คัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดยม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขนาดหน้ากระดาษกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 68.5 เซนติเมตร แต่ละหน้าตรึงติดกันพับซ้อนเป็นชั้น ดูได้ครั้งละ 2 หน้า ภาพทั้งหมดว่าด้วยริ้วกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เพื่อไปถวายผ้าพระกฐินเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาพต้นฉบับที่ฝาผนังอุโบสถวัดยมนั้นเลือนหายไปมาก จึงคัดลอกมาได้เพียงบางส่วน ทำให้ไม่สามารถประมวลภาพรวมทั้งหมดของริ้วกระบวนได้
ตอนต้นของสมุดข่อยมีคำอธิบายเป็นภาษาไทยและภาษาขอม ส่วนตอนท้ายมีคำอธิบายภาษาขอม
คำอธิบายภาษาไทยนั้นมีว่า
“พุทธศักราช 2461 ปีมะเมียสัมฤทธิศก กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ มีพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นประธาน ให้ขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธุ์) คัดรูปภาพกระบวนพยุหยาตราพระกฐินครั้งกรุงเก่าไว้สำหรับหอพระสมุดสำหรับพระนคร จำลองจากฉบับอยุทธยาพิพิธภัณฑ์ มีบานแพนกฉบับเดิม ดังนี้
รูปภาพในสุดเล่มนี้ เป็นริ้วกระบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา มหาเสวกโท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อุปราชมณฑลกรุงเก่า แลเลขานุการโบราณคดีสโมสร แต่ครั้งยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้รักษากรุงเก่า ได้ให้พันเที่ยงกำนันตำบลหอรัตนไชยช่างเขียน กับนายแขช่างเขียน คัดลอกจำลองจากลายเขียนที่ผนังอุโบสถวัดยมอยู่เหนือสถานีรถไฟอยุทธยา ซึ่งเปนวัดหลวงสร้างเมื่อปีรกาตรีศก จุลศักราช 1043 พ.ศ. 2224 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หลังคาอุโบสถชำรุดฝนรั่วถูกรูปภาพลบเลือนเสียมาก ยังเหลือที่ดีอยู่เป็นหย่อมๆ เท่าที่จำลองไว้ในสมุดนี้ ได้คัดลอกจำลองตามลวดลายเท่าขนาดและระบายสีอย่างของเดิมไว้แต่เมื่อพระพุทธศักราช 2440 ปีรกานพศก จุลศักราช 1259 รัตนโกสินทรศก 116 เปนปีที่ 30 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
สมุดรูปภาพจำลองจากวัดยมกรุงเก่า (คัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดยม จ. พระนครศรีอยุธยา)