หนังสือพุทธจริยา สำหรับนักเรียนประโยค ๑ ชั้น ๓ เป็นหนังสือให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กนักเรียนประโยค ๑ ชั้น ๓ แต่งโดยหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) ปลัดกรมศึกษาธิการสมัยนั้น พิมพ์โดยรับสั่งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นทางพระพุทธศาสนา ปลูกฝังจริยธรรมสำหรับเด็ก และให้เด็กมีความรักและบำรุงพระศาสนา
ชื่อของหนังสือ พุทธจริยา มาจาก พุทธจริยา ๓ คือการทรงบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า ๓ ด้าน ได้แก่
โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ได้แก่การชี้ทางพ้นทุกข์
ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ เช่นการเสด็จไปโปรด
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์ตามหน้าที่ที่เป็นพระพุทธเจ้า เช่น การแสดงธรรม การสนทนาธรรม การบัญญัติพระวินัย ฯลฯ
เนื้อหาของหนังสือ พุทธจริยา ประกอบด้วยพุทธประวัติโดยสังเขป ประวัติอนุพุทธะ หรือพระอรหันต์สาวก พระสงฆ์ในสมัยนั้น และที่สำคัญเนื้อหาที่กล่าวถึงหัวข้อธรรมะที่เข้าใจง่ายๆ สำหรับเยาวชน รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ของศาสนา เช่น วัดวาอาราม การฟังเทศน์ การฟังธรรมที่ปรับให้เข้ากับกาลสมัยและรูปแบบของไทย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงพระสูตร บทสวดมนต์ที่เป็นที่นิยมตามโบราณประเพณี
เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว ได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ (กรมศึกษาธิการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งเป็น กระทรวงธรรมการ และเป็น กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เด็กไทยได้รู้จักพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาช้านาน จึงรับสั่งให้ปลัดกรมศึกษาธิการสมัยนั้นคือ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) ซึ่งต่อมาเป็นพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) จัดพิมพ์หนังสือ พุทธจริยา สำหรับนักเรียนขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาโดยสังเขป ภายในเล่มมีการสอดแทรกภาพประกอบเพื่อดึงดูดให้เด็กเกิดความสนใจและจดจำเรื่องได้ง่าย
เนื้อหาของหนังสือพุทธจริยา สำหรับนักเรียนประโยค ๑ ชั้น ๓ นั้น ประกอบไปด้วย
๑. พุทธประวัติ พุทธกิจ พุทธจริยา ๓ พระพุทธคุณ ๓ พระพุทธคุณ ๙
๒. ความสำคัญของการบวชในพระพุทธศาสนา
๓. พระนิพพาน และพระอมตธรรม
๔. ประวัติพระอรหันตสาวก (อนุพุทธะ) พระอัครสาวก
๕. พระอริยสงฆ์
๖. พระสงฒ์ในปัจจุบัน / เปรียญ / บาลี
๗. วัดวาอาราม / คุณสมบัติวัดเสมา / วัดเบญจมพิตร สมัยการเฉลิมฉลองในสมัยนั้น
๘. ประวัติการสร้างวัดเวฬุวนาราม / เชตวันวิหาร / อานิสงส์การถวายวิหาร
๙. หนังสือพระไตรปิฎกและประวัติการสังคายนา
๑๐. การบวช / บวชนาค / บวชพระ / บวชเณร
๑๑. พระธรรมกถึก / องค์คุณของครู
๑๒. การเทศน์
๑๓. อานิสงส์การฟังธรรม / สุ.จิ.ปุ.ลิ
๑๔. นวังคสัตถุศาสนา
๑๕. ธุระในพระพุทธศาสนา
๑๖. พระธาตุ
๑๗. สังเวชนียสถาน
๑๘. มาร ๕
๑๙. เทศน์มหาธาตุ / พระเวสสันดรชาดก
๒๐. เทศน์มิลินทร์ / มิลินทปัญหา
๒๑. มาลัยสูตร
๒๒. พระสูตร / คาถาธรรมบท และพระคาถาต่างๆ
๒๓. กษัตริย์ชมพูทวีปองค์อุปถัมภกการสังคายนา
๒๔. หนังสือประกอบในพุทธจริยา
๑) พระราชพงษาวดาร เล่ม ๑ เล่ม ๒
๒) หนังสือพิมพ์วชิรญาณ เรื่องโบราณศึกษา
๓) หนังสือพระประถมสมโพธิ์ พิมพ์ ปี ร.ศ. ๑๑๔
๒๕. หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา มุ่งประโยชน์ ๓ ขั้น คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ
๑. มนุษย์สมบัติ
คือการมุ่งหมายประโยชน์ในชาติปัจจุบันให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันได้แก่ การมีรูปกายภายนอกที่น่ามอง มีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง บริวาร สติปัญญา สุขภาพที่แข็งแรง และอายุที่ยืนยาว
๒. สวรรค์สมบัติ
คือการมุ่งหมายประโยชน์ในชาติหน้า ด้วยการดำเนินชีวิตในชาตินี้ในทางที่ประเสริฐ ชีวิตในชาติต่อไปจะได้ไม่ตกต่ำลง
๓. นิพพานสมบัติ
