ระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สันนิษฐานว่าพัฒนาการมาจากการนำไม้กรับ หรือ หินที่มีขนาดต่างกันนำมาวางเรียงแล้ว กระทบ เคาะ ตี ให้เกิดเสียง จนกระทั่งมีการพัฒนาสร้างกล่องขึ้นรองรับเพื่อให้เกิดเสียงที่กังวานไพเราะยิ่งขึ้น
         ระนาดเอกของไทยนั้นมีบทบาทสำคัญเป็นผู้นำวงในวงดนตรีประเภทต่างๆ เช่น ปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ปี่พาทย์นางหงส์ มโหรี แม้กระทั่งวงดนตรีร่วมสมัยก็มักจะนำระนาดเข้าไปร่วมบรรเลงอย่างแพร่หลาย
         ระนาดเอกมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
         1.ผืนระนาด ในอดีตนิยมใช้ไม้ไผ่บง นำมาผ่าซีก เรียกว่าการเกียกไม้ แล้วนำไปแช่น้ำเพื่อเป็นการปรับความชื้นของเนื้อไม้และเป็นการป้องกันมอดปลวกเป็นเวลาหลายเดือน แล้วจึงนำมาอบแห้ง ซึ่งเรียกว่า การคาไฟ จนกระทั่งแห้งสนิทแล้วจึงนำมาเหลาขึ้นรูปให้ได้ขนาดยาวสั้นตามต้องการ เจาะรูร้อยเชือก แล้วเทียบเสียงโดยการใช้ผงตะกั่วผสมขี้ผึ้งบริสุทธิ์จนได้ที่หลอมปั้นเป็นลูกกลม ติดแต่งบริเวณหัวละท้ายของลูกระนาดเพื่อให้ได้ระดับเสียงตามต้องการ
         ผืนระนาดเอกในอดีตนั้นจะมีลูกระนาดจำนวน 21 ลูก แต่ในปัจจุบันนิยมเพิ่มเป็น 22 ลูก เพื่อความสะดวกในการบบรรเลง ทั้งยังนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ เช่น พยุง ชิงชัน ประดู่ มาเหลาทำผืนระนาดแทนไม้ไผ่บงอีกด้วย
         2.รางระนาด รางระนาดเอกนั้นจะมีรูปร่างคล้ายเรือ ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ที่มุมทั้งสองข้างมีแผ่นไม้ปิดหัวท้าย เรียกว่าโขน ซึ่งมีตะขอเล็กๆ ทำหน้าที่เกี่ยวเชือกร้อยผืนระนาดให้ลอยได้ระดับอยู่เหนือราง ด้านล่างตรงกลางรางมีชิ้นไม้วางรอง เรียกว่า เท้าระนาด
         3.ไม้ระนาด ไม้ระนาดเอกมี 2 ชนิด คือ
         3.1 ไม้นวม ก้านไม้ทำจากไม้ไผ่แก่จัดเหลายาว ตอนปลายเว้นไว้เป็นปุ่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เพื่อเป็นตัวยึดหัวไม้ จากนั้นนำผ้าดิบตัดให้เป็นเส้นยาวได้ขนาดพอเหมาะ นำมาหมุนพันรอบปุ่มไม่นั้น เมื่อได้ขนาดพอเหมาะจึงทาแป้งเปียก สักด้ายทับเพื่อความแข็งแรง แล้วจึงพันผ้าดิบรอบด้านของหัวไม้อีกครั้ง
         3.2 ไม้แข็ง มีกรรมวิธีคล้ายกับการทำไม้นวม เพียงแต่จะนำไม้ระนาดที่สักด้าย ติดผ้าเรียบร้อยแล้วไปชุบยางรัก เพื่อให้เกิดความแข็ง แล้วจึงปิดผ้าดิบทับด้านข้างของหัวไม้อีกชั้นหนึ่ง
         ในปัจจุบันมีผู้ประยุกต์ใช้วัสดุสังเคราะห์อื่นๆมาแทนยางรัก เช่น หินอ่อน พลาสติค เป็นต้น