กลองแขก หรือ กลองคู่เป็นกลองขึงหนังสองหน้า มี 2 ใบ รวมเป็นหนึ่งคู่ ใบที่เสียงสูงกว่าเรียกว่า กลองแขกตัวผู้ ใบที่เสียงต่ำกว่าเรียกว่า กลองแขกตัวเมีย
         สันนิษฐานว่าได้รับมาจากชวา เดิมมีบทบาทบรรเลงร่วมกับ “ปี่ชวา” บรรเลงร่วมกันเป็นหมู่ เรียกว่า “วงปี่ชวากลองแขก” ใช้ในกระบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนิน เช่นกระบวนพหุยาตราในโอกาสต่างๆทั้งทางบกและทางน้ำ ในการประกอบการรำอาวุธกระบี่กระบอง ต่อยมวย หรือแม้กระทั่งวงบัวลอย และปี่พาทย์นางหงส์ที่ใช้ประโคมศพ
         กลองแขกมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ
         1.หุ่นกลอง ทำจากไม้จริง หรือไม้เนื้อแข็ง เพื่อคุณภาพเสียง ความสวยงาม และน้ำหนักที่เหมาะสม ไม้ที่นิยมนำมาทำหุ่นกลองแขก เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้กระพี้เขาควายเป็นต้น
         หุ่นกลองแขกนั้นจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก หน้ากลองทั้งสองด้านใหญ่ไม่เท่ากัน หน้าใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” หน้าเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” ภายในหุ่นกลองขุดกลวงทะลุเพื่อเป็นกล่องเสียง
         2.หนังเรียด ในอดีตทำจากหวายผ่าซีก ในปัจจุบันนิยมใช้หนัง โค กระบือ ทำหน้าที่ผูกโยงหนังหน้ากลองทั้งสองด้านให้เกิดแรงดึงหน้ากลองทั้งสองด้านให้ตึง และสามารถสาวเร่งเสียงให้เกิดเสียง สูง – ต่ำ ตามที่ต้องการ
         เมื่อสาวหนังเรียดโยงหน้ากลองทั้งสองแล้ว จะมีหนังเรียดอีกหนึ่งเส้นที่ทำหน้าที่รวบหนังเรียดให้เป็นระเบียบ ซึ่งเรียกหนังเรียดเส้นนั้นว่า “รัดอก”
         3.หน้ากลอง ทำจากหนังแพะ หรือหนังลูกวัว ผ่านกระบวนการแปรสภาพ เช่น ขูดไขมัน ตาก นวด (ยำกลอง) เป็นต้น จนได้ที่จึงนำมาขึงพาดยึดติดกับหุ่นกลองด้วยหนังเรียด
         กลองแขกนั้น จะต้องบรรเลงเป็นคู่ จึงต้องใช้ผู้บรรเลง 2 คน วางกลองบนตัก ใช้มือตีสลับรับกันตามรูปแบบเฉพาะของจังหวะเพลงซึ่งเรียกว่า “หน้าทับ” ในปัจจุบันนิยมใช้กลองแขกในวงปี่พาทย์แทน ตะโพน และกลองสองหน้า