เป็นจุดมุ่งหมายที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา อันเป็นการชี้หนทางสภาวะความเป็นจริงของมนุษย์ที่เวียนว่ายตายเกิดด้วยกิเลส กรรม และวิบากกรรม พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องเรียนรู้หนทางสู่นิพพานสมบัติซึ่งก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าได้จำแนกแจกแจงธรรมเป็นหมวดต่างๆ มากมาย ข้อธรรมเหล่านี้ได้จัดแบ่งเป็น ๒ หมวดใหญ่ๆ คือ
๑. หลักคำสอนเพื่อจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๒. หลักฆราวาสธรรม
หลักคำสอนเพื่อจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาซึ่งคือนิพพาน มีหลายประการ เช่น สติปัฏฐาน ๔, วิปัสสนากรรมฐาน, ไตรลักษณ์, ไตรสิกขา, อริยสัจ ๔, เบญจขันธ์, มรรคมีองค์ ๘, ปฏิจจสมุปบาท และวัฏฏะ ๓
สติปัฏฐาน หมายถึงฐานที่ตั้งของสติ หรือเป็นฐานที่รองรับการกำหนดของสติอย่างประเสริฐ ซึ่งเป็นทางสายเอกหรือทางสายเดียวในการดับทุกข์ อารมณ์ของสติปัฏฐานมีอยู่ ๔ หมวด คือ หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต และหมวดธรรม
หมวด ๑ หมวดกาย
หมายถึงการมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณากายอันเป็นรูปขันธ์ เช่น ลมหายใจเข้าออก และอิริยาบทต่างๆ เป็นต้น
หมวด ๒ หมวดเวทนา
หมายถึงการมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาเวทนา อันได้แก่ ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ และความรู้สึกไม่ได้พอใจหรือไม่ได้ไม่พอใจ
หมวด ๓ หมวดจิต
หมายถึงการมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาจิต อันได้แก่จิตที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ และไม่มีโมหะ เป็นต้น
หมวด ๔ หมวดธรรม
หมายถึงการมีสติตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณาสภาพธรรมที่มิใช่ตัวตน
ในการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ต้องวางใจให้เป็นกลาง ไม่มีความยินดียินร้าย กล่าวคือกำหนดเป็นเพียงผู้ดูรูปกายในอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถต้องเข้าใจด้วยความเป็นจริงว่า เปลี่ยนอิริยาบถเพียงเพื่อแก้ทุกข์ และมีทั้งสติและสัมปชัญญะ
คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน สามารถแยกศัพท์ออกเป็น วิปัสสนา และ กรรมฐาน
วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นรูปนามตามความเป็นจริงว่า รูปนามนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการกระทำ หรือที่ตั้งแห่งการปฏิบัติธรรม
ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็เพื่อให้พ้นจากทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย ทำให้เกิดปัญญาทำลายความสำคัญผิด ๔ ประการ คือ
๑. สำคัญผิดคิดว่าชีวิตมีความสวยงาม
๒. สำคัญผิดว่าชีวิตเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน
๓. สำคัญผิดคิดว่าชีวิตเป็นความสุข
๔. สำคัญผิดว่าชีวิตเป็นตัวตน
อารมณ์ของวิปัสสนา คือ นามและรูปที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจอารมณ์ของนามรูปที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ เพื่อนำไปปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔
อารมณ์ของวิปัสสนาทางทวารทั้ง ๖ ได้แก่
๑. ทางตา เมื่อภาพหรือสีต่างๆ กระทบกับประสาทตา จะเกิดความรู้ที่เห็นเรียกว่า จักษุวิญญาณ หากไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเกิดการปรุงแต่งไปสู่ใจว่ารูปสวยงามหรือน่าเกลียด เป็นต้น
๒. ทางหู เมื่อเสียงกระทบกับประสาทหู จะเกิดความรู้ที่ได้ยินเรียกว่า โสตวิญญาณ หากไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเกิดการปรุงแต่งไปสู่ใจว่าเสียงเพราะ หรือเสียงน่ารำคาญ เป็นต้น
๓. ทางจมูก เมื่อกลิ่นกระทบกับประสาทการได้กลิ่น จะเกิดความรู้ที่ได้กลิ่นเรียกว่า ฆานวิญญาณ หากไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเกิดการปรุงแต่งไปสู่ใจว่า กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เป็นต้น
๔. ทางลิ้น เมื่อรสกระทบกับประสาทในการลิ้มรส จะเกิดความรู้ที่ลิ้มรสเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ หากไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเกิดการปรุงแต่งไปสู่ใจว่า รสอร่อย หรือรสไม่อร่อย เป็นต้น
๕. ทางกายสัมผัส เมื่อ รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง กระทบกับประสาทกาย จะเกิดความรู้ทางกายสัมผัสเรียกว่า กายวิญญาณ หากไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเกิดการปรุงแต่งไปสู่ใจว่า สัมผัสที่ดี หรือสัมผัสที่ไม่ดี เป็นต้น
