พิณเปี๊ยะเป็นพิณพื้นบ้านโบราณซึ่งตกทอดกันมาในแผ่นดินล้านนา มีพัฒนาการมาจากพิณธนู หลักการเกิดเสียงและการดีดคล้ายพิณน้ำเต้า (ซึ่งเป็นพิณสายด้วย) พิณเพี๊ยะนี้ใช้กะลามะพร้าวซีกเป็นกล่องเสียงยึดติดกับคันพิณที่ตำแหน่งประมาณ 2/3 จากปลายพิณ แต่เดิมมี 2 สาย ต่อมาจึงพัฒนาเป็น 3 สาย 4 สาย จนถึง 7 สาย ด้ามคันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สายที่ทำให้เกิดเสียงเดิมใช้เส้นลวดธรรมดา ภายหลังพัฒนามาใช้เส้นลวดทองเหลือง
         คันเปี๊ยะ ทำจากไม้เนื้อแข็งเพื่อความแข็งแรงและเกิดเสียงที่ไพเราะ โดยเหลาไม้กลมมนให้ได้สัดส่วน ปลายเรียวเล็ก โคนใหญ่ มีความยาวประมาณ 75-90 ซม. ปลายพิณมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 3 ซม. ได้ส่วนกับท่อนหัว ปลายด้านหนึ่ง(ด้านใหญ่)เจาะเป็นรู เพื่อเอาไว้ใส่ลูกบิด โดยให้ห่างจากปลายสุดของคันเปี๊ยะประมาณ 12-15 ซม. ปลายสุดของพิณเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 ซม. มีหัวโลหะสำริด หล่อเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ (เป็นนกตามความคิดของคนโบราณ ปรากฏเป็นนกที่มีลักษณะพิเศษ มีจมูกเป็นงวงช้าง มีงา มีปีกอย่างนก คำว่า หัสดี แปลว่า ช้าง) ยาวประมาณ 14-15 ซม. สำหรับผูกและพาดสายที่ทำให้เกิดเสียงไปยังลูกบิดที่ทำไว้สำหรับเร่งเสียง
         ในอดีตนั้นเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นกันในแต่ในราชสำนักฝ่ายเหนือ ต่อมาได้แพร่ออกมาสู่กลุ่มชาวบ้านที่พอมีฐานะ และมีฝีมือทางดนตรี เพราะหัวเปี๊ยะซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญนั้นหายากและมีราคาแพง ประกอบกับเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก และมีเสียงไพเราะมาก ดังนั้นใครที่เล่นเปี๊ยะได้ก็จะเป็นที่ยกย่องชื่นชมเป็นพิเศษ ทำให้หนุ่มๆล้านนาสมัยก่อนนิยมที่เสาะแสวงหาเปี๊ยะมาเล่นกัน เพราะจะได้เปรียบเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ในเวลาไปแอ่วสาวยามค่ำคืน
         วิธีการเล่นเปี๊ยะจะคล้ายกับพิณชนิดอื่นๆ คือ ใช้มือซ้ายกดสาย และถือคันพิณเฉียงกับลำตัวของผู้เล่น ดีดสายด้วยมือขวา แต่จะดีดสายด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า ป๊อก เพื่อให้เกิดเป็นเสียงที่มีความคมชัด ใสกังวาน และดังนานกว่าเสียงธรรมดา ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเสียงเปี๊ยะ ทั้งยังมีโครงสร้างของระบบเสียงพิเศษอีกคือ ถูกสร้างเพื่อให้เล่นเสียงที่เรียกว่า Harmonic โดยเฉพาะ สำหรับเทคนิคในการเล่นพิณเปี๊ยะ มีอยู่หลายลักษณะ เช่น การดีดสาย, การรูดสาย, การเขี่ยสาย เป็นต้น
         เวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิด เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ เช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า แม้ผู้ชายจะเล่นได้คล่องตัวกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงก็อาจเล่นได้เช่นกัน โดยแทนที่จะครอบกล่องเสียงไว้ที่หน้าอกแบบชาย ก็ให้ครอบกล่องเสียงไว้ที่หน้าท้องแทน
         สำหรับการผสมวงของเปี๊ยะนั้น ในปัจจุบันนี้นิยมเล่นเป็น เปี๊ยะจุม คือนำเอาเปี๊ยะ ตั้งแต่ 2-7 สายมาเล่นด้วยเป็นวง หรือจะใช้เปี๊ยะเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบาอาจจะเป็นซึง สะล้อ หรือขลุ่ย ก็ได้
         เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีคนเล่นเปี๊ยะกันน้อยมากและการเล่นเปี๊ยะก็แทบจะหายสาบสูญไป จากวิถีชีวิตของคนในล้านนามากว่า 50 ปีแล้ว ดังนั้นคนปัจจุบันจึงเกือบจะไม่มีโอกาสที่จะได้รู้จักและเห็นหน้าการใช้งานของพิณชนิดนี้เลย จากหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นเอกสารและโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมทั้งคำบอกเล่า ทำให้เราสามารถทราบถึงการนำเปี๊ยะไปใช้งานในโอกาสต่างๆ เช่น ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา, เพื่อความบันเทิง, เพื่อใช้แสดงถึงฐานะและสถานภาพในสังคม และใช้เป็นเครื่องมือในการหาคู่ครอง เป็นต้น