ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเลียนแบบระนาดเอก แต่ให้มีเสียงที่ทุ้มต่ำและประดิษฐ์วิธีการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากระนาดเอก คือ ให้มีลีลาโลดโผน สนุกสนาน สอดคล้อง หยอกล้อ กับระนาดเอก
         ระนาดทุ้มมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
         1.ผืนระนาด นิยมใช้ไม้ไผ่บง นำมาผ่าซีก เรียกว่าการเกียกไม้ แล้วนำไปแช่น้ำเพื่อเป็นการปรับความชื้นของเนื้อไม้และเป็นการป้องกันมอดปลวกเป็นเวลาหลายเดือน แล้วจึงนำมาอบแห้ง ซึ่งเรียกว่า การคาไฟ จนกระทั่งแห้งสนิทแล้วจึงนำมาเหลาขึ้นรูปให้ได้ขนาดยาวสั้นตามต้องการ เจาะรูร้อยเชือก เทียบเสียงโดยการใช้ผงตะกั่วผสมขี้ผึ้งบริสุทธิ์จนได้ที่หลอมปั้นเป็นลูกกลม ติดแต่งบริเวณหัวละท้ายของลูกระนาดเพื่อให้ได้ระดับเสียงตามต้องการ ผืนระนาดทุ้มนั้นจะมีลูกระนาดจำนวน 17-18 ลูก
         ลูกเสียงต่ำสุด มีความยาวประมาณ 42 ซม. กว้าง 6 ซม. ลูกเสียงสูงสุด มีความยาวประมาณ 35 ซม. กว้างประมาณ 5 ซม.
         2.รางระนาด รางระนาดทุ้มนั้นจะมีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ที่มุมทั้งสองข้างมีแผ่นไม้ปิดหัวท้าย เรียกว่าโขน ซึ่งมีตะขอเล็กๆ ทำหน้าที่เกี่ยวเชือกร้อยผืนระนาดให้ลอยได้ระดับอยู่เหนือราง ด้านล่างทั้งสี่มุมจะมีชิ้นไม้เล็กๆวางรอง เรียกว่า เท้าระนาด
         3.ไม้ระนาดทุ้ม ก้านไม้ทำจากไม้ไผ่แก่จัดเหลายาว ตอนปลายเว้นไว้เป็นปุ่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เพื่อเป็นตัวยึดหัวไม้ จากนั้นนำผ้าดิบตัดให้เป็นเส้นยาวได้ขนาดพอเหมาะ นำมาหมุนพันรอบปุ่มไม่นั้น เมื่อได้ขนาดที่ต้องการแล้วจึงทาแป้งเปียก สักด้าย (พันด้าย) ทับเพื่อความแข็งแรงทนทานและสวยงาม แล้วจึงพันผ้าดิบรอบด้านของหัวไม้อีกครั้ง ไม้ของระนาดทุ้มนั้นจะมีความนุ่ม และขนาดของปื้นไม้ที่ใหญ่กว่าไม้นวมของระนาดเอก