๖. ทางใจ เมื่ออารมณ์ภายนอกกระทบกับใจ จะเกิดความรู้ทางใจ เรียกว่า จิตวิญญาณ อารมณ์ที่กระทบทางใจ เกิดจากปัจจัยหลายทาง ทางหนึ่งคือ เกิดจากอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ได้รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อีกทางหนึ่งคือ เกิดขึ้นที่ใจเอง โดยอาศัยความนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอดีตและอนาคต หากมีการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะกำหนดรู้อารมณ์ที่เป็นไปในขณะปัจจุบัน สามารถตามรู้เท่าทันจิตที่ฟุ้งซ่าน
ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะสามัญอันเป็นกฎธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย มี ๓ อย่างคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาด้วยวิปัสสนาญาณก็จะทำลายอวิชชาและดับทุกข์ได้
ไตรลักษณ์เป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ ลักษณะของสรรพสิ่งที่มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับลงในทุกขณะ
๒. ทุกขลักษณะ ลักษณะของสรรพสิ่งที่มีการเบียดเบียนกันดับลง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
๓. อนัตตลักษณะ ลักษณะของสรรพสิ่งที่แสดงถึงความไม่ใช่ตัวตน สภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ คนทั่วไปมักมองไม่เห็นไตรลักษณ์ หรือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตานี้ แม้ว่าจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุม คือ
๑. สันตติ คือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังอนิจจลักษณะ
๒. อิริยาบถ คือความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังทุกขลักษณะ
๓. ฆนะสัญญา คือความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นหน่วยรวม ปิดบังอนัตตลักษณะ ทำให้เข้าใจผิดสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน
คำว่า ไตรสิกขา สามารถแยกออกเป็น ไตร และ สิกขา
ไตร หรือ ตรี แปลว่า ๓
สิกขา แปลว่า ข้อที่พึงศึกษาและปฏิบัติ
ไตรสิกขา จึงหมายถึง ข้อที่พึงศึกษาอย่างยิ่ง ๓ ประการ ได้แก่
ศีล คือ ความสะอาดทางกาย วาจา ได้แก่ เว้นกายทุจริต 3 และวจีทุจริต ๔
สมาธิ คือ ความสงบ คือการเจริญสมาธิ เจริญจิตภาวนา ทำจิตให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว
ปัญญา คือความสว่าง คือ เกิดความรู้ (วิชชา) พ้นจากกิเลสคือ อวิชชา (ความไม่รู้) พ้นจากราคะ / โลภะ / โทสะ และโมหะ นำไปสู่การรู้แจ้งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ข้อ ที่ทำให้เข้าถึงความเป็นอริยะ ได้แก่
๑. ทุกข์ อันได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร้องไห้ร่ำไรรำพัน ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ การพบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
๒. สมุทัย คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ซึ่งคือความอยากได้ อยากเป็น ไม่อยากเป็น
๓. นิโรธ คือ ธรรมที่เป็นความดับทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน
๔. มรรค คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ เห็นแจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
กิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔
๑. ทุกขสัจจะ เป็นกิจที่ควรกำหนดรู้
๒. สมุทัยสัจจะ เป็นกิจที่ควรละ
๓. นิโรธสัจจะ เป็นกิจที่ควรทำให้แจ้ง
๔. มัคคสัจจะ เป็นกิจที่ควรเจริญ
ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ หมายถึง สภาวะความเป็นจริงของธรรมชาติที่เป็นกองๆ มาประกอบรวมกันเข้าเป็นชีวิต แยกออกได้ ๕ กอง ได้แก่
๑. รูป ได้แก่ ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของร่างกาย
๒. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์
๓. สัญญา ได้แก่ ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย ความกำหนดได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ
๔. สังขาร ได้แก่ ส่วนที่เป็นความปรุงแต่งของจิตให้ดี หรือชั่ว หรือเป็นกลาง เช่น เมตตา กรุณา โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
๕. วิญญาณ ได้แก่ ส่วนที่เป็นความรับรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้สัมผัสทางใจ
