สารบัญ
ความรู้เรื่องแบบเรียนภาษาไทย
แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก

หนังสือที่มีเนื้อหาสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยที่เรียกว่า แบบเรียนภาษาไทย หรือ หนังสือเรียนภาษาไทย นั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีขึ้น ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา หนังสือดังกล่าวมีชื่อว่า จินดามณี พระโหราธิบดี นักปราชญ์แห่งราชสำนัก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้แต่งหนังสือจินดามณีขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงเห็นว่าถ้าไทยเราไม่จัด การเรื่องการศึกษาเล่าเรียนให้รุ่งเรือง ก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส เพราะพวกบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาสอนศาสนาในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย เนื้อหาความรู้ในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี มี ๓ เรื่อง ได้แก่

๑. ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ ซึ่งในจินดามณีเรียกว่า อักษรศัพท์ เป็นการประมวลคำศัพท์ต่างๆ มารวมไว้ประมาณ ๘๐๐ คำ คำศัพท์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น คือ บาลี สันสกฤต และเขมร และจำนวนมากเป็นคำพ้องเสียง นอกจากนั้นเป็นคำพ้องความหมาย คำพ้องรูปพ้องเสียง และคำกลุ่มเดียวกันหรือมีความหมายสัมพันธ์กัน ลักษณะของการรวบรวมคำศัพท์ไม่มีการเรียงลำดับหรือจัดหมวดหมู่ การบอกความหมายของศัพท์ไม่เป็นระบบและมีไม่ครบทุกคำ การให้เรียนรู้เรื่องอักษรศัพท์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนรู้คำศัพท์ทั้งหลาย ให้มากที่สุดเพื่อให้นำไปใช้ในการแต่งคำประพันธ์และอ่านวรรณคดี โคลง ฉันท์ กาพย์ ได้เข้าใจ ทั้งนี้มีคำศัพท์ประเภทคำแผลงอยู่บ้าง เช่น วนิดา – พนิดา, เทวี – เทพี, อโยทธยา – อยุทธยา, เพทย – แพทย และ กบถ – ขบถ เป็นต้น

๒. ความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธี คือ หลักเกณฑ์วิธีการอ่าน การเขียนหนังสือไทย เป็นการให้ความรู้ เรื่องตัวอักษรและระเบียบตัวอักษร ซึ่งได้แก่ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์และเครื่องหมายประกอบการเขียน เรื่องการประสมอักษรซึ่งได้แก่การประสมสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ มี ๕ เรื่องย่อย คือ การฝึกอ่านและเขียนพยางค์หรือคำที่นำพยัญชนะแต่ละตัวประสมกับสระและตัวสะกดแต่ละตัวที่เรียกว่า การแจกลูก เรื่องมาตราตัวสะกด ๘ แม่ (ก กา กง กน กม กก กด กบ เกย)เรื่องการผันอักษรหรือผันวรรณยุกต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบ่งหมู่พยัญชนะ ออกเป็น ๓ หมู่ เรื่องอักษรควบกล้ำและอักษรนำ และคำเป็นคำตาย ความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธีอีกเรื่องหนึ่ง คือ การใช้ตัวอักษร ซึ่งได้แก่ การใช้ ส ศ ษ รูปสระ ใ ไ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ การใช้ตัวสะกดในมาตรา กด กน กบ กก และการใช้เครื่องหมายประกอบการเขียน ๘ อย่าง

