ซอ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี เกิดเสียงโดยการใช้หางม้าที่ผูกติดกับคันชัก ถูเข้ากับสายเพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือน อีกทั้งยังสามารถใช้นิ้วกดสายตามตำแหน่งต่างๆเพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ
         ซอสามสายมีส่วนประกอบสำคัญดังนี้
         1.คันซอ ทำจากไม้ชนิดต่าง เช่น ชิงชัน พยุง ประดู่ มะเกลือ หรือ งาช้าง แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
         1.1.ทวนบน คือส่วนที่อยู่เหนือรัดอกขึ้นไป ในอดีตทวนบนจะกลวงเพื่อทำให้เสียงดังกังวาน ทวนบน มีความยาวประมาณ 25 ซม.
         2.2.ทวนกลาง คือคันซอที่ยาวลงมานับจากรัดอกจนถึงกะโหลกซอ มักมีการประดับด้วยวัสดุอื่นเพื่อความสวยงาม เช่น มุก นาค หรือ ทอง เป็นต้น ทวนกลางมีความยาวประมาณ 41 ซม.
         2.3. ทวนล่าง หรือแข้งไก่ คือส่วนที่อยู่ใต้กะโหลกซอลงไป ด้านปลายทำจากโลหะแหลมเพื่อยึดติดพื้นเพื่อความมั่นคงในการตั้งซอขณะที่ทำการบรรเลง ทวนล่างยาวประมาณ 25 ซม.
         2.ลูกบิด มี 3 ลูก ทำจากไม้ชนิดต่างๆ หรืองาช้าง กลึงกลมหัวเม็ดทรงมัณฑ์ มีความยาวประมาณ 15 ซม. สอดทะลุทวนซอ ทำหน้าที่ยึดสาย 3 สาย ที่ทำจากไหม คือ สายเอก สายกลาง และสายทุ้ม เทียบเสียงห่างกันเป็นคู่ 4 ลดหลั่นลงตามลำดับ
         3 กะโหลกซอทำจากกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ ตัดขวางเอาแต่ส่วนบนที่มีลักษณะนูนเป็นสามเส้า ประกอบเข้ากับกรอบไม้เนื้อแข็ง เรียกว่า "ขนงไม้สัก" แล้วจึงขึงหนังลูกแพะหรือลูกวัวให้ตึงพอดีโดยปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาเล็กน้อย
         กะโหลกของซอสามสายนั้นจะมีรูปร่างแบ่งออกเป็น 2 คือ หน้าพระ และหน้านาง ซึ่งจำแนกตามความกว้างของหน้าซอ
         4.รัดอก คือบ่วงเชือกไหมเล็กฟั่นเกลียวทำหน้าที่ผูกรั้งสายซอทั้ง 3 สาย รวมไว้ติดกับทวนซอ
         5.หย่อง คือวัสดุที่วางอยู่บนหนังหน้าซอเพื่อรองรับสายซอทั้ง 3 สาย ทำหน้าที่ส่งแรงสั่นสะเทือนสู่หน้าซอ และกะโหลกซอ ทำจากไม้หรืองาช้าง
         6.คันชัก ทำจากไม้เนื้อแข็งและเหนียว เช่น ไม้แก้ว เหลากลึงเป็นรูปโค้ง ยาวประมาณ 87 ซม. ปลายทั้งสองด้านตรึงยึดกับหางม้า หรือเอ็น ขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 250-300 เส้น ให้มีความตึงหย่อนพอประมาณ