มรรคมีองค์ ๘ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย
๑. สัมมาทิฏฐิ การทำความเห็นให้ถูกต้อง
๒. สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ ความคิดถูกต้อง หรือความตรึกตรองไปในทางที่ดี ได้แก่ คิดไม่เบียดเบียนผู้อื่น คิดไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และคิดออกจากกาม
๓. สัมมาวาจา การเจรจาหรือวาจาชอบ อันหมายถึง การสำรวมระวังในการพูด กล่าวคือ
(๑) ไม่พูดคำเท็จ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
(๒) ไม่พูดส่อเสียด
(๓) ไม่พูดคำหยาบ
(๔) ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดจาเหลวไหลไร้สาระประโยชน์
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หรือการกระทำที่ชอบ หมายถึง การประพฤติชอบทางกายที่เรียกว่า กายสุจริต ๓ อย่างคือ
(๑) เว้นจากการฆ่า ทำร้าย หรือทรมานร่างกายผู้อื่น สัตว์อื่น ให้ลำบาก
(๒) เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
(๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง การเลี้ยงชีพโดยสุจริต เว้นอาชีพต่อไปนี้
(๑) ค้าขายเครื่องประหาร เช่น ระเบิด อาวุธต่างๆ ที่ใช้ทำร้ายซึ่งกันและกัน
(๒) ค้าขายมนุษย์เพื่อไปเป็นทาสรับใช้ผู้อื่น หรือหลอกลวงหญิงสาวไปขายเพื่อให้เป็นโสเภณี เป็นต้น
(๓) การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เพื่อฆ่าแล้วนำเนื้อไปขาย
(๔) ค้าขายสุราน้ำเมาและยาเสพติดทุกชนิด
(๕) ค้าขายยาพิษ หรือสารพิษต่างๆ ที่ทำลายมนุษย์และสัตว์
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร หมายถึงความเพียร ๔ อย่าง คือ
(๑) เพียรระวัง มิให้ความชั่วที่เป็นบาปอกุศล เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นในสันดานแห่งตน
(๒) เพียรละ ความชั่วร้ายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วให้หมดสิ้นไป
(๓) เพียรสร้าง ความดีที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น
(๔) เพียรรักษา กุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนไพบูลย์
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ หมายถึง ความระลึกชอบตามแนวสติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ หรือสมาธิชอบ คือ สมาธิที่เป็นไปกับสัมมาทิฏฐิ
สรุปอริยมรรครวมลงในสิกขา ๓
อริยมรรค |
ไตรสิกขา |
๑. สัมมาทิฏฐิ |
ทั้ง ๒ ข้อนี้ รวมลงใน ปัญญา |
๒. สัมมาสังกัปปะ |
|
๓. สัมมาวาจา |
ทั้ง ๓ ข้อนี้ รวมลงใน ศีล |
๔. สัมมากัมมันตะ |
|
๕. สัมมาอาชีวะ |
|
๖. สัมมาวายามะ |
ทั้ง ๓ ข้อนี้ รวมลงใน สมาธิ |
๗. สัมมาสติ |
|
๘. สัมมาสมาธิ |
ปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ภาวะของสิ่งที่เป็นปัจจัยและเป็นผลซึ่งกันและกัน คือ สิ่งหนึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็เป็นผลจากอีกสิ่งหนึ่งเช่นกัน จึงมีภาวะที่เป็นทั้งต้นเหตุและผลในตัวเดียวกัน ก่อเป็นห่วงโซ่ที่หมุนเวียนต่อเนื่องกันไม่รู้จบ อันเป็นเหตุปัจจัยไปสู่ชาติ ชรา มรณะ
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่ลึกซึ้งมาก เพราะกล่าวถึงความเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างสมบูรณ์ที่สุด การที่สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท ส่วนผู้ที่รู้จัก มีความเข้าใจในการหมุนเวียนนี้จะทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้
องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทแยกเป็นสายเกิดและสายดับ
การเกิดขึ้นขององค์แห่งปฏิจจสมุปบาท สืบต่อกันโดยความเป็นเหตุเป็นผลกันดังนี้
อวิชชา |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
สังขาร |
สังขาร |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
วิญญาณ |
วิญญาณ |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
นามรูป |
นามรูป |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
สฬายตนะ |
สฬายตนะ |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
ผัสสะ |
ผัสสะ |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
เวทนา |
เวทนา |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
ตัณหา |
ตัณหา |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
อุปาทาน |
