สารบัญ
แบบเรียนศัพท์กรมศึกษาธิการ ศัพท์โบราณแผลง
ที่มา

แบบเรียนศัพท์โบราณแผลงเป็นแบบเรียนศัพท์สำหรับชั้นประถมศึกษาของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ แบบเรียนนี้เป็น
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ราคาเล่มละ ๙ อัฐ พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ์ บางขุนพรหม แบบเรียนเล่มนี้แต่เดิมใช้เป็นแบบเรียนวิชาขั้นต้นของโรงเรียนมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ต่อมาได้ยกเลิกการใช้แบบเรียนเล่มนี้ เนื่องจากมีการปรับหลักสูตรใหม่ คือ ยกเลิกการสอนวิชาขั้นต้นและได้นำหลักสูตรวิชาขั้นต้นนี้ไปสอนในระดับวิชาสามัญศึกษาของกรมศึกษาธิการ (แบบเรียนศัพท์โบราณแผลง ร.ศ. ๑๒๒ : คำนำ)
โรงเรียนมหาดเล็กจึงสอนแต่วิชาขั้นสูงเท่านั้น แบบเรียนศัพท์โบราณแผลงนี้จึงเป็นการพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่
๑๕ มกราคม ร.ศ. ๑๒๒ เพื่อใช้สอนในวิชาสามัญศึกษาของกรมศึกษาธิการ โดยมีขุนประสิทธิ์อักษรสารเป็นผู้ตรวจตราแก้ไข
และมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ วัตถุประสงค์ของการจัดพิมพ์แบบเรียนศัพท์โบราณแผลงนี้ ปรากฏในคำนำของแบบเรียนว่า เป็นการรวบรวมคำศัพท์โบราณที่ได้ใช้
กันมานานในภาษาไทย จนความหมายคลาดเคลื่อนไปจากเดิม เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษา

เนื้อหา

เนื้อหาของหนังสือแบบเรียนศัพท์โบราณแผลงนี้เป็นการรวบรวมศัพท์โบราณที่ใช้กันมานานและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปเข้าไว้
เป็นหมวดหมู่ ศัพท์โบราณที่รวบรวมไว้นี้ แบบเรียนเล่มนี้กล่าวว่าล้วนเป็น “คำแผลง” ทั้งสิ้น คำแผลงเป็นคำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวอักษรในคำต่าง ๆ ทั้งด้านรูปอักษรและด้านเสียง ทั้งที่เป็นคำไทยและคำยืม เช่น
ภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาเขมรด้วยวิธีต่าง ๆ ให้ผิดจากรูปคำเดิม เพื่อเพิ่มคำขึ้นใช้ในภาษาไทย และเพื่อให้เกิดความไพเราะของเสียงสัมผัสในการแต่งคำประพันธ์ รวมทั้งเพื่อความสละสลวยของคำพูด การแผลงคำดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับหลักภาษาของภาษาอื่นด้วย เช่น
ภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาเขมร แบบเรียนเล่มนี้นำเสนอคำศัพท์โบราณแผลงจำนวน ๑๖๙ คำ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับตัวอักษร (นับคำจาก “คำเดิม” โดยมิได้
แยกกลุ่มภาษา) ดังนี้

