สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวคล้ายซออู้ของภาคกลาง กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่งแล้วใช้แผ่นไม้บางปิดแทนการขึ้นหนัง คันชักทำด้วยไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม. ใช้ขนหางม้าหรือเส้นเอ็นขนาดเล็กสำหรับขึ้นคันชัก เวลาสีคันชักจะแยกออกจากตัวสะล้อ สะล้อโดยทั่วไปจะมีเพียง 2 สาย ทำด้วยลวดโลหะ ลูกบิดมี 2 อัน เจาะรูเสียบทแยงไปในคันทวน ช่างทำสะล้อมีการแกะสลักลวดลายกะโหลกและคันทวนด้วย
จากหลักฐานพบว่าใน โคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า ธะล้อ โดยการสันนิษฐานชื่อที่ใช้เรียกเครื่องดนตรีนี้น่าจะมาจากภาษาขอม ว่า ทรอ ซึ่งทางภาคกลางอ่านว่า ซอ แต่ทางล้านนาแยกเสียงอ่านเป็นสองพยางค์ ทรอ–ทะลอ –ธะลอ –ธะล้อ –สะล้อ ในปัจจุบันสะล้อที่นิยมใช้อยู่มี 3 ขนาด คือ สะล้อหลวง สะล้อกลาง และสะล้อเล็ก ที่นิยมบรรเลงกันอย่างแพร่หลายคือ คือ สะล้อหลวง และสะล้อกลาง ส่วนสะล้อเล็กไม่ค่อยเป็นที่นิยม
สะล้อหลวง คันทวนยาวประมาณ 75-80 ซม. หน้าซอกว้างประมาณ 13-14 ซม. ลีลาในการบรรเลงไม่ค่อยมีลูกเล่นมากนัก มีลักษณะการไล่เสียงเหมือนกับสะล้อเล็ก แต่เสียงจะทุ้มต่ำกว่า โดยตั้งเสียงแบบลูกสี่ หากเทียบเป็นเสียงสากลคือ สายทุ้มเป็นเสียง ซอล สายเอกเป็นเสียง โดสูง
สะล้อกลาง คันทวนยาวประมาณ 70-75 ซม. หน้าซอกว้างประมาณ 12 ซม. ลีลาในการบรรเลงจะสอดรับกันระหว่างสะล้อหลวง และสะล้อเล็ก ในวงสะล้อซึงทั่วไปนิยมให้สะล้อกลางเป็นตัวขึ้นเพลง และนำเพลง โดยตั้งเสียงแบบลูกสาม หากเทียบเป็นเสียงสากลคือ สายทุ้มเป็นเสียง โดต่ำ สายเอกเป็นเสียง ซอล
สะล้อเล็ก คันทวนยาวประมาณ 65-70 ซม. หน้าซอกว้างประมาณ 10 ซม. ลีลาในการบรรเลงค่อนข้างโลดโผน มีเสียงแหลมเล็ก สอดรับกับเสียงสะล้อกลาง โดยตั้งเสียงแบบลูกสี่ หากเทียบเป็นเสียงสากลคือ สายทุ้มเป็นเสียง ซอล สายเอกเป็นเสียง โดสูง
โดยทั่วไปนิยมบรรเลงร่วมกับซึงเรียกว่า วงสะล้อซึง ซึ่งเป็นวงที่มีเสียงจากเครื่องสายเป็นหลัก นิยมใช้เล่นกันตามท้องถิ่นภาคเหนือทั่วไป จำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงนั้นไม่แน่นอน แต่จะมีสะล้อและซึงเป็นหลักเสมอ นอกจากนั้นจะมีเครื่องดนตรีอื่นๆเข้ามาประกอบ เช่น ปี่ก้อย หรือ ขลุ่ย กลองป่งโป๊ง ฉิ่ง ฉาบ นิยมใช้บรรเลงเพลงพื้นบ้านที่ไม่มีการขับร้อง เช่น เพลงประสาทไหว ล่องแม่ปิง เป็นต้น หรือจะบรรเลงเพลงที่มีการขับร้องก็ได้ ในปัจจุบันสามารถใช้บรรเลงเพลงสมัยใหม่ เช่น เพลงลูกทุ่ง ได้อีกด้วย