สารบัญ
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค

เนื่องจากความสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค กวีสำคัญในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้ประพันธ์วรรณกรรมสำคัญๆ ไว้หลายเล่มให้ความรู้ทางโบราณราชประเพณีและเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราสถลมารคดังนี้

1. ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จพยุหยาตราในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งกระบวนเรือ กระบวนม้า ตอนท้ายเรื่องมีจารึกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) นิพนธ์ขึ้น เมื่อจุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340) วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ทางโบราณราชประเพณีเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ดังตัวอย่าง

        แถลงปางจุลจักรเจ้า จอมกษัตริย์
ดำเนินนิกรโดยขนัด ช่วงช้าง
ยังคิรีสุวรรณวัศน์ หิมเวศ
สถานที่พุทธบาทสร้าง สืบไว้แสวงบุญ
        พิริยพลจลโจษเพี้ยง พลพาล
นเรศรณรำบาล รวดเร้า
เทียรทัศทศทวยหาญ สุรราช
จับฉลากลาศเต้า เรียบริ้วโดยขบวน
        พันไชยธุชเทพย์หน้า นำพล
ธงไชยโบกโบยบน ยาตรย้าย
เฉกธงอิสานน นำพยุห์
โคมผูกคันธงคล้าย คลาดคล้อยคลาไคล
        หมื่นสารถีเทพย์เต้า หนขวา
หมื่นพาชีไลยคลา คลาดซ้าย
แต่งตัวเพริศเพราตา ขัดดาบ
ขับแสะสวนทางร้าย รีบริ้วบทจร

2. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงนิพนธ์โดยใช้คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทกาพย์ห่อโคลง

อันที่จริงเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์วรรณกรรมไว้ 3 เรื่องในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาท นอกจากวรรณกรรม 2 เรื่องดังกล่าวแล้วนี้ยังมีวรรณกรรมกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อคราวที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทนั้น เสด็จพระราชดำเนินทั้งโดยกระบวนพยุหยาตรทางชลมารคและสถลมารค

วรรณคดีทั้งสามเรื่องมีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ กาพย์เห่เรือจะบรรยายถึงการการเดินทางออกจากอยุธยาไปยังท่าเจ้าสนุก โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ต่อด้วยการเดินทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุกจนถึงธารทองแดง และประทับแรม ณ พระตำหนักธารเกษม

2.1 กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เป็นการพรรณนาธรรมชาติในการเดินทางสถลมารคระหว่างท่าเจ้าสนุก (ปัจจุบันคือ ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ จังหวัด พระนครศรี อยุธยา) ถึงลำธาร ทองแดง ซึ่งอยู่ห่างจากพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีประมาณ 3 กิโลเมตร สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดทิวทัศน์บริเวณนี้ จึงให้สร้างพระตำหนักขึ้นริมธาร เรียกว่า “พระตำหนักธารเกษม” ยังมีการขุดพบท่อน้ำทำด้วยทองแดงที่ริมธาร แสดงให้เห็นว่า พระตำหนักนี้มีการจัดการนำน้ำไปใช้เป็นอย่างดี

ต้นฉบับของกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ไม่สมบูรณ์ เข้าใจว่าตอนต้นสูญหายไป วรรณกรรมเริ่มด้วยการพรรณนาขบวนเสด็จทางสถลมารค จากนั้นเป็นการพรรณนาถึงสัตว์ พันธุ์ไม้ ไม่มีการพรรณนาเชื่อมโยงกับนางอันเป็นที่รัก มีเพียงบทที่ 8 และบทที่ 106 ที่พรรณนาถึงผู้หญิง แต่เป็นการพรรณนาตามสภาพที่เห็น คือบทแรกชมการแต่งกาย และบทที่สองชมการอาบน้ำแต่งตัว โดยไม่มีอารมณ์รักมาเกี่ยวข้อง เรื่องราวที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพรรณ นาในเรื่องทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีที่เป็นนักธรรมชาติวิทยา ทรงสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ และลักษณะของต้นไม้ เป็นการพรรณนาธรรมชาติแบบประดิษฐ์ จัดให้เป็นระบบมีความสวยงาม

ทั้งนี้ บทที่ 107 เป็นบทที่บอกวัตถุประสงค์ของการนิพนธ์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงต้องการพรรณนาธรรมชาติของป่าโดยไม่เกี่ยวข้องกับนางอันเป็นที่รัก และยังสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระองค์ผู้นิพนธ์อีกด้วย

        จบเสร็จชมนกไม้ใน แหล่งไหล้พนัศสถาน
หญิงชายฟังสำราญ ที่ผิดอ่านวานแต้มเขียน ฯ
จบเสร็จชมนกไม้ โคลงการ
ชมแหล่งไพรพนัศสถาน เถื่อนกว้าง
หญิงชายชื่นชมบาน ใจโลกย์
ใคร่อ่านวานเติมบ้าง ช่วยแต้ม เขียนลง ฯ

2.2 กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก (เพื่อพรรณนาถึงนางในนิราศ) กาพย์ห่อโคลงโคลงนิราศธารโศก ช่วงเวลาที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงนิพนธ์ สันนิษฐานว่าเป็นช่วงเวลาที่ประทับอยู่ ณ พระตำหนักธารเกษม (พรรณนาถึงหญิงเป็นที่รัก แสดงว่าหยุดนิ่งแล้ว เป็นการประทับรอเพื่อนมัสการพระพุทธบาท) เพราะสองข้างของลำธารมีต้นไม้ใหญ่ขึ้น-ร่มรื่น และบางบริเวณมีต้นโศกขึ้นอยู่มาก จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ธารโศก” ทั้งนี้มีพระราชวังอยู่ติดกับพระพุทธบาทชื่อพระราชวังท้ายพิกุล เป็นพระราชวังที่พระเจ้าทรงธรรม โปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับเวลาเสด็จมานมัสการพระพุทธบาท สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประทับที่พระราชวังนี้

วัตถุประสงค์การแต่งนั้น เป็นการบันทึกเหตุการณ์ และผ่อนคลายอารมณ์ (ความเบื่อหน่ายระหว่างการเดินทาง) โดยที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงระบุไว้ในพระนิพนธ์ ว่าพระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังปรากฏในบทที่ 85 ดังนี้

        พระเจ้าเกล้านรนาถ เสด็จยุรยาตรคลาดคลาไคล
ธารโศกเรียมโศกใจ ด้วยไกลน้องหมองอารมณ์ ฯ
พระบาทนรนาถเจ้า กรุงไกร
เสด็จพยุหยาตรไป เถื่อนถ้อง
ธารโศกช่วยโศกใจ จักขาด
ด้วยพี่ไกลพักตรน้อง ขุ่นคล้ำอกกรม ฯ
ตัวเรื่องเป็นการคร่ำครวญถึงนางผู้เป็นที่รัก เริ่มต้นด้วยการกล่าวชมความงามของนางตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แยกแยะอย่างเป็นระเบียบ โดยการชมนั้นมีทั้งลักษณะที่ดำเนินตามขนบ และการชมที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระองค์เอง
๑๑
หน้า ๑๑ จาก ๑๑ หน้า