อุปาทาน |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
ภพ (ภว) |
ภพ (ภว) |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
ชาติ |
ชาติ |
เป็นปัจจัยให้เกิด |
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส |
ความเกิดขึ้นของกองทุกข์ทั้งปวงนี้ มีด้วยประการฉะนี้
การดับลงขององค์แห่งปฏิจจสมุปบาท มีดังนี้
เพราะอวิชชาดับ |
สังขารจึงดับ |
เพราะสังขารดับ |
วิญญาณจึงดับ |
เพราะวิญญาณดับ |
นามรูปจึงดับ |
เพราะนามรูปดับ |
สฬายตนะจึงดับ |
เพราะสฬายตนะดับ |
ผัสสะจึงดับ |
เพราะผัสสะดับ |
เวทนาจึงดับ |
เพราะเวทนาดับ |
ตัณหาจึงดับ |
เพราะตัณหาดับ |
อุปาทานจึงดับ |
เพราะอุปาทานดับ |
ภพ (ภว) จึงดับ |
เพราะภพ (ภว) ดับ |
ชาติจึงดับ |
เพราะชาติดับ |
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ |
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ มีด้วยประการฉะนี้
วัฏฏะ ๓ ได้แก่
๑. กิเลสวัฏฏ์ หมายถึง กิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดการเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏฏ์
๒. กรรมวัฏฏ์ หมายถึง กรรมที่เป็นเหตุให้เกิดการเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏฏ์
๓. วิปากวัฏฏ์ หมายถึง ผลแห่งกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดการเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏฏ์
ความสัมพันธ์ของวัฏฏะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นอาการเป็นไปของธรรมประจำโลก คือ สัตว์บุคคลทั้งหลายที่ยังมีกิเลส เมื่อมีกิเลสอยู่ภายในก็ส่งให้เกิดกระทำกรรมต่างๆ แล้วกรรมก็ส่งให้เป็นวิบาก หรือผลแห่งกรรม วิบาก หรือ ผลแห่งกรรม ก็คือ ผลที่ได้รับทางกายและใจ หรือรูปนามขันธ์ ๕ เมื่อมีรูปนามขันธ์ ๕ ปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมเป็นที่อาศัยของกิเลส มีความปรารถนาต่างๆ เป็นเหตุให้ขวนขวายกระทำกรรมที่เป็นบาป หรือบุญ แล้วผลแห่งบาปบุญ คือ วิบาก ปรากฏขึ้นอีกหมุนเวียนกันอยู่เช่นนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การพ้นจากสังสารวัฏฏ์
ถ้าต้องการพ้นจากวัฏฏะ จึงต้องตัดที่ กิเลสวัฏฏ์ เพราะกิเลสตัณหาที่เป็นปัจจุบันเหตุ จะก่อให้เกิดกรรม ทำให้เกิดผลในอนาคตคือ ต้องเกิดใหม่ในภพหน้า กิเลสวัฏฏ์จึงเป็นธรรมที่ควรละ เพราะเป็นตัวสมุทัย อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สำหรับ กรรมวัฎฎ์ เฉพาะที่เป็นส่วนกุศล อันได้แก่กุศลกรรม เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ส่วน วิปากวัฏฏ์ อันได้แก่ รูปนามขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกขสัจจะ อยู่ในประเภทธรรมที่ควรกำหนดรู้
หลักฆราวาสธรรม เป็นธรรมที่ผู้ครองเรือนจำเป็นต้องมี เพื่อความเจริญของตนเองและความสงบสุขของสังคม หลักธรรมนี้นอกจากจำเป็นในชีวิตปัจจุบันแล้ว ยังเป็นหลักธรรมที่นำไปสู่ประโยชน์ชาติหน้า หรือสัมปรายภพที่ดี และยังเป็นรากฐานให้ธรรมอื่นๆ ที่ยิ่งกว่าเจริญขึ้น หลักธรรมที่จะยกมากล่าวในที่นี้คือ เบญจศีล เบญจธรรม, กุศลกรรมบถ ๑๐, สัปปุริสธรรม ๗, ทิศ ๖, พรหมวิหาร ๔, ขันติ และอริยทรัพย์ ๗
เบญจศีล เบญจธรรม
ความหมายของ ศีล คือ การสำรวม กาย วาจา มิให้ล่วงกายทุจริต วจีทุจริต เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมในพุทธศาสนา
องค์ประกอบแห่งความสำเร็จในการรักษาศีล ได้แก่ การสังวร, เจตสิก, เจตนาสมาทาน และ การไม่ก้าวล่วงสิกขาบท
๑. สังวร คือ การสำรวมระวัง มิให้บาปทุจริต เกิดขึ้นทางกาย และวาจา
๒. เจตสิก ได้แก่ การเว้นวจีทุจริต กายทุจริต และมิจฉาอาชีพ ขณะที่มีอารมณ์อันจะเป็นเหตุให้ทำทุจริตมาปรากฏเฉพาะหน้า
๓. เจตนา สมาทาน คือ การเว้นจากกายทุจริต และวจีทุจริต ด้วยความตั้งใจไว้ก่อนว่า จะไม่กระทำบาปนั้นๆ
๔. การไม่ก้าวล่วงสิกขาบท ที่ตนได้สมาทานไว้แล้ว ก็ได้ชื่อว่ายังตั้งอยู่ในศีล
อานิสงส์ในการรักษาศีล
ผู้รักษาศีลอยู่เสมอ ย่อมให้ได้โภคสมบัติ
มีเกียรติยศชื่อเสียงฟุ้งขจรไป
เมื่อเข้าสู่ท่ามกลางบริษัท ย่อมองอาจแกล้วกล้า
ใกล้ตายไม่หลงลืมสติ
ครั้นเมื่อตายลง ย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
นอกจากนั้นศีลยังเป็นบาทฐานให้เกิดสมาธิและปัญญาตามลำดับ อันเนื่องจากการรักษาศีลที่ดี ก็ย่อมทำให้ใจสงบง่ายเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ
ศีล ๕ เป็นข้อควรงดเว้นสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เพื่อประโยชน์สุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะอาศัยเหตุที่ว่าเรารักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์ฉันนั้น ดังนั้นสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ต่างก็มีความหวงแหน ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงเกินในตนหรือของๆ ตน ศีล ๕ จึงจัดเป็นฆราวาสธรรมที่ทุกคนจำเป็นต้องมี หากล่วงเกินข้อใดข้อหนึ่งสังคมย่อมมีการเบียดเบียน ตรงข้าม หากทุกคนต่างอยู่ในศีล ๕ สังคมย่อมมีแต่ความผาสุก
เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ประกอบด้วย
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยการขโมย
๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มสุรายาเมา
เบญจธรรม ๕ เป็นหลักธรรมที่คนทั่วไปควรปฏิบัติ มี ๕ ประการดังนี้
๑. ความเมตตากรุณา
๒. การเลี้ยงชีพโดยชอบ
๓. ความสำรวมในกาม
๔. พูดความจริง
๕. สติ ความระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ
เบญจศีล และ เบญจธรรม เป็นธรรมที่อุปการะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อรักษาศีล ๕ ให้หมดจด ก็ถึงด้วยความประพฤติในหลักเบญจธรรม จึงจะเป็นการอุดหนุนซึ่งกันและกัน
กรรมบถ สามารถแยกศัพท์เป็น กรรม หมายถึง การกระทำ บถ หมายถึง ทาง
กรรมบถ จึงแปลว่า ทางแห่งการกระทำ แยกได้เป็น กุศลกรมบถ และ อกุศลกรรมบถ
กุศลกรรมบถ ๑๐
ทางแห่งกุศล หรือทางแห่งความดี
จัดเป็น กายกรรม ๓ อย่าง
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยการขโมย
๓. กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
จัดเป็น วจีกรรม ๔ อย่าง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
๗. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
จัดเป็น มโนกรรม ๓ อย่าง
๘. อนภิชฺฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
๙. อพฺยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๑๐. สมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
อกุศลกรรมบถ ๑๐
มีลักษณะตรงกันข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ อกุศลกรรมบถ เป็นการกระทำในทางชั่ว ๑๐ ประการ หรือไม่ละเว้นในทางชั่วนั่นเอง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ
๑. รู้จักเหตุ (ธัมมัญญุตา) เช่นรู้จักว่า สิ่งใดเป็นเหตุแห่งสุข สิ่งใดเป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. รู้จักผล (อัตถัญญุตา) เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้
๓. รู้จักตน (อัตตัญญุตา) เช่นรู้จักว่า ตนมีชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรม เท่านี้แล้ว จะประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. รู้จักประมาณ (มัตตัญญุตา) เช่นรู้จักประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร
๕. รู้จักกาลเวลา (กาลัญญุตา) เช่นรู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ
๖. รู้จักชุมชน (ปริสัญญุตา) เช่นรู้จักว่าจะประพฤติกิริยาอย่างไรต่อกลุ่มคน หรือชุมชนต่างๆ
๗. รู้จักบุคคล (ปุคคลปโรปรัญญุตา) เช่นจักเลือกบุคคลว่า ผู้ใดเป็นคนดีควรคบ ผู้ใดเป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ เป็นต้น
ทิศ ๖ หมายถึง บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัวทั้ง ๖ ทิศ ดังนั้นจึงมีหน้าที่ปฏิบัติซึ่งกันและกัน ดังนี้
๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน
ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้
๑) เลี้ยงดูตอบแทนท่าน
๒) ช่วยทำการงานของท่าน
๓) ดำรงวงศ์สกุล
๔) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
๑) ห้ามปรามจากความชั่ว
๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔) หาคู่ครองที่สมควรให้
๕) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
๒. ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาคุณ
ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้
๑) ลุกต้อนรับ
๒) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา ซักถาม และรับคำแนะนำ เป็นต้น)
๓) ใฝ่ใจเรียน
๔) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
