สารบัญ
โรงพิมพ์อักษรนิติ

โรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ ตั้งอยู่ที่ตรอกกัปตันบุช ผู้ดำเนินการโรงพิมพ์เป็นคณะมิชชันนารีอเมริกัน (A.B.E.F.M) ซึ่งได้มอบหมายให้หมอบรัดเลย์เป็นผู้นำเข้ามาจากสิงคโปร์เพื่อใช้พิมพ์เอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทย หมดบรัดเลย์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นใช้เองจนสำเร็จใน พ.ศ. ๒๓๘๕ ต่อมาหมอ บรัดเลย์ได้พัฒนาและดำเนินการธุรกิจการ พิมพ์อย่างจริงจัง และได้พิมพ์หนังสือฉบับแรก คือ หนังสือจดหมายเหตุ (Bangkok Recorder) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ และพิมพ์หนังสือเล่มออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เช่น นิราศลอนดอน สามก๊ก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จินดามณี และกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนโรงพิมพ์ที่ดำเนินการโดยคนไทยเป็นแห่งแรก คือ โรงพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงตั้งขึ้นที่วัดบวร นิเวศวิหาร สันนิษฐานว่าคงจะตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ก็ได้ทรงตั้ง “โรงพิมพ์อักษรพิมพการ” ขึ้นในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ โรงพิมพ์นี้จึงนับเป็นโรงพิมพ์หลวงแห่งแรกของไทย หน้าที่สำคัญคือ จัดพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางราชการฉบับแรก หลังจากเกิด โรงพิมพ์สำคัญขึ้น ๓ แห่งในประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวแล้ว ต่อมาได้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นอีกหลายแห่ง ดังที่ ส.พลายน้อย (๒๕๔๘) ได้กล่าวถึงโรงพิมพ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาว่ามีโรงพิมพ์ครูสมิท (Samuel Jones Smith) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ อยู่ที่บางคอแหลม (ถนนตก) โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๒ อยู่ที่ริมวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์ปัจจุบัน) คนทั่วไปเรียกว่า โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ โรงพิมพ์บ้านพระยาสมุท ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๒ อยู่ที่บางลำภูล่าง) โรงพิมพ์นายเทพ ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ อยู่ที่แพหน้าวัดอรุณราชวราราม แล้วย้ายมาที่แพหน้าตึกสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินีปัจจุบัน) โรงพิมพ์พานิชศุภผล ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๔ อยู่ที่ถนนวานิช ๑ (สำเพ็ง) โรงพิมพ์พานิชสรรพอุดม ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗ อยู่ที่แพวัดเจ้ากรับ บางตำหรุ บางกอกน้อย และโรงพิมพ์โสภณพรรฒธนากร ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ อยู่ที่ถนนเจริญกรุง ข้างวังบูรพาภิรมย์ เป็นต้น

โรงพิมพ์อักษรนิติเป็นโรงพิมพ์สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (Wright และ Breakspear ๑๙๙๔ : ๒๖๐๗) อยู่ที่หัวมุมถนน วิสุทธิกษัตริย์ สี่แยกบางขุนพรหม โรงพิมพ์อักษรนิติ นับเป็นโรงพิมพ์ใหญ่ในยุคต้น ๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เจ้าของโรงพิมพ์ คือ พระศิริ ไอสวรรย์ (พร รังควร) เป็นบุตรของอาจารย์รง รังควร เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๑๕ ในวัยเด็กเป็นศิษย์วัดอยู่กับพี่ชายที่ บวชอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้เรียนที่วัดนิเวศธรรมประวัตินี้ด้วย เมื่อสอบไล่ได้ขึ้นประโยค ๑ ก็ตามพี่ชายซึ่งมารับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ศึกษาจนจบชั้นประโยค ๒ ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการในกระทรวงวังจนได้เป็นขุนศรีรัตนารถ และจมื่นราชภัณฑารักษ์ตามลำดับ ต่อมาย้ายมาเข้ารับราชการในตำแหน่งสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เนื่องจากมีผลงานเป็นที่ยอมรับ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระศิริไอสวรรย์ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ สันนิษฐานว่าในปีนี้เองได้ลาออกจากราชการและมาดำเนินการสร้างโรงพิมพ์ด้วยเงินทุนของตนเอง จำนวน ๓ แสนบาท ท่านเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งไม่นิ่งเฉย นอกจากตั้งโรงพิมพ์แล้วยังตั้งโรงเลื่อยไม้ โรงฟอกหนัง โรงสีข้าว และโรงหีบฝ้าย (ส.พลายน้อย ๒๕๔๘ : ๖๓) แม้เมื่อตั้ง โรงพิมพ์ก็ได้ตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ เช่น การวาดและการแกะสลัก การสร้างแบบจำลอง ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของพนักงาน ทั้งยังร่วมกับนักเรียนคิดค้นวิธีการใหม่ในการดำเนินการธุรกิจการพิมพ์ และได้ริเริ่มจัดทำเครื่องหลอมตัวพิมพ์แบบใหม่ (Wright และ Breakspear ๑๙๙๔ : ๒๖๐๓)

เนื่องจากพระศิริไอสวรรย์เป็นผู้ที่ตรากตรำทำงาน เป็นนักคิด นักสร้าง ต่อมาเป็นโรคพิษเรื้อรัง และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุได้ ๔๖ ปี บุตรชื่อพงษ์ รังควร ซึ่งรับราชการประจำกองเรือยนต์หลวงแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ดำเนินกิจการต่อมา หลังจากนั้นได้มอบให้ภรรยาชื่อชลอ รังควร ดำเนินการแทนซึ่งต้องไปดูแลกิจการอื่น ๆ และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ โรงพิมพ์อักษรนิติรับพิมพ์หนังสือทั่วไปและหนังสือแบบเรียนโรงเรียนมหาดเล็กของกรมศึกษาธิการ เช่น แบบเรียนศัพท์เขมร ฉบับพิมพ์ครั้ง แรก พ.ศ. ๒๔๔๙ และบทละครเรื่องเวนิสวานิช พ.ศ. ๒๔๖๖ (ส.พลายน้อย ๒๕๔๘ : ๖๒) รวมทั้งแบบเรียนศัพท์โบราณแผลง พิมพ์ครั้งที่ ๒ ของกรมศึกษาธิการ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ฉบับที่นำมาศึกษานี้ นอกจากนี้ในหนังสือตำราทำนายต่าง ๆ ที่พิมพ์เมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ปรากฏ รายชื่อหนังสือที่โรงพิมพ์นี้ได้ตีพิมพ์จำหน่ายในขณะนั้น ทำให้ทราบรายชื่อหนังสือที่โรงพิมพ์นี้เคยจัดพิมพ์ เช่น เรื่องพระราชบัญญัติเล่ม ๔ แสดงกิจจานุกิจ สรรพสิทธิ์คำฉันท์ พระลอ สวดมนต์ จตุรารักษ์ สิงโตวาท พระไตรยโลกวิถาน พุทธสาสโนวาท ปฎิจสมุปบาท ทำวัตรแปล วิธี อุปสมบท หนังสือธรรมต่าง ๆ โคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหนุ่ม สุภาษิตสอนสตรี ปฐม ก กา มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร ไวพจน์พิจารณ์ พิศาล การันต์ วิธีทำกับข้าวฝรั่ง ตำราทายเคราะห์ ไภยสุริยา และทำนายต่าง ๆ (ส.พลายน้อย ๒๕๔๘ : ๖๖) โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ เมื่อมีการยกเลิกแบบเรียนและหนังสือรุ่นเก่าที่หมดความนิยม งามพิมพ์ก็น้อยลง โรงพิมพ์บางแห่งจึงเลิกกิจการไป แต่โรง พิมพ์อักษรนิติกลับกลายเป็นแหล่งกำเนิดหนังสือพิมพ์ประชามิตรและหนังสือพิมพ์มีชื่อหลายฉบับในเวลาต่อมา เช่น เอกชน สวนอักษร รุ่งอรุณ และประชามิตรสุภาพบุรุษ ทั้งเป็นแหล่งผลิตวรรณกรรมไทยทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์สำคัญหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็น แหล่งกำเนิดนักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ และนักเขียนสำคัญจำนวนมาก เช่น สด กูรมะโรหิต กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ เนียน กูรมะโรหิต สนิท เจริญรัฐ อบ ไชยวสุ และโชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์นวนิยายอิงพงศาวดารที่โด่งดังเรื่องผู้ชนะ สิบทิศ และยาขอบเองก็เคยเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาของโรงพิมพ์นี้ และได้ใช้เป็นที่พำนักจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

หน้า จาก ๘ หน้า