แน เป็นปี่พื้นเมืองพายัพประเภทใช้ลิ้นในการกำเนิดเสียง มีลักษณะคล้ายปี่ชวา หรือปี่มอญ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญที่สามารถแยกออกจากกันได้ คือ เลาปี่ ลิ้นปี่ และส่วนปลายเปิดที่เรียกว่า ลำโพง
         เลาปี่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงกลมเรียว บริเวณเลาปี่ด้านที่ใกล้ปากเป่า กลึงเป็นลูกแก้วควั่นเพื่อความสวยงาม ที่ตัวเลาปี่เจาะรูสำหรับนิ้วเปิด-ปิดให้เกิดสียงต่างๆ ในขณะเป่า 7 รู ลำโพงปี่ ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะผสมหลอม ตีให้ปลายบานออกคล้ายดอกลำโพงเพื่อช่วยการกระจายเสียงให้ดังกังวานขึ้น
         ลิ้นปี่ ของปี่แนนั้นเป็นลิ้นคู่ ทำจากใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกติดกับท่อโลหะกลึงกลม เรียกว่า กำพวด ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ เช่น ทองเหลือง, เงิน, นาค เป็นต้น ซึ่งจะมีความยาวแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของปี่แน ถ้าขนาดใหญ่ คือ แนหลวง ขนาดเล็ก คือ แนน้อย
         นอกจากนี้ ปี่แนส่วนใหญ่จะมีแผ่นกระบังลม ซึ่งไม้ แผ่นโลหะ หรือพลาสติก สอดติดไว้กับกำพวดปี่สำหรับกันริมฝีปากผู้เป่าเช่นเดียวกับที่ปี่มอญหรือปี่ชวาใช้
         แนหลวง เป็นปี่ขนาดใหญ่คล้ายปี่มอญ มีเสียงดังกังวาน เลาปี่ยาวประมาณ 48-50 ซ.ม. ช่องปากลำโพงกว้างประมาณ 12-13 ซ.ม. รวมทั้งใบบานที่กางออกไปเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 21-22 ซ.ม. กำพวดยาวประมาณ 10 ซ.ม. ลีลาการบรรเลงไม่ค่อยมีลูกเล่นมากนัก เป่าดำเนินทำนองยาวๆ ลีลาเรียบง่ายเป็นส่วนมาก
         แนน้อย เป็นปี่ขนาดเล็ก เสียงค่อนข้างเล็กแหลม เลาปี่ยาวประมาณ 33-35 ซ.ม. ช่องปากลำโพงกว้างประมาณ 6-7 ซ.ม. ส่วนลำโพงที่บานออกไปเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12-13 ซ.ม. กำพวดยาวประมาณ 8 ซ.ม. ลีลาดำเนินทำนองค่อนข้างผาดโผน คอยบรรเลงสอดสลับกับแนหลวง
         ตามปกติเลาปี่กับลำโพงที่สอดสวมเข้าไปด้วยกันนั้นหลวมหลุดออกจากกันได้ง่าย จึงต้องมีเชือกเส้นหนึ่งผูกลำโพงท่อนบนโยงมาผูกไว้กับตัวเลาปี่ตอนบนเหนือลูกแก้ว มักเป่าพร้อมกันทั้ง 2 เลา นิยมใช้ร่วมขบวนแห่ วงกลองตึ่งโนง, วงกลองหลวง เป็นต้น