ระนาดเอกไม้ ได้เข้ามาประสมวงร่วมกับวงมโหรีเครื่องหกเดิม (กระจับปี่ ซอสามสาย ทับ รำมะนา ขลุ่ย คนขับลำนำ) ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บ้างก็เรียกวงดนตรีที่เกิดขึ้นใหม่ในครั้งนั้นว่า วงมโหรีเครื่องแปด ซึ่งในภายหลังได้มีการดัดแปลงขนาดของระนาดที่นำมาร่วมบรรเลงให้เล็กลง เพื่อความเหมาะสม ทั้งยังสร้างรูปแบบของการบรรเลงระนาดเอกมโหรีขึ้นเป็นทางเฉพาะแตกต่างจากระนาดเอกปี่พาทย์อย่างชัดเจน
         รางระนาดเอกมโหรีนั้นมีรูปร่างเหมือนรางระนาดเอกของวงปี่พาทย์ทุกประการเพียงแต่มีขนาดที่เล็กกว่า เพื่อให้เหมาะสมกับการบรรเลงของนักดนตรีที่เป็นผู้หญิง อีกทั้งไม่ทำให้เกิดเสียงที่ดังจนเกินไปเมื่อนำมาประสมเข้ากับวงเครื่องสาย โดยเทียบเสียงใหม่ให้ลูกทวน (เสียงต่ำสุด) สูงกว่าเสียงระนาดเอกในวงปี่พาทย์ 2 เสียง เทียบได้กับเสียง ที แล้วไล่เรียงไปจนถึงลูกยอด (เสียงสูงสุด) เท่ากับเสียง ลา (จำนวนลูกระนาด 21 ลูก) หรือเสียง ที (จำนวนลูกระนาด 22 ลูก)