  • ก แผลงเป็น กำ จำนวน ๖ คำ
  • ข แผลงเป็น กำ กง จำนวน ๘ คำ
  • ค แผลงเป็น คำ คน คร จำนวน ๗ คำ
  • จ แผลงเป็น จำ จรร จร จำนวน ๑๕ คำ
  • ฉ แผลงเป็น จำ ชำ ฉล บจ จำนวน ๘ คำ
  • ช แผลงเป็น ชำ จำนวน ๕ คำ
  • ซ แผลงเป็น ซำ จำนวน ๓ คำ
  • ด แผลงเป็น ดำ จำนวน ๑ คำ
  • ต แผลงเป็น ดำ ตำ จำนวน ๑๐ คำ
  • ถ แผลงเป็น ดำ ต ถล จำนวน ๔ คำ
  • ท แผลงเป็น ทำ จำนวน ๖ คำ
  • บ แผลงเป็น ผน บำ จำนวน ๕ คำ
  • ป แผลงเป็น บรร บำ รบ จำนวน ๑๒ คำ
  • ผ แผลงเป็น ปร บรร ผน จำนวน ๑๓ คำ
  • พ แผลงเป็น พำ ไพ พน จำนวน ๔ คำ
  • ร แผลงเป็น รำ รง รบ จำนวน ๘ คำ
  • ล แผลงเป็น ลน ลบ ลม จำนวน ๕ คำ
  • ส แผลงเป็น สำ สา สง สร สว จำนวน ๒๓ คำ
  • อ แผลงเป็น อำ จำนวน ๗ คำ
  • สระ แผลงเป็น ว (อยู่กลาง) จำนวน ๔ คำ
  • ลดสระ จำนวน ๔ คำ
  • เติมตัว ม เข้าข้างหน้าคำ จำนวน ๘ คำ (ต้นฉบับพิมพ์คำเดิมไว้เพียง ๓ คำ)
  • ลดคำมาเป็นพยางค์ จำนวน ๓ คำ

คำศัพท์โบราณแผลงดังกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำไว้ ๔ หัวข้อ คือ คำเดิม คำแผลง คำแปล และตัวอย่าง คำศัพท์โบราณแผลง จำนวน ๑๖๙ คำนี้ มีประเด็นที่จะกล่าวถึง ๓ ประการ คือ วิธีแผลงคำ ที่มาของคำแผลง และความหมายของคำแผลง
ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๑. วิธีแผลงคำ คำศัพท์โบราณแผลงในแบบเรียนเล่มนี้ พบการแผลงคำ ๒ วิธี คือ วิธีแผลงสระ และวิธีแผลงพยัญชนะ โดยพบวิธี
แผลงพยัญชนะมากที่สุด ส่วนวิธีแผลงวรรณยุกต์ไม่พบในแบบเรียนนี้ ดังตัวอย่าง