๕) เรียนศิลปวิทยาโดยความเคารพ
ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
๑) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
๕) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)
๓. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
๑) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
๒) ไม่ดูหมิ่น
๓) ไม่นอกใจ
๔) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
๕) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
๑) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓) ไม่นอกใจ
๔) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
๔. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุนให้บรรลุความสำเร็จ
ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
๑) เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒) พูดจามีน้ำใจ
๓) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
๕) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
๑) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
๒) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
๓) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
๔) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
๕) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
๕. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้
ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้
๑) จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
๒) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
๓) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
๔) ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
๕) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้
๑) เริ่มทำการงานก่อนนาย
๒) เลิกงานทีหลังนาย
๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕) นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
๖. ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ
ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
๑) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓) จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔
ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้
๑) ห้ามปรามจากความชั่ว
๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓) อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
๔) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖) บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้
ผู้ปฏิบัติดังกล่าวนี้ชื่อว่า ปกปักรักษาทั่วทุกทิศให้เป็นแดนเกษมสุขปลอดภัย
ความหมายของ พรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา วางใจเป็นกลางเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะพิจารณาด้วยปัญญาเห็นว่าใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว
พรหมวิหาร ๔ เป็นคุณของมารดาบิดาที่รักษาบุตรดุจดังพรหม ดังมีพระพุทธพจน์มาในพรหมสูตรว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร บุตรควรบูชาบิดามารดาในบ้าน เพราะได้ชื่อว่า มีพรหมในบ้าน
ขันติ คือ ความอดทน
อธิวาสนขันติ คือความอดทนต่อความยากลำบากทางกายต่างๆ เช่น หนาว ร้อน หิวระหาย สัมผัสสัตว์ เช่น เหลือบยุง ลมแดด เป็นต้น
ตีติกขาขันติ คือ ความอดทนอดกลั้นต่อคำล่วงเกินของผู้อื่น อันทำให้เกิดความเจ็บใจ
ขันติ โสรัจจะ ธรรมะที่ทำให้งาม
ธรรมะที่คู่กับ ขันติ ก็คือ โสรัจจะ ซึ่งหมายถึงความสงบเสงี่ยม กล่าวคือ หากไม่มีโสรัจจะในขณะที่ปฏิบัติในขันติ ก็จะสามารถอดทนแต่ยังมีความโกรธความเจ็บใจ เกิดขันติที่เป็นทุกข์ ถ้ามีทั้ง ขันติ และ โสรัจจะ ก็จะอดทนด้วยความสงบเสงี่ยมเพราะความเจ็บใจต่างๆ ถูกระงับไปแล้ว
อริยทรัพย์ คือ คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ สามารถนำติดตัวไปในภพหน้าได้ กล่าวคือ
คุณความดีที่สร้างไว้ให้ติดตัวในขันธสันดาน ย่อมนำสืบต่อให้เป็นผู้มีอุปนิสัยเช่นนั้นในภพถัดไป ทั้งยังส่งผล
เป็นกุศลวิบากในภพหน้า ให้เสวยผลความสุขแห่งคุณความดีนั้น
อริยทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งต่างจากทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินเงินทอง คือ ทรัพย์สินเงินทอง
