พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังซึ่งเป็นกรมศิลปากรในปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๑๐ ท่านเป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หม่อมเปี่ยมเป็นมารดา พระอัยกา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ- เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุลมาลากุล ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงรอบรู้ถึงการบ้านเมืองและโบราณราชประเพณี ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชจักรีวงศ์ทั้งสามพระองค์ คือ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เมื่อวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาครั้งแรกในสำนักหม่อมเจ้าหญิงปุก ต่อมาได้ศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาให้เป็นที่เล่าเรียนของเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการ ขณะศึกษาที่โรงเรียนนี้ ท่านสามารถสอบไล่ประโยค ๑ และประโยค ๒ ได้ในคราวเดียวกัน นับเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่ง
เมื่อได้สำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงโปรดให้เข้ารับราชการที่กรมศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้น ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ท่านเริ่มทำงานในตำแหน่งเสมียน ท่านเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เช่น เรียนภาษาอังกฤษ และวิชาใหม่ ๆ ที่ทันสมัยในครั้งนั้น เนื่องจากพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ จึงได้เลื่อนขั้นเป็นนายเวรวิเศษของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ และเมื่อสมเด็จฯ ได้ทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ก็โปรดให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ตามไปเป็นเลขานุการเสนาบดีด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ และได้เลื่อนเป็น พระมนตรีพจนกิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ กตัญญู ดำรงอยู่ในทำนองคลองธรรม และเฉลียวฉลาดในกิจการต่าง ๆ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็น พระมนตรีพจนกิจ ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระเจ้าลูกยาเธออีกหลายพระองค์ ไปเป็นพระอภิบาล และ จัดการศึกษาถวายเมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ และได้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักอังกฤษ ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม และสหรัฐอเมริกา พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์มิได้เป็นที่ไว้วาง พระราชหฤทัยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แม้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถก็ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ต่อพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ด้วย ดังพระราชหัตถเลขาของพระองค์ที่มีถึงท่านเมื่อครั้งเป็นพระอภิบาล ความว่า ถึงพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ด้วยลูกคนเล็กจะออกไปเล่าเรียนนี้ ฉันขอฝากด้วย จงเป็นธุระดูแลว่าตักเตือนทั้งการดีการชั่วไปทุกอย่างเช่นลูกคนโต ถึงจะไม่สู้คุ้นเคยกันก็ขออย่าเกรงใจเลย ขอให้เข้าใจว่าดวงตาของฉันทั้งคู่นี้ฝากให้พระยา วิสุทธฯ รักษาไว้ ถ้าพระยาวิสุทธฯ มีใจเมตตาฉัน ฉันก็จะได้เห็นแสงสว่างต่อไป ถ้าวางเสียแล้วก็คงจะมืดมิดหมด ฉันจะมีชีวิตอยู่ยาวก็เพราะพระยาวิสุทธฯ จะช่วยสงเคราะห์ ฉันหวังไว้ว่า พระยาวิสุทธฯ คงจะรักษาดวงตาของฉันทั้งสองนี้ให้ดีจนเต็มกำลังที่จะทำได้ ถ้าถึงเวลาที่จะต้องวางไว้ ก็คงจะวางไว้ในที่อันสมควร ถ้าพระยาวิสุทธฯได้สงเคราะห์ฉันจนเต็มที่แล้ว ความรักและบุญคุณจะมีอยู่แก่ฉันจนตลอดชีวิตไม่มีวันลืม (สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ๒๕๒๒) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจัดการศึกษาสมัยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังรับ อารยธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์มีบทบาทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการพัฒนาการศึกษา เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ท่านได้เป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอ ณ ประเทศอังกฤษนั้น ได้มีพระบรมราชโองการให้ท่านศึกษาวิธีการ จัดการศึกษาของประเทศอังกฤษและส่งความเห็นเข้ากราบบังคมทูลด้วย เพื่อจะได้ทรงนำมาปรับปรุงการศึกษาของไทยต่อไป พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้ส่งรายงานข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาของนักเรียนสยามในอังกฤษและได้เสนอความคิดเห็นการจัดทำโครงการ ศึกษาสำหรับชาติเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) พระองค์ทรงชมเชยและเห็นชอบทุกประการ ทรงเร่งรัดให้กระทรวงธรรมการดำเนินการปรับปรุงการศึกษาอย่างเร่งด่วน (กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๓๓ : ๑๔๐)
เมื่อพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้กลับมายังเมืองไทยก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อให้บุคลากรทั่วไปเข้าฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนเพื่อรับราชการในกรมมหาดเล็ก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ใช้นามว่า “โรงเรียนมหาดเล็ก” และได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นกรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนมหาดเล็กร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เจ้าหมื่นสรรพเพ็ธภักดี (พระยาบุรุษย์รัตนราชพัลลภ) และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ ๒๕๔๔ : ๑๒,๑๙) ทั้งนี้ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียน ข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ และต่อมาทรงสถาปนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยา วิสุทธสุริยศักดิ์ ออกไปรับสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมข้าหลวงตรวจการและโปรดเกล้าฯ ให้ไปดูงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย คณะดังกล่าวได้นำแผนการศึกษาของญี่ปุ่นมาปรับปรุงร่วมกับร่างโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ดังกล่าวแล้ว มาเป็นแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ แผนการศึกษานี้นับเป็นแผนการศึกษาฉบับแรกของไทยที่ประกาศใช้ (กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๓๓ : ๑๓๖) ดังกล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์มีบทบาทในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านการศึกษา ท่านได้ตำแหน่งสำคัญ มาโดยตลอด จนสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเกล้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ยังมีบทบาทด้านการศึกษา ท่านมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการจัดการศึกษาภาคบังคับจนสำเร็จ ในระยะแรกประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่เห็นความสำคัญ และความจำเป็นของการศึกษา ไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนที่รัฐจัดตั้งขึ้น จึงเป็นการยากที่จะจัดการศึกษา ภาคบังคับ ต่อมาเมื่อพระยาวิสุทธ สุริยศักดิ์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็น “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้นำร่าง “ความเห็นที่จะจัดการศึกษา ร.ศ. ๑๓๑” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สาระสำคัญคือ การบังคับเด็กที่มีอายุระหว่าง ๗-๑๔ ปี ต้องเข้าเรียน ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ก็โปรดเกล้าฯประกาศใช้ “แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖” และเพื่อให้เป็นไปตามแผนการศึกษาดังกล่าว ท่านได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่าง “พระราชบัญญัติลักษณะบังคับเด็กให้เล่าเรียน พ.ศ. ๒๔๕๗” แต่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไม่สามารถจัดหางบประมาณสร้างโรงเรียน และเงินเดือนครูได้ ร่างดังกล่าวจึงต้องระงับไป ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงธรรมการสืบต่อมาได้นำร่างพระราชบัญญัติบังคับเด็กเข้าเล่าเรียนขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ อีกครั้งหนึ่ง แม้จะยังมีผู้ทักท้วงแต่ในที่สุดก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๔ ดังนั้นตั้งแต่นั้นมาประชาชนทุกคน จึงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนโดยเท่าเทียมกัน (กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๓๓ : ๑๔๑-๑๔๓)
