ขลุ่ยเมือง คือ ขลุ่ยที่ชาวพื้นเมืองภาคเหนือใช้ ลักษณะโดยทั่วไปคล้าย ขลุ่ยหลิบ ของทางภาคกลาง ที่มีขนาดเล็ก แต่เดิมทำจากไม้ไผ่ ภายหลังได้ประยุกต์โดยการนำท่อพลาสติคมาเป็นวัสดุทดแทน
         ตัวเลาขลุ่ยมีความยาวประมาณ 33 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. ที่ปากเป่าอุดด้วยไม้โดยเปิดเป็นช่องให้ลมเข้าเรียกว่า ดาก ด้านล่างใกล้ปากเป่าเจาะรูเป็นปากนกแก้ว ไม่มีรูเยื่อ และ รูนิ้วค้ำเหมือนขลุ่ยหลิบของภาคกลาง ที่เลาขลุ่ยเจาะรูกลมเพื่อใช้เป็นรูปิด - เปิดด้วยนิ้ว ช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ในขณะเป่า 7 รู ตอนปลายเจาะรูไว้สำหรับร้อยเชือก เพื่อแขวนไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน
         ขลุ่ยเมือง ภาษาถิ่นล้านนาอาจเรียกว่า ขลุ่ยตาด มีเสียงเล็กแหลม ลีลาการดำเนินทำนอง จะคอยสอดประสานไปกับเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่นิยมเล่นอยู่ในวงสะล้อ ซอ ซึง หรืออาจจะใช้บรรเลงเดี่ยวคนเดียว เวลาไปเกี้ยวสาวก็เคยมีคนนำไปเป่าเหมือนกัน แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีการนำไปประสมในวงประเภทอื่นๆ โดยปกติเมื่อมีการบรรเลงร่วมกันเป็นวง ก็จะนิยมใช้ขลุ่ยเมืองเป็นตัวเทียบเสียงเครื่องดนตรีในวงนั้นๆ ด้วย