วิธีแผลงสระ

  • ๑. แผลงสระ อู เป็น ว (บางตำราว่าแผลง อู เป็น อัว) เช่น
    • คำนูณ - คำนวณ
    • บริบูรณ์ - บริบวรณ์
    • มูรธา - มวรธา
    • มูล - มวล
  • ๒. แผลงสระ อุ เป็น โอะ เช่น
    • จุ่ง - จ่ง
    • ทุ่ง - ท่ง
    • ทุก - ทก
    • ฟุ้ง - ฟ้ง
วิธีแผลงพยัญชนะ
  • ๑. แผลงพยัญชนะตัวหน้าของอักษรนำหรืออักษรควบให้ประสมสระ “อำ” เช่น
    • ไกร - กำไร
    • กราบ - กำราบ
    • ครบ - คำรบ
    • จรูญ - จำรูญ
    • จราญ - จำราญ
    • ตรา - ตำรา
    • ตรวจ - ตำรวจ
    • แสดง - สำแดง
    • สราญ - สำราญ
    • แสลง - สำแลง
  • ๒. แผลงพยัญชนะต้นเป็น “อำน-” เช่น
    • เกิด - กำเนิด
    • คูณ - คำนูณ
    • เจียร - จำเนียร
    • แจก - จำแนก
    • จำ - จำนำ
    • จง - จำนง
    • จอง - จำนอง
    • โจทย์ - จำโนทย์
    • ชาญ - ชำนาญ
    • เดิน - ดำเนิน
    • แต่ง - ตำแหน่ง
    • ทนุ - ทำนุ
    • ทูล - ทำนูล
    • เทียบ - ทำเนียบ
    • ทาย - ทำนาย
  • ๓. แผลง ข เป็น กำ กำห- เช่น
    • ขจร - กำจร
    • ขจาย - กำจาย
    • ขจัด - กำจัด
    • ขลัง - กำลัง
    • แขง (เขียนตามต้นฉบับ) - กำแหง
  • ๔. แผลง ฉ เป็น จำ ชำ ฉล บรร เช่น
    • ฉงาย - จำงาย
    • ฉลอง - จำลอง
    • ฉลัก - จำหลัก
    • เฉียง - เฉลียง
    • เฉิด - บรรเจิด
  • ๕. แผลง ช เป็น ชำ เช่น
    • ชะ - ชำระ
    • ชนะ - ชำนะ
    • ช่วย - ชำร่วย
  • ๖. แผลง ต เป็น ดำ ตำ เช่น
    • ติ - ดำหนิ ตำหนิ
    • ดำริ - ดำริห์ (เขียนตามต้นฉบับ)
    • ตรู - ดำรู ตำรู
    • ตรัส - ดำรัส
  • ๗. แผลง ถ เป็น ดำ ตัง เช่น
    • ถกล - ดำกล
    • เถกิง - ดำเกิง
    • ถวาย - ตังวาย
  • ๘. แผลง บ เป็น ผน เช่น
    • บวก - ผนวก
    • บวช - ผนวช
  • ๙. แผลง ป เป็น บรร บำ เช่น
    • ประจุ - บรรจุ
    • ประจบ - บรรจบ
    • ประดา - บรรดา
    • ประลัย - บรรลัย
    • ปรุง - บำรุง
    • ปราศ - บำราศ
  • ๑๐. แผลง ผ เป็น ปร บรร ผน เช่น
    • แผก - แผนก
    • ผกาย - ประกาย
    • ผจง - ประจง บรรจง
    • ผชวร - ประชวร
    • ผสาน - ประสาร บรรสาน
    • ผสม - ประสม บรรสม
  • ๑๑. แผลง พ เป็น พำ ไพ พน เช่น
    • เพราะ - ไพเราะ
    • พิจ - พินิจ
    • พิศ - พินิศ
  • ๑๒. แผลง ร เป็น รำ รง รบ เช่น
    • รำ - ระบำ
    • เรียง - ระเบียง
    • รอบ - ระบอบ
    • เรียบ - ระเบียบ
  • ๑๓. แผลง ล เป็น ลน ลบ ลม เช่น
    • โลภ - ละโมภ
    • โลม - ละโบม
    • ลัด - ละบัด
  • ๑๔. แผลง ส เป็น สำ สร สน เช่น
    • สวย - สำรวย
    • เสียด - เสนียด
  • ๑๕. แผลง อ เป็น อำ เช่น
    • รรฆ - อำนรรฆ
    • าตย - อำมาตย์
    • รินทร์ - อำมรินทร์
    • อมฤต - อำมฤต

นอกจากการแผลงคำ ๒ วิธี คือ วิธีแผลงพยัญชนะ และวิธีแผลงสระแล้ว ในแบบเรียนนี้ยังมีการแผลงคำอีกแบบหนึ่งที่ไม่สามารถ
จัดเข้าไว้ในวิธีแผลงชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าว แบบเรียนนี้เรียกว่า การแผลงโดยลดคำเป็นพยางค์ ลักษณะการแผลงนี้ อาจจัดเป็นการกร่อนคำก็ได้ ดังตัวอย่าง

    • เช่นไหน - ไฉน
    • เช่นนี้ - ฉะนี้
    • เช่นนั้น - ฉะนั้น

๒. ที่มาของคำแผลง ผลการศึกษาพบว่า คำแผลงที่ปรากฏในแบบเรียนคำศัพท์โบราณแผลง มาจากภาษาต่าง ๆ ๓ ภาษา คือ ภาษาเขมร ภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ทั้งนี้จะเสนอเป็นตารางประกอบด้วย

    • ๒.๑ คำเดิม-คำแผลงและความหมายที่ปรากฏในแบบเรียน
    • ๒.๒ คำเดิม-คำแผลงและความหมายในภาษาเดิม
    • ๒.๓ คำเดิม-คำแผลงและความหมายในภาษาไทยปัจจุบัน
หน้า จาก ๘ หน้า