กลองมองเซิงเป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือ ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้า มีสายหนังโยงเร่งเสียง รูปร่างคล้ายตะโพนมอญ ไม่มีขาตั้งแต่มีสายร้อยสำหรับคล้องคอเวลาตี หน้ากลองด้านเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 33-35 ซม. ส่วนด้านใหญ่กว้างประมาณ 37-40 ซม. ความยาวของหุ่นกลองประมาณ 53-55 ซม. เวลาตีไม่ต้องติดจ่ากลอง
         “มอง” เป็นภาษาถิ่นของชาวไตหรือไทใหญ่ แปลว่า ฆ้อง ส่วนคำว่า เซิง แปลว่า ชุด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กลองมองเซิง คือ กลองที่ตีประกอบการตีฆ้องหลายๆ ใบ โดยเน้นเสียงฆ้องเป็นหลัก (1 ชุด มีตั้งแต่ 5-9 ใบ) ทั้งยังมีการฟ้อนประกอบอีกด้วย
         วงกลองมองเซิง จะประกอบไปด้วยกลองมองเซิง 1 ลูก ฉาบใหญ่ 1 คู่ ฆ้องขนาดใหญ่และเล็กลดหลั่นกันลง ไป โดยฆ้องที่ใช้ตีประกอบนั้นจะมีระดับเสียงไล่เรียงต่างกัน หากเทียบเป็นเสียงสากล คือ ฆ้องอูย (ฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด) เป็นเสียง โดต่ำ ถัดมาเป็นเสียง ซอล ถัดมาอีกเป็นเลียง โดสูง สลับกันไปอย่างนี้จนถึงฆ้องลูกเล็กสุด ประสานกันเป็นคู่ 5
         ปกติแล้วกลองมองเซิงจะตีสลับรับทำนองกับฉาบใหญ่ เย้าหยอก หลอกล่อกันไป บางครั้งอาจจะมีการพูดหรือร้องสลับไปด้วยก็ได้ ในขณะที่มีเสียงฆ้องเป็นตัวกำกับจังหวะในบางแห่งอาจเพิ่ม ฉิ่ง ตีกำกับจังหวะร่วมไปกับฆ้องด้วยเพื่อให้จังหวะกระชับขึ้น
         นอกจากนี้ยังมีกลองมองเซิงอีกอย่างหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าเรียกว่า กลองมองลาว นิยมใช้แห่ในขบวน ที่ต้องเดินระยะไกลๆ มีฆ้องชุดตีประกอบ เช่นเดียวกับกลองมองเซิง