๓. ความรู้เกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์ เป็นการประมวลแบบแผนคำประพันธ์ประเภทโคลง ฉันท์ และกาพย์ชนิดต่างๆ มารวมไว้ มีการวางกฎเกณฑ์การแต่งคำประพันธ์ และตัวอย่างคำประพันธ์ รวมทั้งการสร้างแบบแผนคำประพันธ์ใหม่ขึ้นจากแบบแผนเดิมการนำเสนอเนื้อหาของจินดามณีฉบับนี้มีหลายตอนที่แต่งเป็นคำประพันธ์ เช่น มีบทไหว้ครูหรือบทประณามพจน์ การสรุปความรู้เรื่องอักขรวิธีซึ่งแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ การนำคำที่ใช้ ส ศ ษ ใ ไ มาแต่งเป็นคำประพันธ์เพื่อให้จดจำได้ง่าย เป็นต้น การนำเสนอเนื้อหาความรู้เป็นร้อยกรอง ทำให้จินดามณีเป็นตำราที่มีลักษณะของวรรณคดีรวมอยู่ด้วย อันเป็นแบบแผนนิยมของยุคสมัย จินดามณีฉบับที่พระโหราธิบดีแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นหนังสือสอนอักขรวิธีไทยและแต่งคำประพันธ์ที่สอนเด็ก ตั้งแต่เริ่มเรียนไปจนถึงผู้มีความรู้ภาษาไทยดีระดับหนึ่งแล้ว และเป็นตำราประพันธศาสตร์ของผู้ที่ประสงค์จะเป็นกวีอีกด้วยแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกนี้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยต ้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับต้นฉบับหลายประการที่ทำให้เห็นว่า จินดามณีฉบับพระโหราธิบดีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สืบทอดจากต้นฉบับเดิมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เป็นฉบับที่มีการรวบรวมและคัดลอกหรือเขียนขึ้นภายหลัง นอกจากจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีแล้ว ยังมี จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการอธิบาย และยกตัวอย่างคำแผลง ได้แก่ อ และ อู แผลงเป็น วะ เช่น คูณเลข – คำนวณเลข, มูรรดี – มวรรดี, หุนโกรธ – หวนโกรธ และมี จินดามณี ฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท (จินดามณีเล่ม ๒) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการอธิบายเรื่องการแผลงอักษรเป็นคำประพันธ์ ดังนี้ ๏ จักแถลงแห่งอักษรศรี ตัวเพี้ยนเปลี่ยนมี แลแผลงแลผลัดวัจนา ๏ ธ เปลี่ยนเปน ท อักขะรา แปลเปน ห ตรา แลแปลงเปน ต ตามประสงค์ ๏ ต น้อย เปน ฏ ใหญ่ปลง เปนธะตะคง แล คะ เปน กะ กอปกล ...

แบบเรียนภาษาไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก่อนมีระบบโรงเรียน

ในสมัยก่อนมีระบบโรงเรียน มีหนังสือบรรยายความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยที่ใช้ในการเรียนการสอนอีก ๓ เล่ม ได้แก่ ประถม ก กา (ประถม ก ข กา) ปฐมมาลา และอักษรนิติ ทั้ง ๓ เล่มนี้มีเนื้อหาเรื่องอักขรวิธี บางเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์บ้างเล็กน้อย ความแตกต่างของแบบเรียน ๓ เล่มนี้ อยู่ที่ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ของการสอน ประถม ก กา มุ่งสอนอักขรวิธีระดับต้น การนำเสนอเนื้อหาจึงเป็นการแจกลูกตามมาตราตัวสะกดแม่ ก กา ถึงแม่เกย เพื่อให้เด็กเริ่มเรียน หัดอ่าน และเมื่อจบการแจกลูกแต่ละแม่แล้ว มีการนำคำที่ประสมอักษรตามมาตราตัวสะกดในมาตรานั้นๆ และมาตราที่ผ่านมาแล้วมา แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ให้ฝึกอ่าน อันเป็นการสอนให้รู้จักคำที่มีความหมายเป็นจำนวนมาก ปฐมมาลา หรือ ปถมมาลา มุ่งสอนอักขรวิธีในระดับที่อ่านออกเขียนได้พอสมควรแล้ว การนำเสนอเนื้อหาเป็นการสรุปความรู้และหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับอักขรวิธี โดยแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ เรียงลำดับตามมาตราตัวสะกดแม่ ก กา ถึงแม่เกย ดังนั้น นอกจากจะมุ่งให้ความรู้ ด้านอักขรวิธีแล้ว ปฐมมาลายังเป็นหนังสือฝึกอ่านอันทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่าน และได้รับความรู้อื่นๆ ที่ผู้แต่งแทรกไว้ในบทอ่านด้วย อักษรนิติ มุ่งสอนอักขรวิธีในระดับที่ค่อนข้างสูง การนำเสนอเนื้อหาเป็นการบรรยายความรู้เป็นร้อยแก้วตลอด แยกเป็นเรื่องๆ อย่างเป็นระเบียบ มีเนื้อหาความรู้ใหม่บางเรื่อง เช่น เรื่องชนิดของคำไทย ๖ ชนิดตามแบบภาษาบาลี เป็นต้น การอธิบายและยกตัวอย่าง เป็นร้อยแก้วทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มีคำแผลงแทรกอยู่ในตัวอย่างคำที่สะกดในมาตราต่างๆ ตัวอย่างคำพ้องเสียง และตัวอย่างชนิดของคำไทย ๖ ชนิด เช่น วิศาข – ไพศาข, กฎ – กำหนฎ, บวศ – ผนวศ [บวช – ผนวช], ตรัส – ดำหรัส, จรัส – จำหรัส, วิจิตร – พิจิตร – ไพจิตร, เจริญ – จำเริญ, เจรจา – จรรจา – จำนรรจา, โบราณ – เบาราณ – บูราณ, เพรี – ไพรี, ทเล – ชรเล และ มรรค – มารค เป็นต้น

แบบเรียนภาษาไทยสมัยมีระบบโรงเรียน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการศึกษาและวางรากฐานให้การศึกษาของชาติมีระเบียบแบบแผนตามแบบอย่างการศึกษา ในประเทศที่เจริญแล้ว โดยเริ่มจากโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ และโรงเรียนหลวง สำหรับราษฎรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ มีหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษา มีการกำหนดระดับชั้นเรียน วิชาเรียนและการวัดผล ตลอดจนมีนโยบายและโครงการศึกษาสำหรับชาติ แบบเรียนภาษาไทยที่ใช้ในโรงเรียนหลวง คือ แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเรียบเรียงขึ้น แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ดังกล่าวมีชื่อคล้องจองกันดังนี้ มูลบทบรรพกิจ เนื้อหาเป็นเรื่องสระ พยัญชนะ อักษร ๓ หมู่ หรือไตรยางศ์ คือ อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ เครื่องหมายวรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่นๆ แล้วจึงประสมสระ พยัญชนะ โดยการแจกลูกในมาตราตัวสะกด แม่ ก กา จนถึงแม่เกย และผันวรรณยุกต์ เมื่อจบแต่ละมาตรา มีการแทรกคำประพันธ์จากเรื่อง พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ เป็นบทเทียบคำอ่านไว้เป็นตอนๆนอกจากนี้ยังมีเนื้อหา เรื่องการใช้อักษร คือไม้ม้วน ไม้มลาย คำตาย คำที่ใช้ ศ ษ ส และความรู้อื่นๆ รวมอยู่ด้วย วาหนิติ์นิกร เนื้อหาเป็นเรื่องอักษรนำ ได้แก่ อักษรสูงนำอักษรต่ำ มีการแจกลูกอักษรนำทั้งหมดทีละมาตราตั้งแต่แม่ ก กา จนถึงเกย เมื่อจบแต่ละมาตรามีการสรุปคำที่มีใช้ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างอักษรกลางนำอักษรต่ำเฉพาะคำที่มีใช้ในมาตราตัวสะกดบางมาตราอักษรประโยค เนื้อหาเป็นเรื่องคำควบกล้ำ มีการแจกลูกอักษรกลางและอักษรต่ำควบกับ ร / ล / ว ทุกมาตรา เมื่อจบแต่ละอักษร มีการสรุปคำที่มีใช้ ตอนท้ายเป็นการอธิบายและยกตัวอย่างการใช้คำ กับ แก่ แต่ ต่อ สังโยคพิธาน เนื้อหาเป็นการรวบรวมพยัญชนะที่ใช้สะกดในมาตราแม่กน กก กด กบ โดยการยกตัวอย่างคำที่พยัญชะนั้นๆ สะกด ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น บางคำมีการอธิบายความหมายด้วย ไวพจน์พิจารณ์ เนื้อหาเป็นเรื่องคำพ้องเสียง มีการประมวลคำพ้องเสียงหมวดต่างๆ ให้อ่าน ซึ่งมีทั้งคำไทย คำที่มาจากบาลีและสันสกฤต เริ่มจาก “ปะกิรณะไวพจน์” “กอไวพจน์” จนถึง “ออไวพจน์” รวม ๒๔ ไวพจน์ คำพ้องเสียงที่ประมวลมานั้น บางคำมีคำขยาย ที่บอกความหมาย หรือมีการอธิบายความหมายไว้ พิศาลการันต์ เนื้อหาเป็นเรื่องคำที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับบนพยัญชนะหรือสระ ซึ่งทำให้ไม่อ่านออกเสียงพยัญชนะหรือสระตัวนั้น เรียกว่า การันต์ มีการยกตัวอย่างคำการันต์โดยแยกเป็นชุดๆ ตั้งแต่ ก การันต์ จนถึง ห การันต์ รวม ๒๕ การันต์ แบบเรียนหลวงชุดมูลบทบรรพกิจทั้ง ๖ เล่มนี้ นับเป็นแบบเรียนที่พัฒนาขึ้นจากแบบเรียนที่แต่งมาก่อน โดยพระยาศรีสุนทรโวหารได้ ประมวลเนื้อหาอักขรวิธีเรื่องต่างๆ เรียบเรียงขึ้นใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ชัดเจน และสมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการอ่าน และใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ นอกจากจะรวมอยู่ในเนื้อหาเรื่องต่างๆ แล้ว การเรียบเรียง คำพ้องและคำการันต์ไว้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้นักเรียนมีความรู้เรื่องคำละเอียดชัดเจนขึ้น นอกจากแบบเรียนหลวงทั้ง ๖ เล่มดังกล่าวแล้ว ยังมีแบบเรียนภาษาไทยที่พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งขึ้นให้นักเรียนอ่านประกอบแบบ เรียนหลวงและขยายความรู้ภาษาไทยให้กว้างขวางออกไปอีกหลายเล่ม เช่น นิติสารสาธก สังโยคพิธานแปล ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ ปกีรณำพจนาดถ์ ต้นรำพรรณนามพฤกษา (พรรณพฤกษ) สัตวาภิธาน อนันตวิภาค และ ฉันทวิภาค อนันตวิภาค เป็นการประมวลคำศัพท์จากภาษาต่างๆ ที่เรียกว่า “พากย์” ได้แก่ คำไทย ทั้งคำเก่า คำใหม่ คำแผลง และคำตรง คำแผลงนั้นมีทั้งคำไทยแผลง และคำเขมรแผลง เช่น ไกร – กำไร, ฉลัก – จำหลัก, ชิด – ชนิด, บวก – ผนวก, ผธม – ประธม, รำ – รบำ, สวย – สลวย, เสียง – สำเนียง เป็นต้น นอกจากนี้มีคำที่มาจากภาษาชวา บาลี สันสกฤต รวมทั้งราชาศัพท์ มีการอธิบายความหมาย และที่ใช้คำต่างๆ เหล่านี้ อันทำให้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่มีใช้ในหนังสือโบราณ และคำประพันธ์ในวรรณคดีต่างๆ

แบบเรียนภาษาไทยที่แต่งหลังจากการตั้งกรมศึกษาธิการและกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ)

พ.ศ. ๒๔๓๐ มีการตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดการเรื่องการศึกษาของชาติ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้มีการประกาศใช้แบบเรียนชุดใหม่แทนแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม แบบเรียนดังกล่าว คือ หนังสือชุดแบบเรียนเร็ว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการทรงพระนิพนธ์ขึ้น โดยมีอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการภาษาอังกฤษ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และข้าราชการกรมศึกษาธิการบางท่าน เช่น พระยาวิสุทธ- สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล ต่อมาเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) เป็นที่ปรึกษาและช่วยเรียบเรียง

แบบเรียนเร็วนับเป็นแบบเรียนที่มีเนื้อหาและการเรียบเรียงที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบเรียนที่แต่งมาก่อนเป็นอย่างมาก เนื้อหาด้านระเบียบตัวอักษร การประสมอักษร และการใช้อักษร มีการปรับปรุงให้กระชับ ชัดเจน และสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การระบุสระเดี่ยวและสระประสมที่หนังสือสอนอักขรวิธีที่แต่งมาก่อนไม่ได้ระบุไว้จนครบ การประสมอักษรนั้นมีการแจกลูกและผันอักษรไม่ครบทุกตัว กล่าวคือ เป็นการนำพยัญชนะ บางตัวมาประสมสระให้อ่านตามมาตราตัวสะกด และมีตัวอย่างคำให้หัดอ่านเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการฝึกอ่านมาก ทำให้เรียนได้เร็ว

นอกจากเนื้อหาด้านอักขรวิธีและความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพ้องเสียงแล้ว แบบเรียนเร็วยังมีเนื้อหาเรื่องการจำแนกชนิดของคำและความสัมพันธ์ของถ้อยคำที่จัดว่าเป็นระบบไวยากรณ์ของภาษาไทยรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ มีเนื้อหาเรื่องการจำแนกชนิดของคำออกเป็น ๗ ชนิด ได้แก่ คำชื่อ คำกิริยา คำคุณ คำวิเศษ คำต่อ คำออกเสียง คำแทนชื่อ และวิธีแต่งคำต่างๆ เช่น แต่งคำชื่อให้รู้เพศ ให้รู้กำหนดมากน้อย เนื้อหาเรื่องประโยค อธิบายเรื่องส่วนของประโยค วิธีแต่งประโยค และจำแนกประโยคออกเป็น ๔ ชนิด ได้แก่ ประโยคสามัญ เช่น “เด็กกินเข้า” ประโยคขยาย เช่น “ตามีอำเภอบ้านหม้อกินเข้า” ประโยคความรวม เช่น “น้ำขึ้นแต่ลมลง” และประโยคแต่ง เช่น “เรือแล่นเร็วราวกับลมพา” นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียบเรียงเรื่องด้วยโวหารของตนเอง และวิธีเก็บใจความ อันได้แก่ การฝึกเรียงความและการฝึกย่อความด้วย

การเรียบเรียงหรือการนำเสนอเนื้อหาของแบบเรียนเร็วแบ่งเป็น ๓ เล่ม เล่ม ๑ มุ่งให้อ่านหนังสือออกและพอเขียนคำที่เป็นสามัญได้ เล่ม ๒ มุ่งสอนให้เขียนหนังสือได้ถูกต้อง รู้จักคำที่เป็นคำศัพท์ สะกดตัวได้ถูก และรู้จักใช้คำเหล่านั้นด้วย เล่ม ๓ มุ่งสอนให้มีความรู้ เกี่ยวกับระเบียบของถ้อยคำไทย สามารถเรียบเรียงถ้อยคำและเรียงความเป็น แต่ละเล่มแบ่งออกเป็นบทสั้นๆ มีการให้ตัวอย่างและมีแบบฝึกหัดเป็นขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ อันทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างเป็นระบบ นับเป็นการเรียบเรียงแบบเรียนตามหลักการหรือวิธีสอนที่ไม่ต้องการให้ นักเรียนท่องจำ แต่ให้พิจารณาสังเกตจากตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้เข้าใจและจดจำได้ การมีแบบฝึกหัดทำให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาทักษะในการใช้ ภาษา ทั้งการอ่าน เขียนคำ และการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นข้อความหรือเรื่องสั้นๆ เป็นการเรียบเรียงแบบเรียนรูปแบบใหม่ ต่างกับแบบเรียนที่มีอยู่เดิมอย่างมาก แบบเรียนเร็วจึงถือเป็นหนังสือไวยากรณ์ไทยเล่มแรก และมีความสำคัญในด้านที่เป็นแนวทาง ให้มีการเรียบเรียงแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นอีกหลายเล่มที่สอนได้รวดเร็ว ได้ผลดี และเหมาะสมกับสมัยยิ่งขึ้นในสมัยต่อมา เมื่อกรมศึกษาธิการขยายการศึกษาของโรงเรียนให้มีชั้นเรียนที่สูงขึ้น จึงมีการเรียบเรียงแบบเรียนภาษาไทยที่มีเนื้อหาระดับสูง เพื่อใช้เป็น แบบเรียนในโรงเรียน และเพื่อให้ครูอาจารย์ใช้เป็นหลักสอนในโรงเรียนทั่วไป แบบเรียนดังกล่าว คือ หนังสือชุดสยามไวยากรณ์ ของกรมศึกษาธิการ ซึ่งสันนิษฐานว่าข้าราชการกรมศึกษาธิการเรียบเรียงขึ้น หนังสือสยามไวยากรณ์ของกรมศึกษาธิการพิมพ์แยกเป็น ๔ ตอนตามเนื้อหา ได้แก่ อักขรวิธี บรรยายเนื้อหาเรื่องลักษณะตัวอักษร และวิธีประสมอักษรอย่างละเอียด มีการอธิบายความรู้เรื่องเสียงในภาษาและอักษรที่ใช้ แทนเสียง คือ สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ทั้งนี้มีการกล่าวถึงคำแผลงในตอนที่กล่าวถึงพยัญชนะ ดังนี้

  • ตัว ฎ ด บ ๓ ตัวนี้ สำหรับใช้ในคำแผลง มาแต่ภาษาบาฬีและสังกฤต ตัว ฏ แผลงมาเปน ฎ ตัว ตแผลงมาเปน ด ตัว ป แผลงมาเปน บ เช่นคำเหล่านี้เปนตัวอย่าง
  • ฏีกา แผลงมา เปน ฎีกา
  • ชาฏะกะ แผลงมา เปน ชาฎก
  • ตารา แผลงมา เปน ดารา
  • อาตุระ แผลงมา เปน อาดูร
  • ปะระมะ แผลงมา เปน บรม
  • ปะวะระ แผลงมา เปน บวร

อนึ่ง สยามไวยากรณ์อักขรวิธีนี้ ต่อมาพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้ปรับปรุง แก้ไขให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมขึ้น วจีวิภาค บรรยายเนื้อหาความรู้เรื่องความหมายของคำ วลี และประโยค การจำแนกชนิดของคำออกเป็น ๘ ชนิด คือ นาม สรรพนาม คุณศัพท์ กริยา กริยาวิเศษณ์ บุรพบท สันธาน และอุทาน และอธิบายวิธีใช้คำแต่ละชนิด วากยสัมพันธ์ บรรยายเนื้อหาเรื่องความสัมพันธ์ของถ้อยคำ เป็นความรู้เรื่องประโยค คือ ส่วนของประโยค และชนิดของประโยค และวิธีสัมพันธ์ประโยคฉันทลักษณ์ บรรยายความรู้เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ พร้อมทั้งแผนผังและตัวอย่าง การอธิบายลักษณะและระเบียบภาษาไทยส่วนที่เกี่ยวข้องกับวจีวิภาคและวากยสัมพันธ์ใน สยามไวยากรณ์ของกรมศึกษาธิการนี้ ใช้โครงรูป ของไวยากรณ์อังกฤษเป็นแนวและใช้ความรู้เกี่ยวกับไวยากรณ์บาลีประกอบ ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจลักษณะโครงสร้าง หรือระเบียบของภาษาไทย ซึ่งเป็นวิชาการในระดับสูง ทั้งนี้ เพราะในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์นั้น การศึกษาภาษาไทยเน้นเฉพาะด้าน อักขรวิธี ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ และเรื่องฉันทลักษณ์ เนื่องจากมีความจำเป็นเพียงให้ผู้เรียนอ่านและเขียนหนังสือได้ถูกต้องและสามารถแต่งคำประพันธ์ได้เท่านั้น หนังสือสยามไวยากรณ์ของกรมศึกษาธิการนี้ ต่อมา พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับปรุงและเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาบางเรื่องให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และตรงตามลักษณะของภาษาไทยมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ๔ ตอน เช่นเดียวกับชุดเดิม เนื้อหา ที่ปรับปรุงแก้ไข เช่น ตอน อักขรวิธี ได้เพิ่มเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับ การใช้อักษร ซึ่งมีการกล่าวถึงวิธีแผลงอักษรว่าเป็นวิธีการใช้อักษรหรือถ้อยคำ เพื่อใช้ในการแต่งคำประพันธ์หรือเพื่อให้สละสลวยกว่าการใช้ภาษาโดยทั่วไป มีการอธิบายหลักการแผลงและวิธีการแผลง ๓ ประเภท คือแผลงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ โดยยกตัวอย่างอย่างละเอียด และตอน วจีวิภาค ได้ปรับปรุงเรื่องการจำแนกชนิดของคำใหม่ โดยแบ่งออก เป็น ๗ ชนิด คือ นาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ บุพบท สันธาน และอุทาน ทั้งนี้ การพิมพ์เผยแพร่ในสมัยหลังใช้ชื่อว่า หลักภาษาไทยของ พระยาอุปกิตศิลปสาร สยามไวยากรณ์หรือหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสารนี้ นับว่าเป็นหนังสือไวยากรณ์ไทยแนวเดิมที่มีเนื้อหา ละเอียด ชัดเจนและมีอิทธิพลต่อการแต่งแบบเรียนหรือตำราหลักภาษาไทยในสมัยต่อมา

แบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงจากการสอนแบบประสมสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ มาเป็นการสอนแบบสอนอ่านเป็นคำเป็นประโยค และพัฒนามาเป็นการสอนที่ใช้หลักการผสมผสานทั้งการฝึกอ่านเป็นคำเป็นประโยค และการให้ความรู้เกี่ยวกับการประสมอักษร ความรู้ทางภาษาเรื่องต่างๆ และความรู้อื่นๆ อันเป็นการสอนความรู้แบบบูรณาการดังเช่นหนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาในปัจจุบัน แบบเรียนภาษาไทยในระดับสูงในสมัยหลังยังใช้หนังสือสยามไวยากรณ์ของพระยาอุปกิตศิลปสารเป็นหลัก จนถึงสมัยที่มีการศึกษาภาษาไทย ตามแนวภาษาศาสตร์ จึงมีการพัฒนาแบบเรียนหลักภาษาไทยในชั้นมัธยมศึกษา โดยนำความรู้ทางภาษาศาสตร์ไปใช้ในการอธิบายความรู้ บางเรื่องนอกจากนี้ หนังสือเรียนภาษาไทยในปัจจุบันยังเน้นการบูรณาการความรู้หลักภาษาไทยกับวรรณคดีไทยและการใช้ภาษาไทยด้วย

หน้า จาก ๘ หน้า