ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่คิดสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบระนาดเอก ลูกระนาดทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับระนาดเอก แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้างและยาวกว่า และประดิษฐ์รางให้มีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้ เว้ากลางเป็นทางโค้ง มี “โขน” ปิดทางด้านหัวและด้านท้าย วัดจากปลายโขนทางหนึ่งไปยังอีกทางหนึ่งยาวประมาณ 125 ซม. ปากรางกว้างประมาณ 22 ซม. มีเท้าเตี้ยๆ รอง 4 มุมราง บางทีเท้าทั้ง 4 นั้น ทำเป็นลูกล้อติดให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม. กว้าง 6 ซม. ลูกต่อมามีขนาดลดหลั่นลงเล็กน้อย และลูกยอดมีขนาดยาว 34 ซม. กว้าง 5 ซม. ไม้ตีถูกประดิษฐ์แตกต่างกันออกไป เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก จึงบัญญัติชื่อระนาดชนิดนี้ว่า “ระนาดทุ้ม”
         ระนาดทุ้มรางทอง ลักษณะเหมือนระนาดทุ้ม แต่บริเวณตัวรางจะแกะสลัก ลงรักปิดทอง ปิดกระจกเพื่อความสวยงามให้เข้าชุดกับฆ้องมอญที่ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงเรียกรางระนาดแบบเก่าว่า “รางพล” และเรียกรางระนาดแบบนี้ว่า “รางทอง” หรือ “รางมอญ”