การศึกษาของไทยในสมัยโบราณยังไม่มีระบบโรงเรียนเช่นปัจจุบัน แหล่งเรียนรู้ของประชาชนคือ ราชสำนัก วัด และบ้าน รัฐมิได้มีหน้าที่ จัดการศึกษา พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรของขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาในวัง ส่วนบุตรของสามัญชนจะได้รับการศึกษาที่วัด และถ้าเป็นหญิงจะได้รับการศึกษาถ่ายทอดวิชาการบ้านการเรียนจากมารดาและญาติผู้ใหญ่ การศึกษาแบบสมัยใหม่ตามแนวตะวันตก คือ การศึกษาระบบโรงเรียนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบราชการทั้งด้านการเมือง การศึกษา การคลัง การคมนาคม การสาธารณสุข และทรงปฏิรูปการศึกษา ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญที่ทำให้การศึกษาของไทยเป็นการศึกษาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยรัฐเข้าไปจัดการศึกษา โรงเรียนหลวงสอนภาษาไทยจึงเกิดขึ้นครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาจัดให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทยและเลขในวัดต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนนายทหารมหาดเล็กที่พระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนทำแผนที่สังกัดกรมทหารมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม บริเวณหัวลำโพงในปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงบัญชาการ กรมศึกษาธิการและให้โอนโรงเรียนต่าง ๆ มาขึ้นอยู่กับกรมศึกษาธิการทั้งหมด ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑสถาน และกรมศึกษาธิการ ตั้งเป็น กระทรวงธรรมการ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรง ราชานุภาพเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ ต่อมาเมื่อโปรดเกล้าฯ ตั้งกระทรวงเสนาบดี ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ โดยมีที่ทำการเริ่มแรกอยู่ที่ริมประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง แม้จะตั้งกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แล้วก็ตาม กรมศึกษาธิการก็ยังคงเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของกระทรวงธรรมการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของรัฐ ซึ่งพระวิสุทธสุริยศักดิ์ได้เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ ดังปรากฏหลักฐานในคำนำหนังสือ “แบบเรียนศัพท์กรมศึกษาธิการ ศัพท์โบราณแผลง” ที่ศึกษาอยู่นี้ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๕ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งและโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่- สุทัศน์) เมื่อครั้งเป็นพระยาวุฒิการบดีเป็นเสนาบดีสืบแทน ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๕ ซึ่งเป็นต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ สืบแทนพระยาวุฒิการบดีซึ่งกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง และใน พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ในปีดังกล่าวได้มีการปรับปรุงหน่วยงานในกระทรวงธรรมการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็นกรมใหญ่ ๒ กรม คือ กรมธรรมการ และกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๔๖๒ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้จัดการศึกษาโดยตรง และให้ย้ายกรมธรรมการ ไปรวมอยู่ในพระราชสำนักตามเดิม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๙ กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกจากวัด จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งและใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
การศึกษาของไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ ซึ่งนับเป็นปีแรกที่กำเนิดกระทรวงธรรมการจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตย รวมเวลาประมาณ ๔๐ ปีนั้น นับเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสามพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกพระองค์ล้วนใส่พระราชหฤทัยและทรงให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และทุกพระองค์ทรงดำเนินนโยบายและมีพระราชดำริเรื่องการศึกษาไทยสอดคล้องกัน คือ "เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของประชาชน เพื่อประโยชน์ด้านการเมือง การปกครอง และสร้างความ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนและเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน" (กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๓๓ : ๑๓๒-๑๓๓) ดังจะเห็นว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดการปฏิรูปการศึกษาเพื่อขยายการศึกษาให้ราษฎรทุกคนมีโอกาสได้เล่าเรียน โดยทรงเร่งรัดให้กระทรวงธรรมการดำเนินการจัดทำ "ร่างโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑" ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการจัดทำร่างโครงการนี้ คือ เจ้าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ หลังจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว การศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ก็เจริญก้าวหน้า ตามลำดับ จนสามารถจัดทำแผนการศึกษาของชาติและจัดการศึกษาภาคบังคับได้ในเวลาต่อมา ไทยสามารถจัดการศึกษาจนจัดทำแผนการศึกษาของชาติฉบับแรกได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ มีสาระสำคัญคือ การศึกษาแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ สามัญศึกษา และวิสามัญศึกษา (การศึกษาวิชาชีพ) สามัญศึกษาแบ่งเป็น
แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ นี้ ยังได้กำหนดหลักสูตร ตำราเรียนและวิธีสอบไล่ไว้ด้วย หลังจากมีแผนการศึกษาฉบับแรกแล้ว รัฐก็ได้ปรับปรุงแผนการศึกษาให้เหมาะสมมาโดยตลอดจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๔ ไทยมีแผนการศึกษา รวม ๖ ฉบับ คือ แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๕ แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๐ แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๒ แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๘ และโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ แผนการศึกษาของชาติฉบับต่าง ๆ ล้วนเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษา ภาคบังคับทั้งสิ้นแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อันที่จริงแนวคิดนี้มีมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งตั้งกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่ในระยะแรก ประสบปัญหาคือประชาชนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา จึงไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนที่รัฐจัดให้ แต่เนื่องจากรัฐเห็นความสำคัญ จึงพยายามออกกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนต้องเข้าเรียน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้รัฐประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา มาโดยตลอดมาคือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี แต่ก็ยังไม่บรรลุผล ในที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการสืบต่อจากเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติมาตั้งแต่ต้น ได้นำร่างพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง แม้มีผู้ท้วงติงแต่ในที่สุดก็โปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔" โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นต้นมา การประกาศพระราชบัญญัตินี้ ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รัฐใช้เวลานานถึง ๓๐ ปี ตลอด ๓ รัชสมัยจึงจะจัด "การศึกษาสำหรับทวยราษฎร์" ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นการศึกษาของไทยก็เจริญก้าวหน้าและขยายไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา นั่นคือการสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรียนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