สะล้อน่าน เป็นเครื่องสีพื้นบ้านที่สร้างขึ้นใช้เป็นการเฉพาะในจังหวัดน่าน คันทวนยาวประมาณ 70 ซม. ปลายทวนด้านหนึ่งทิ่มทะลุกะลามะพร้าว ที่ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ด้านหลังของกะลาเจาะรูให้เสียงดังกังวาน ปลายทวนล่างขึงสายโลหะพาดผ่านหย่องไม้ที่วางอยู่บนแผ่นไม้บางๆ แทนหนังหน้าซอ เรื่อยขึ้นไปจนถึงลูกบิด 2 อัน ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ลูกบิดกีตาร์แทนเพื่อความสะดวกในการตั้งเสียง
         ลักษณะสำคัญของสะล้อน่านซึ่งแตกต่างจากสะล้อในล้านนาทั่วไปตรงที่ตำแหน่งที่นิ้วมือซ้ายกดสายเพื่อเปรียบเสียงนั้น จะมีแผ่นไม้รองรับนิ้วและสาย คล้ายเป็นฐานเสียงหรือนม จำนวน 11 อัน โดยแต่ละชิ้นจะวางอยู่บนทวนมีระยะห่างที่แตกต่างกันตามตำแหน่งเสียงแต่ละเสียง สะล้อน่านนิยมใช้บรรเลงร่วมกับ ซึง ซึ่งในท้องถิ่นแถบนั้นเรียกว่า ปิน หรือพิณ ไม่เรียกซึงเหมือนที่อื่น รวมบรรเลงเป็นวงเรียกว่า วงซอน่าน ซึงที่ใช้บรรเลงเป็นซึงกลางตั้งเสียงแบบลูกสี่ บรรเลงคู่กับสะล้อน่านซึ่งตั้งเลียงแบบลูกสี่เช่นกัน หากเทียบเป็นเสียงสากลคือ สายทุ้มเป็น ซอล สายเอกเป็นโดสูง ใช้ประกอบการขับซอของเมืองน่าน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว