กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในงานพระราชพิธีที่ควรกล่าวถึงคือกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา(ใหญ่) สถลมารคและกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเสด็จเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า มีด้วยกัน 2 กระบวน
คือกระบวนเสนาทั้ง 4 เหล่าแห่ผ้าไตรพระกฐินหนึ่งกระบวนและกระบวนเสด็จพระราชดำเนินแห่ 4 สายอีกกระบวนหนึ่ง
หากจัดกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราน้อยจะไม่มีกระบวนจัตุรงคเสนาแห่ผ้าไตรพระกฐิน แต่จะนำผ้าไตรไปคอยรับเสด็จที่วัด
การแห่พระพระกฐินพยุหยาตรา (ใหญ่) ทางสถลมารคนั้นแม้ในสมัยอยุธยาก็จัดเพียงไม่กี่ครั้งในหนึ่งรัชกาล
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ หลักฐานในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่าวัดที่เสด็จพระราชทานพระกฐินด้วยกระบวน-
พยุหยาตราอย่างใหญ่ทางสถลมารคมีอยู่เพียง 3 วัดคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดราชบุรณะ
ส่วนกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในงานพระราชพิธีที่สำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่งก็คือการเสด็จเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรม-
ราชาภิเษก ซึ่งกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเป็นหนึ่งใน 5 ขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ซึ่งประกอบด้วย
1. ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงมูรธาภิเษกกับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ-
ดวงพระราชสมภพและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
2. พิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนไชย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธี-
บรมราชาภิเษก
3. พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงน้ำพระมูรธาภิเษกแล้วประทับพระแท่นอัฐทิศอุทุมพร รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ-
รับการถวายสิริราชกกุธภัณฑ์
4. พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์
เป็นศาสนูปถัมภกในบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
ในรัชกาลก่อนๆ แล้วเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร
5. เสด็จพะราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค
การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทางสถลมารคเป็นพระราชพิธีหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ปฏิบัติกันมา
เป็นโบราณราชพิธี ความมุ่งหมายสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครก็คือ เพื่อให้ประชาราษฎรที่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า
ในการพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมีและมีโอกาสแสดงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ตามหลักฐานแต่ครั้งโบราณ การจัดกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างมโหฬาร
เพียบพร้อมด้วยกำลังทหารเหล่าต่างๆ แห่นำและตามเสด็จองค์พระมหากษัตริย์ การจัดกระบวนพระบรมราชอิสริยยศที่อึงมี่ด้วยเสียงประโคม
กลองชนะ แตร สังข์นั้นมิใช่เพียงแต่ประสงค์จะให้ราษฎรเข้าเฝ้าชมพระบารมีอย่างเดียว แต่ยังมุ่งหมายจะให้พสกนิกรทั้งปวง
ได้เห็นพระเดชานุภาพอันเกรียงไกรของกองทัพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วย หากมีผู้ใดคิดร้าย
จะได้หวั่นไหว กริ่งเกรงในแสนยานุภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อลักษณะการรบทัพเปลี่ยนแปลงไปความมุ่งหมายในการแสดงแสนยานุภาพก็มีอันค่อยๆ จางลง คงมุ่งหมายแต่เพียงเพื่อ
ให้การพระราชพิธีเป็นไปโดยถูกต้องตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ประเพณีเดิมในการเสด็จเลียบเมืองนั้น คงจะเสด็จถึงเมืองที่รายล้อม-
รอบมณฑลราชธานี พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารครอนแรมไปจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี
ทั้งนี้ เพื่อบำรุงความสวามิภักดิ์และให้ประจักษ์ในพระเดชานุภาพแก่ประชาชนทั้งหลาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป คงจะทรงเห็นว่าเป็นการลำบาก
โดยไม่จำเป็น จึงย่นระยะทางเหลือเพียงเลียบพระนครราชธานี และต่อมาก็ย่อลงมาอีกเหลือเพียงเสด็จเลียบพระนครทางเรือ
ส่วนทางบกนั้นแห่เสด็จเพียงรอบพระบรมมหาราชวัง
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 บันทึกการเสด็จเลียบพระนครไว้ เมื่อ พ.ศ. 2328 ครั้งที่ทรงทำพระราชพิธี-
บรมราชาภิเษกเต็มตำรา การเสด็จฯ ครั้งนั้นทรงให้ยาตรากระบวนแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมมหาราชวัง มิได้หยุดกระบวน ณ ที่ใด
สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการกระทำเช่นเดียวกับที่เคยในสมัยอยุธยาจริงๆ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงให้มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยทรงเสด็จฯ ออกทางประตูวิเศษไชยศรี
ทำประทักษิณพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวที่ป้อมเผด็จดัสกร แล้วตรงไปจนถึงสะพานข้ามคลองตลาด เลี้ยวกลับขึ้นทางกำแพงพระนคร
เข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระ เลี้ยวกลับเข้าพระบรมมหาราช วังทางประตูเดิม ไม่ได้หยุดที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ถนนที่เสด็จพระราชดำเนินกระบวนแห่นั้นเจ้าพนักงานจัดตั้งราชวัติฉัตรเบญจรงค์ 7 ชั้น “ครั้นถึงกำหนดนอกทหารอาสา 6 เหล่า
ซ้าย ขวา ตั้งกองจุกช่องรายทางที่จะเสด็จ ตั้งปืนคู่ขานกยางทุกแพรกถนน เจ้าพนักงานจัดตั้งกระวนแห่เสด็จ กระบวนหน้าปลายริ้วฝรั่งแม่นปืน
แต่งตัวเครื่องกำมะหยี่ขลิบแดง ลากปืนจ่าปืนรางเกวียน 2 กระบอก แล้วถึงกระบวนนายม้าต้นใส่เสื้อสีสอดสนับเพลาโพกผ้าแดงขลิบทอง
ขัดดาบขี่ม้า ถือธง 8 ม้า แล้วถึงพลอาสาล้วนแต่งเครื่องเสนากุฎกองละ 50 คน ตัวนายใส่เสื้อโพกผ้ามีประคำคล้องคอ และสะพายดาบเดิน
เป็นกองๆ คืออาสาเกณฑ์หัดถือปืนคาบศิลาปลายหอกกอง 1 ถือธนูกอง 1 ถือทวนกอง 1 อาสาญี่ปุ่นถือง้าวกอง 1 พลอาสาถือดาบกอง
2 มือกอง 1 พลล้อมวังถือดาบโล่กอง 1 ถือดั้งทองกอง 1 อาสาจามใส่เสื้อผ้าวิลาศโพกผ้าตะบิดถือหอกซัดคู่ เหน็บกริชพวก 1 แล้วถึงขุนหมื่น
6 เหล่าคู่ชัก ใส่เสื้อแดงผ้าโพกศีรษะ ถือหอกเดินเรียงเป็นสี่สาย ต่อจากนั้นถึงกระบวนขุนหมื่นตำรวจ 8 กรม สะพายดาบเดิน 4 สาย
แล้วถึงเจ้ากรมปลัด กรมพระตำรวจล้วนแต่งตัวนุ่งสนับเพลานุ่งผ้าเกี้ยวคาดเจียระบาด ใส่เสื้อเทศสวมประคำ โพกผ้าขลิบครุยสะพายกระบี่
ในระหว่างกระบวน 4 สายตอนนี้ พวกกองชนะล้วนแต่งกางเกงและหมวกแดง 100 คู่ เดินเปน 3 แถวข้างใน มีจ่าปี่ จ่ากลอง แตรฝรั่ง
แตรงอน สังข์ ต่อมาถึงชาวเครื่องนุ่งริ้วคาดลายเสื้อปล้อง ศีรษะใส่ลอมพอกเชิญเครื่องสูง 5 ชั้น 7 ชั้น ชุมสาย บังแทรก แถวกลางมีมหาดเล็ก
เชิญพระแสงดาบเขน พระแสงหอกชัย พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพ็ชร พระแสงหอกขวา เดินหว่างเครื่อง แล้วถึงพระที่นั่งพุดตาน
ซึ่งเป็นพระราชยาน มีเจ้าพนักงานเชิญพระกลดตาด บังสูรย์ พัดโบก พระทวย ขุนนางตำแหน่งปลัดทูลฉลองเป็นคู่เคียงเดิน 2 ข้าง
พระราชยาน 6 คู่ ล้วนแต่งตัวสอดสนับเพลานุ่งผ้าเกี้ยวเจียระบาด ใส่เสื้อริ้วโพกขลิบกรอบทอง สะพายดาบนอกแถวคู่เคียง มีอินทร
พรหม นุ่งสนับเพลาสวมเสื้อเขียวข้าง 1 แดงข้าง 1 ศีรษะใส่เทริด ถือจามร กระบวนหลังต่อพระราชยานเจ้ากรมถึงปลัดกรม
กรมทหารในพลพันทนายเลือกและรักษาพระองค์เดินเป็น 4 สาย แล้วถึงกระบวนเครื่องสูงหลัง มีมหาดเล็กเชิญพระแสงหอกง่าม
เดินหว่างเครื่อง ต่อนั้นถึงมหาดเล็กเชิญพระแสงง้าว (พระแสงตรี) พระแสงหอกง้าวเดินหว่างเครื่อง ต่อนั้นถึงมหาดเล็กเชิญเครื่องคือ
พานขันหมาก พระเต้า พระสุพรรณศรี เป็นต้น และเชิญพระแสงทวน พระแสงปืน พระแสงง้าว พระแสงหอกตามเสด็จ ต่อมาถึงพระยาม้าต้น
ม้าเทศผูกเครื่องกุดั่น 2 ม้า แล้วจึงถึงกระบวนอาสา มีจำนวนกึ่งจำนวนกระบวนช้างหน้าทุกหมู่ ฝรั่งแม่นปืนลากปืนจ่ารงรางเกวียน 2 กระบอก
เป็นที่สุด ต่อนั้นถึงกระบวนพระราชวงศ์ทรง (สนับเพลาและ) ผ้าเขียนทอง คาดเจียระบาด (ฉลองพระองค์อย่างเทศ ทรงพระมาลา)
ทรงม้า กั้นพระกลดหักทองขวาง เดินเป็นคู่ๆ มีมหาดเล็กตาม แล้วถึงกระบวนเสนาบดีทนายตามเป็นที่สุดกระบวน รวมทั้งพยุหยาตรา
เป็นจำนวน 8,000
ในวันพระราชกำหนดนั้น ถึงเวลา 3 โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จท้องพระโรง ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทอง
ฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาดลายรัดพระองค์เพชร เหน็บพระแสงกั้นหยั่น ทรงพระสังวาล พระธำมรง และพระมาลาเพชร
ทรงพระแสงเวียด เสด็จขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ทรงพระราชยานเดินกระบวนแห่ออกจากพระบรมมหาราชวัง ทรงโปรยเงิน
พระราชทานราษฎรซึ่งมาคอยถวายพระพรอยู่ทั้ง 2 ข้างทางจนตลอดระยะทาง แล้วเสด็จกลับคืนเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”
สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกระบวนแห่เลียบพระนครเมื่อ พ.ศ. 2367 แต่ไม่มีรายละเอียดของพระราชพิธี
สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทียบกระบวนหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนนมัสการและถวายดอกไม้เงิน-ทอง บูชาพระรัตนตรัย เมื่อถึงรัชกาลนี้
การจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคก็ได้เน้นไปทางโบราณราชประเพณีมากกว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพแล้ว เนื่องจากในขณะนั้น
ประเทศสยามตกอยู่ในวงล้อมของลัทธิจักรวรรดินิยม การศึกสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการรบสมัยใหม่มากขึ้นแล้ว
สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ผ่านมา
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเส้นทางยาตรากระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค
เลียบพระนครใหม่ เป็นออกจากพระบรม มหาราชวัง ไปตามถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชินี หยุดกระบวน ณ พลับพลาท้องสนามหลวง
เสด็จขึ้นประทับพลับพลาให้พ่อค้า ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จขึ้นประทับพระราชยานพุดตานทอง
ยาตรากระบวนข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา เลี้ยวไปตามถนนจักรพงศ์ เลี้ยวขวาถนนพระสุเมรุ เทียบพระราชยานที่เกยพลับพลาหน้าวัดบวรนิเวศ
เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงธูปเทียนเครื่องนมัสการ และถวายต้นไม้เงิน-ทองเป็นพุทธบูชาพระพุทธชินสีห์และถวายดอกธูปเทียนสักการะ
สมเด็จพระราชอุปัชฌาย์
จากนั้นเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ โดยยาตรากระบวน
ไปตามถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาไปตามถนนราชดำเนินกลางและถนนสนามชัย ระหว่างทางได้หยุดกระบวน แล้วเสด็จขึ้นประทับพลับพลา-
ที่ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อให้บรรดาชาวยุโรปที่ได้ทำการค้าขายอยู่ในพระนครถวายพระพรชัยมงคล
เมื่อเสร็จพิธีที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนแล้ว เสด็จฯ ยาตรากระบวนไปตามถนนพระเชตุพน ถนนมหาราช คืนสู่พระบรมมหาราชวัง
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
และต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถาลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระ เชตุพนวิมลมังคลารามโดยสถลวิถี
เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในรัชก่อนหน้า เพียงแต่ไม่ได้ให้หยุดเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลที่ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลาง
และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการวางหลักเกณฑ์การจัดกระบวนสำหรับเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราขึ้นใหม่
โดยแบ่งเป็น 9 กระบวนคือ กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน และกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน ประกอบด้วย กระบวนพยุหยาตรา(ใหญ่)สถลมารค กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) สถลมารค
กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค
กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค กระบวนราบใหญ่ทางเรือ กระบวนราบน้อยทางเรือ และกระบวนราบย่อ
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ไม่มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไม่มีการเสด็จเลียบพระนครคราวบรมราชาภิเษก มีแต่จัดเป็นกระบวนราบใหญ่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากเกยหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร
นอกจากการเสด็จเลียบพระนครเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระมหา กษัตริย์อาจเสด็จพระราชดำเนิน-
โดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคไปในพระราชพิธีที่สำคัญอื่นๆ อีกเช่น เมื่อ พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคไปทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์พระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
และเปิดวิถีสะพานพระพุทธยอดฟ้าในการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนครครบ 150 ปี แล้วเสด็จฯ กลับโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าไปยังฝั่งธนบุรี
ใน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค
จากพระบรมมหาราชวังไปถวายเครื่องสักการบูชาปูชนียวัตถุสำคัญที่วัดบวรนิเวศวิหารเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