สารบัญ
โรงเรียนมหาดเล็ก

โรงเรียนมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑) โรงเรียนมหาดเล็กนี้ได้พัฒนาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา การสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็ก สาเหตุการตั้งโรงเรียนมหาดเล็กปรากฏใน “รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒” (๒๕๔๔ : ๘๙-๑๐๐) สรุปได้ดังนี้

มหาดเล็ก คือ ผู้มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายยิ่งกว่าผู้อื่น ในสมัยก่อนไม่มีโรงเรียนสำหรับผู้ฝึกหัดคนเข้ารับราชการ เป็นมหาดเล็กโดยเฉพาะ ธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือ คัดเลือกบุตรข้าราชการผู้ใหญ่ที่ พระเจ้าแผ่นดินทรงคุ้นเคยอยู่แล้วเข้ามาถวายตัวให้ทำราชการ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้สอยคุ้นเคยแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กที่มีความรู้ความสามารถออกไปรับราชการในกระทรวงต่าง ๆเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม อย่างใหม่ ทำให้พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงรู้จักขุนนางใหม่ เพราะส่วนใหญ่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงโดยตรง ไม่ได้เป็นมหาดเล็ก ที่ถวายตัวรับราชการมาก่อน การที่ขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาก่อนนั้นนับว่าเป็นการดี เพราะเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและขุนนาง ย่อมเกิดความจงรักภักดี และยังได้มีโอกาสศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักและศึกษาความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือน การศึกษาเช่นนี้ย่อมเป็นคุณแก่ประเทศชาติ ด้วยเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียน สำหรับฝึกหัดรับข้าราชการพลเรือนขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) และต่อมาใน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนดังกล่าวใช้นามว่า “โรงเรียนมหาดเล็ก” สังกัดกรมมหาดเล็กเวรเดช ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่น ศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.จิตร์ สุทัศน์) ณ อยุธยา ผู้เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กเวชเดชเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ทั้งนี้ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระยาบุรุษย์รัตนราชพัลลภ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นกรรมการที่ปรึกษา (รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก ๒๕๔๔ : ๑๒, ๑๙-๒๐)

การสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้มีพระราชดำริพัฒนาการศึกษาของไทยให้ เจริญก้าวหน้าถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างในประเทศทางตะวันตก เพื่อให้พลเมืองของประเทศมีความรู้ ความคิด และยกระดับคุณภาพการเรียน ของพลเมืองให้ทัดเทียมอารยประเทศ จึงมีพระราชดำริขยายหลักสูตรการสอนของโรงเรียนมหาดเล็กให้กว้างขวางขึ้น เช่น กฎหมาย การปกครอง และการวิศวกรรม เป็นต้น และผู้รับการศึกษาก็เปิดรับทั่วไป ไม่คำนึงถึงชาติตระกูล ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ได้มีพระบรมราช- โองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวในเบื้องต้น เพื่อจะจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยต่อไป โดยพระองค์ได้พระราชทานเงินที่คงเหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยไรสร้างพระบรมรูปปิยมหาราชานุสาวรีย์ จำนวนเงิน ๙๘๒,๖๗๒.๔๗ บาท (เก้าแสนแปดหมื่นสองพันหกร้อยเจ็ดสิบสองบาทสี่สิบเจ็ดสตางค์) เป็นทุนก่อสร้างโรงเรียน และได้ พระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ให้เช่าโดยไม่กำหนดปีที่เช่า บริเวณมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑,๓๐๙ ไร่ เนื้อที่ด้านทิศเหนือ จดถนนพระราม ๑ ด้านทิศตะวันออกจดถนนอังรีดูนังต์ ด้านทิศใต้จดหัวลำโพง ถนนพระราม ๔ และทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการของโรงเรียน โรงเรียนเปิดสอน แผนกต่าง ๆ คือ แผนกครู แพทย์ กฎหมาย รัฐประศาสนศาสตร์ การทูต พานิชยการ กสิกรรม ยันตรศึกษา (ธงทอง จันทรางศุ ๒๕๓๑ : ๕-๖) และอีก ๑ ปีต่อมา คือ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ โอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงธรรมการ (ธงทอง จันทรางศุ ๒๕๓๑ : ๑๓)

หน้า จาก ๘ หน้า