ระนาดแก้ว เป็นเครื่องดนตรีที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน มีหลักฐานปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องมโหรีปี่พาทย์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ มีความตอนหนึ่งว่า
         เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้เพิ่มเครื่องมโหรีขึ้นแต่ทำขนาดย่อมลง ให้สมกับผู้หญิงเล่น เติมระนาดไม้ กับ ระนาดแก้ว อีกสองอย่าง มโหรีวงหนึ่งเป็น 8 คน มาในสมัยรัชกาลที่ 2 เลิกระนาดแก้วเสีย ใช้ฆ้องวงแทน
          ตัวรางของระนาดแก้วทำจากไม้เนื้อแข็งประกอบกันเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในกลวงขึงเชือกที่ร้อยแผ่นแก้วกระจกใสหล่อขึ้นรูป จำนวน 16 -17 ลูก โดยเรียงจากลูกใหญ่ที่สุดทางซ้ายมือที่มีเสียงต่ำลดหลั่นกันไปทางด้านขวามือ ที่มีเสียงสูงเช่นเดียวกับระนาดไม้
         ไม้ตีระนาดแก้ว ทำจากก้านไม้ไผ่แก่จัด เหลาให้ตอนปลายงองุ้มลงเล็กน้อย บริเวณหัวไม้ใช้ไม้ที่มีคุณสมบัติที่เบาเช่นไม้ก๊อกติดไว้เพื่อใช้ตีลงบนแผ่นกระจก
         ปัจจุบันสามารถหาชมระนาดแก้วได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร