ปี่จุมเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน เลาปี่ทำจากลำไม้รวก ปลายด้านหนึ่งบริเวณรูเป่าเจาะทะลุเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับสอดลิ้นที่ทำจากทองเหลือง เงิน หรือโลหะชนิดอื่น เพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเป็นเสียงไพเราะเมื่อผู้บรรเลงเป่าหรือดูดลมผ่านลิ้นโลหะนั้นๆ
         ด้านหนึ่งของเลาปี่เจาะด้วยเหล็กเผาไฟเรียงลำดับลงมา 7 รู ตามระยะห่างของแต่ละเสียง โดยเจาะให้ชอนทะลุย้อนขึ้นไปทางหัวปี่ที่ใส่ลิ้น ดังนั้นปี่จุมแต่ละเลาจึงมีขนาดยาว-สั้น และเล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไปตามเสียงที่ต้องการ เหตุที่เรียกว่า ปี่จุม เพราะใช้บรรเลงเป็น จุม (ชุด) คือ ประกอบด้วยปี่ตั้งแต่สามเลาขึ้นไป สามารถแบ่งตามขนาดได้ 5 ชนิด คือ
         1. ปี่แม่ เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในชุดเดียวกัน ยาวประมาณ 70-75 ซม. มีเสียงทุ้มต่ำ เวลาบรรเลงในวงเสียงจะยืนเสียงพื้น และทำหน้าที่ประสานเสียง มีการไล่เสียงคล้ายปี่ก้อย ในปัจจุบันมีการนำเอา ซึง มาเล่นแทนเพื่อความกระชับและเพื่อการกำหนดจังหวะที่แน่นอน
         2. ปี่กลาง เป็นปี่ที่มีขนาดปานกลาง ยาวประมาณ 60-65 ซม. มีระดับเสียงค่อนข้างทุ้ม ทำหน้าที่ประสานเสียงกับปี่ก้อย
         3. ปี่ก้อย มีขนาดเล็กลดหลั่นลงมาจากปี่แม่และปี่กลาง ยาวประมาณ 40-45 ซม. มีระดับเสียงไม่ทุ้ม และไม่แหลมเกินไป ทำหน้าที่ในการขึ้นหรือลงเพลง ปี่ทุกเลาต้องฟังปี่ก้อยเป็นหลัก แม้แต่ช่างซอก็ยึดเอาเสียงปี่ก้อยเป็นหลัก
         4. ปี่เล็ก จัดได้ว่าเป็นปี่ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 30-35 ซม. มีเสียงเล็กแหลม มีการไล่เสียงคล้ายปี่กลาง ทำหน้าประสานเสียงกับปี่ก้อย
         5. ปี่ตัด หรือปี่ก้อยน้อย จัดได้ว่าเป็นขนาดเล็กที่สุดในวงปี่จุม มีเสียงเล็กแหลม การไล่เสียงคล้ายปี่ก้อย ในปัจจุบันไม่นิยมเป่าเพราะจะทับทางกับปี่ก้อย ต้องอาศัยผู้เล่นที่มีทักษะในการจำแนกทาง
         สำหรับการเล่นรวมวง นิยมใช้ปี่เป็นชุดเรียกว่า วงปี่จุม นั้นหมายถึงการใช้ปี่ขนาดต่างๆ กันเป่าบรรเลงรวมกันตามจำนวนและขนาดที่กำหนด วงปี่จุมทั่วไปมี 3 แบบ คือ
         ปี่จุมสาม ประกอบด้วย ปี่แม่ ปี่กลาง และปี่ก้อย
         ปี่จุมสี่ี่ ประกอบด้วย ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย และปี่เล็ก
         ปี่จุมห้า ประกอบด้วย ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่เล็ก และปี่ตัด