ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีดำเนินทำนอง มีหลักฐานปรากฏมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดำเนินทำนองหลักของเพลงในรูปแบบการประสมวงต่างๆ เช่นปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ มโหรีเครื่องใหญ่ เป็นต้น โดยบรรเลงเป็นทำนองห่างๆ อีกทั้งยังสามารถบรรเลงเดี่ยวอวดความสามารถของนักดนตรีได้อีกด้วย
ฆ้องวงใหญ่มีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนดังนี้
1.ลูกฆ้อง ทำจากโลหะชนิดต่างๆ ในอดีตนิยมใช้สัมฤทธิ์ (ทองแดง ผสมดีบุก) ปัจจุบันนิยมใช้ทองเหลือง นำมาขึ้นรูปด้วยวิธีการตีโลหะในขณะที่ร้อนจัดจนเกิดรูปร่าง (เรียกว่าฆ้องตี) หรือนำโลหะเหลวเทลงในแม่พิมพ์ (เรียกว่า ฆ้องหล่อ) ให้เกิดเป็นลูกฆ้องที่มีลักษณะเป็นวงกลม ตรงกลางกลมนูน เป็นตำแหน่งเพื่อการตี (เรียกว่า "ปุ่มฆ้อง") ด้านริมหักลงไปเป็นขอบโดยรอบ (เรียกว่า "ฉัตร") ที่ขอบฉัตรด้านข้างเจาะรูร้อยเชือกหนังเพื่อผูกเข้ากับร้านฆ้อง
ด้านในของลูกฆ้องบริเวณที่เป็นปุ่มฆ้อง จะหยอดตะกั่วผสมขี้ผึ้งเพื่อถ่วงเสียงลูกฆ้องใบนั้นให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ
2.ร้านฆ้อง ทำจากเส้นหวายโป่งดัดเป็นทรงกลมเกือบครบรอบวง เว้นทางเข้าเป็นประตูให้ผู้บรรเลงเข้าไปนั่งอยู่ตรงกลาง ระหว่างหวายเส้นบน และล่าง จับยึดกันด้วย แท่งไม้ เรียกว่า "ลูกมะหวด" เป็นระยะตลอดวงฆ้อง ด้านบนผูกลูกฆ้องด้วยเชือกหนังเข้ากับร้านฆ้อง เรียงจากลูกใหญ่ที่สุด (เสียงต่ำ) อยู่ทางซ้ายมือไล่เสียงสูงขึ้นไปทางขวา
ฆ้องวงใหญ่นั้น มีลูกฆ้องจำนวน 16 ลูก โดยที่เสียงต่ำที่สุด ซึ่งเรียกว่า "ลูกทวน" เทียบได้ใกล้เคียงกับเสียง "เร" ของสากล และไล่เรียงลำดับขึ้นไปจนถึง "ลูกยอด" ซึ่งอยู่ทางขวาสุด
ไม้ตีฆ้องมี 2 ชนิด คือ
1.ไม้หนัง ก้านไม้ทำจาก ไม้ไผ่ติดข้อคุณภาพดี เสียบติดเข้ากับหันไม้ที่ทำจากหนังช้าง หนังกระบือที่ผ่านกรรมวิธีเตรียมหนังมาเป็นอย่างดี ให้เสียงที่คมดังชัดเจน
2.ไม้นวม ก้านไม้ทำจากไม้ไผ่ หรือ ไม้จริง เสียบติดเข้ากับแป้นผ้าที่ม้วนพันขึ้นรูป เป็นทรงกลมและสักด้ายปิดไว้โดยรอบเพื่อความสวยงามและทนทาน ให้เสียงที่นุ่มนวลไพเราะ