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีเป็นผู้ส่งเสริมการศึกษาและเป็น “ครู” อย่างแท้จริง ท่านเห็นว่าการให้ความรู้แก่ศิษย์และเยาวชน ยังไม่เพียงพอ ต้องให้เป็นพลเมืองดีด้วยการอบรมจิตใจให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เนื่องจากท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีระเบียบวินัย อุทิศตนเพื่อบ้านเมือง มีความวิริยะพากเพียรและพยายามปลูกฝังให้ทุกคนมีจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และกตัญญูต่อ พระมหากษัตริย์และแผ่นดิน โดยเฉพาะครูและแพทย์ ท่านจึงได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับจริยธรรมเพื่อมุ่งสอนให้ข้าราชการต่าง ๆ เป็นคนดี ซื่อตรงต่อหน้าที่และต่อบ้านเมือง เช่น เรื่องหน้าที่พลเมือง สมบัติผู้ดีและจรรยาบรรณแพทย์ หนังสือเหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแบบเรียน ปัจจุบันยกเลิกไปแล้วนอกจากนี้ยังมีแบบเรียนหลักภาษาไทย ทำเนียบ ร. (เรือ) ล. (ลิง) พงศาวดารย่อ แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก แบบกวีนิพนธ์ที่ตัดมาเรียนเป็นชุด ๆ ศัพท์พากย์ต่าง ๆ และนิทานสุภาษิตสำหรับเด็กที่ให้ข้าราชการช่วยกันแต่งไว้ (สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ๒๕๒๒)ดังจะได้ยกตัวอย่าง คำเตือนสติของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ที่ให้แก่นักเรียนที่ไปเล่าเรียน ณ กรุงเก่า (ร.ศ. ๑๒๐) ดังนี้ ธรรมดาเกิดมาเปนคน อะไรจะเปนการสำคัญของบุคคลยิ่งกว่าความประพฤตินั้นหามิได้ บุคคลผู้ใดถึงแม้ว่าจะมีความรู้วิชาเปนอย่างวิเศษ เพียงใด แต่ไม่มีความรู้จักที่จะประพฤติดีแล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะไม่สามารถที่จะใช้วิชาความรู้ซึ่งได้เล่าเรียนไว้แล้วให้เปน ประโยชน์เต็มที่ได้ บุคคลผู้นั้นก็ยากที่จะจัดหาหรือรักษาไว้ได้ซึ่งความดี ธรรมดาของสิ่งใดที่รู้จักเกิดมีขึ้น ก็ย่อมรู้จักเปลืองไปและหมดไป สิ่งใดมีเวลาเกิดก็ย่อมมีเวลาดับ ใครมีของสิ่งใดถ้ารักใคร่ก็ต้องรักษาสงวนของสิ่งนั้น ถ้าไม่รู้จักรักษาระวังก็ย่อมจะหมดไป... คำที่เรียกว่า “ผู้ดี” คนทั่วไปมักเข้าใจว่า เปนคนที่เกิดในเฉภาะชาติตระกูลอันใด หรือเปนคนที่มั่งมีบริบูรณ์ด้วยทรัพย์และยศอย่างใด คำว่าผู้ดีที่ควรจะเข้าใจให้ถูกนั้นคือ ผู้ประพฤติดี คนที่เกิดในตระกูลที่เข้าใจว่าเปนตระกูลผู้ดี แต่ถ้าไม่ประพฤติดี ความดีจะมีแก่ผู้นั้นอย่างไรได้ และเมื่อบุตรหลานในตระกูลผู้ดีไม่ประพฤติความดีแล้ว ตระกูลนั้นก็จะเสื่อมทรามลงไป จนไม่มีใครรู้จักว่าผู้นั้นมีตระกูลสืบเนื่องมาแต่ผู้ดี หรือจะเรียกว่าผู้ดีได้ คนใดถึงจะเกิดในตระกูลใด ถ้าประพฤติดีทำความดีก็จะมีผู้เชื่อถือและนับหน้าถือตายกย่องว่าเปนผู้ดี เพราะเหตุที่ ประพฤติดีแท้จริงต้องเปนเช่นนี้... การที่นบนอบชั่วแต่ผู้ใหญ่ เรียกว่า “กลัว” และหยาบคายต่อผู้น้อย เรียกว่า “ดูหมิ่น” การที่นบนอบผู้ใหญ่และไม่หยาบคายต่อผู้น้อย ด้วยเรียกว่า “อ่อนหวาน” หรือเปนคนมีสัมมาคาระวะ เปนกิริยาของผู้ดี ผิดกันดังนี้ คนใดที่เชื่อตัวว่ามีความรู้วิเศษ และจะเกรงกลัวนอบน้อม แต่ผู้ที่เห็นว่าเขามีความรู้กว่าและดูหมิ่นผู้ที่ตนเข้าใจว่ามีความรู้น้อยเช่นนี้ไม่ถูก คนที่ดีจริงแล้ว รู้ว่าเขาไม่รู้และเขาอยากจะรู้ ก็ควรจะชี้แจงบอกกล่าวให้เขารู้ด้วยกิริยาอันดี ปราศจากความล้อเลียน หรือใช้กิริยาวาจาอันหยาบคายซึ่งเปนกิริยาดูหมิ่น ดังนี้จึงเรียกว่า ผู้นั้นเปนผู้ดีแท้...(รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ ๒๕๔๔ : ๒๓-๒๗)
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงธรรมการได้เพียง ๓ ปี เพราะสุขภาพไม่แข็งแรง ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อมีอายุได้ ๔๙ ปี