หากใช้เพื่อปรนเปรอบำรุงความสุขส่วนตน ใช้หมดแล้วหมดเลย แต่อริยทรัพย์ใช้แล้วไม่มีวันหมด มีแต่จะเพิ่มพูน
อริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ
๑. สัทธา |
เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ |
๒. สีล |
รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย |
๓. หิริ |
ความละอายต่อบาปทุจริต |
๔. โอตตัปปะ |
สะดุ้งกลัวต่อบาป |
๕. พาหุสัจจะ |
ความเป็นผู้เคยได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก |
๖. จาคะ |
สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน รวมทั้งสละความไม่ดีทิ้งไป |
๗. ปัญญา |
รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ |
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ): ผู้แต่งหนังสือพุทธจริยา
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อพ่วง มารดาชื่อปิ่น บ้านเดิมอยู่ตำบลบ้านเพรียง อำเภอโพไร่หวาน จังหวัดเพชรบุรี บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ต่อได้อุปสมบทอยู่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อลาสิกขาบทแล้วเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นรับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐
หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ขุนประเสริฐอักษรนิติ์ พระปริยัติธรรมธาดา และ พระยาปริยัติธรรมธาดา ตามลำดับ ตำแหน่งสำคัญที่เคยได้รับ ได้แก่ เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา
ท่านเป็นที่นับถือและคุ้นเคยกับบรรดาเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในสมัยนั้นมาก เป็นผู้ฝักใฝ่งานศึกษาของชาติอย่างแท้จริง และเลื่อมใสทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สามารถพูดภาษาต่างๆ ได้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาบาลีสันสกฤต บั้นปลายชีวิตท่านป่วยเป็นโรคท่อปัสสาวะพิการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ ศิริรวมอายุได้ ๖๕ ปี มีบุตรชายหญิง รวม ๘ คน
ผลงานสำคัญ
• เป็นแม่กองคนแรกที่สามารถรวบรวม พจนานุกรมไทย สำเร็จอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังได้จัดทำพจนานุกรมอื่น ได้แก่ บาฬิลิปิกรม พจนานุกรม บาลี-ไทย ฉบับใหญ่ที่สุดที่ไทยมีอยู่ในเวลานี้ และ มหาพจนานุกรมสยาม ของกรมศึกษาธิการซึ่งยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่
• ค้นพบพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยหอพระสมุดวชิรญาณ พงศาวดารโบราณเล่มนั้นจึงถูกตั้งชื่อว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ
• ตำนานเมืองเพชรบุรี เป็นผลงานที่สำคัญยิ่งด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรียบเรียงจากเอกสารทางราชการ คำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกใช้เป็นเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องของเมืองเพชรบุรีอย่างแพร่หลาย
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์: อธิบดีกรมศึกษาธิการ (พระอิสริยยศและตำแหน่งขณะนั้น)
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระอิสริยยศสูงสุดคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาอ่วม ธิดาของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ประสูติเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๗
ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ได้ทรงรับราชการอยู่ในกรมราชเลขานุการ ตำแหน่งสำคัญต่างๆ ที่ทรงได้รับในเวลาต่อมา ได้แก่ อธิบดีกรมศึกษาธิการ อธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชีในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีสภา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงอัปษรสมาน เทวกุล (พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) โดยทรงเป็นต้นราชสกุล กิติยากร ทรงมีพระโอรสและพระธิดา ๒๔ องค์ ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพพระองค์ประชวรและต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ยังต่างประเทศ และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่กรุงปารีส สิริพระชนมายุ ๕๘ พรรษา