ฆ้องเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะผสม มีปุ่มกลมตรงกลาง และมีฐานแผ่ออกไปโดยรอบ หักงุ้มออกไปเป็นขอบคนละด้านกับปุ่มที่โป่งออกมา ขอบที่หักงุ้มออกมานั้นเรียกว่า ฉัตร และที่ขอบฉัตรจะเจาะรู 2 รู ไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือ หรือห้อยไว้กับราว เวลาตีใช้ไม้ตีตรงปุ่มกลางฆ้องให้เกิดเสียงดังกังวาน ที่หัวไม้ตีมีการพันด้วยผ้า หุ้มและถักหรือรัดด้วยด้ายให้แน่น ไม้ตีมีขนาดแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการใช้งาน สำหรับโลหะที่ใช้หล่อก็มีความหนาบางไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของฆ้องแต่ละใบเช่นกัน
ฆ้องที่เราพบเห็นในการประสมวงกลองประเภทต่างๆ ทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ใบ คือ ฆ้องอุ้ย (ใบใหญ่) ฆ้องโหย้งหรือฆ้องโมง (ใบเล็ก) ซึ่งมักบรรเลงหยอกล้อคู่กับฉาบเสมอ โดยฆ้องมีหน้าที่ตีจังหวะยืนพื้นกำกับจังหวะ โดยมีฉาบตีสอดสลับ หลอกล่อ ล้อทางเสียงกันไปมาตามจังหวะของวงประเภทนั้นๆ
ปัจจุบันได้มีการเพิ่มจำนวนฆ้องขนาดใหญ่และเล็กลดหลั่นกันลงไปในการประสมวง ตั้งแต่ 2-9 ใบ โดยจะตีพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้เสียงที่ดังกระหึ่ม เช่น วงกลองมองเซิง วงกลองก้นยาว เป็นต้น โดยฆ้องที่ใช้ตีประกอบนั้นจะมีระดับเสียง เช่น ฆ้องอูย หากเทียบเป็นเสียงสากลเป็นเสียง โดต่ำ ลูกถัดมาจะเป็นเป็นเสียง ซอล ลูกถัดมาอีกเป็นเลียง โดสูง สลับกันไปอย่างนี้จนถึงฆ้องลูกเล็กสุด ประสานกันเป็นคู่ 5 หรือบางครั้งอาจจะเป็นคอร์ดเสียงอย่างสากลก็มี
ฆ้อง(ทั่วไป)
เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะผสม มีอยู่มากมายหลายแบบหลายขนาด ใช้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย มีทั้งที่ใช้บรรเลงเพียงใบเดียว เพื่อการตีคุมจังหวะหรือใช้ในพิธีกรรม หรือบรรเลงเป็นคู่สองใบ เช่น ฆ้องคู่ หรือจัดเป็นชุด 3-7 ใบ เช่น ฆ้องหุ่ย หรือจัดเรียงเสียงไว้เป็นชุดหลายใบเพื่อตีให้เกิดเสียงดำเนินทำนองเพลง เช่น ฆ้องวง ฆ้องมอญ เป็นต้น
ฆ้องส่วนใหญ่ เป็นโลหะประเภททองเหลือง รูปทรงกลม มักมีปุ่มกลาง ถ้าขึ้นรูปเป็นฆ้องด้วยการหล่อโลหะร้อนๆ เทลงในพิมพ์ (หิน) เรียกว่า ฆ้องลงหิน ซึ่งอาจจะแต่งด้วยการขูดภายในให้เป็นรูปและเป็นเสียงตามต้องการ ถ้าขึ้นรูปจากโลหะทรงกลมด้วยการเผาให้ร้อนแล้วค่อยๆ ตีให้แผ่ออกไปโดยรอบ เรียกว่า ฆ้องตี ส่วนมากจะมาจากภาคเหนือตามชายแดนไทย-พม่า