บัณเฑาะว์เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ที่ได้รับมาจากอินเดีย ลักษณะเป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน 16 ซม. หน้ากลองทั้งสองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 ซม หุ่นกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งลักษณะคอดกลาง (เอวคอด) เหมือนนาฬิกาทราย
         หน้ากลองทั้งสองด้านขึงตึงด้วยเชือกหนัง ดึงรั้งเข้าหากันแล้วผูกเป็นรัดอกไว้กับส่วนที่คอดตรงกลางของตัวกลอง ตรงส่วนที่คอดกลางหรือรัดอกนั้น มีไม้รูปร่างคล้ายเจดีย์ ฐานกลม ยอดแหลม เรียกว่า ไม้หัวเม็ดทรงมัณฑ์ยึดติดกับหุ่นกลอง ที่ยอดสุดของทรงเจดีย์นั้นร้อยเชือกผูกกับปลายเสานั้น อีกปลายผูกติดกับไม้หรือลูกแก้วทรงกลม ซึ่งทำหน้าที่ตีหกกระทบกับหน้ากลอง สลับกัน ซ้ายที ขวาที เกิดเสียง ปง-ปัง.....ปง-ปัง เป็นจังหวะเคล้าไปกับเสียงซอสามสายและ เสียงขับร้อง
         การตีบัณเฑาะว์ ไม่ได้ใช้มือหรือนิ้วตีให้เกิดเสียง แต่ต้องวางส่วนที่คอดของหุ่นบัณเฑาะว์ ลงในอุ้งมือแล้วใช้นิ้วช่วยประคองไว้ ชุดหนึ่งจึงมีบัณเฑาะว์สำหรับมือขวาและมือซ้าย รวมเป็นสอง ใช้วิธีไกวพร้อมกันทั้งสองข้าง โดยยื่นมือทั้งสองออกไปข้างหน้า เสมอระดับอก เคลื่อนมือทั้งสองข้างให้เป็คู่ขนานกันไปในท่าไกว ไปซ้ายแล้วย้ายมาขวา เวียนคล้ายเลข 8 (อารบิก) ตามแนวนอนขนานกับพื้น ให้ตุ้มที่ผูกปลายเชือกนั้นกระทบกับหน้ากลองเป็นจังหวะ ผู้ที่มีความชำนาญจะไกวบัณเฑาะว์พร้อมกันทั้งสองมือ จะได้ยินเสียงที่ลูกตุ้มทั้งสองข้างกระทบหน้ากลองพร้อมกันอย่างไพเราะ ในบางครั้งอาจใช้ไกวเพียงใบเดียวก็ไม่ผิด แต่ไม่สมบูรณ์เท่ากับการไกวทั้งสองมือพร้อมกัน 2 ใบ
         บัณเฑาะว์ที่ไทยใช้เดิมเป็นของพราหมณ์ที่ใช้ในพิธีกรรม ต้องฝึกหัดมากกว่าจะไกวได้งดงามและไพเราะ ที่นำมาใช้ในเรื่องดนตรีของไทยก็มีเพียงการใช้ในวงขับไม้เท่านั้น เพลงที่นิยมใช้คือ เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เพลงกล่อมพระบรรทม ช้าลูกหลวง เพลงกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรและสมโภชช้างเผือก คือเพลงกล่อมช้างเท่านั้น