกเป็นเสียง ซอล ซึ่งซึงลูกสามมักเป็นซึงกลาง
         ซึงลูกสี่ ตั้งเสียงสายทุ้มเป็นเสียง ซอล สายเอกเป็นเสียง โดสูง มักจะเป็นการตั้งเสียงของซึงหลวง และซึงเล็ก