สารบัญ
ศิลปะโขนเรือและศิลปะนาวาสถาปัตยกรรม
๑๑.๑ ศิลปะโขนเรือ หัวเรือแต่ละลำในกระบวนพยุหยาตรา สลักเสลาด้วยความวิจิตร ดังนี้

“โขนเรือ” หรือ “หัวเรือ”มีทั้งที่สลักลงไปในบนหัวเรือ หรือไม่ก็นำมาประกอบเข้าทีหลัง ซึ่งก็เป็น ขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการขุดเรือเลย

การแกะสลักโขนเรือและลำตัวเรือเป็นลวดลายวิจิตรต่างๆนั้นเป็นงานประณีตที่ต้องอาศัยช่างสลักฝีมือดี มีความสามารถวางลายให้โดดเด่นและสอดรับกับชื่อของเรือด้วยดังเช่น โขนเรืออเนกชาติภุชงค์ ซึ่งสลักเสลา เป็นรูปนาคยามเรือแล่นไปบนคุ้งน้ำ ดูราวฝูงนาคแหวกว่ายสายธาร

ในกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เรือศีรษะสัตว์หรือเรือรูปสัตว์ จัดอยู่ในกลุ่ม “เรือเหล่าแสนยากร” มีการทำหัวเรือเป็นรูปศีรษะสัตว์อันเป็นเครื่องหมายของกรมกองต่างๆตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลักษณะ ศักดินา ซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถอีกด้วย เช่น เรือราชสีห์ อันเป็นตราสมุหนายก เรือม้า อันเป็นตราปลัดทูลฉลองมหาดไทย เรือเลียงผาเป็นตราปลัดทูลฉลองกลาโหม เป็นต้น

หลักฐานจากเอกสารต่างๆของชาวต่างชาติที่เดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา ยืนยันถึงความนิยมใช้เรือศีรษะสัตว์ ในราชสำนักได้เป็นอย่างดี เช่น บันทึกของราชทูตลังกาที่เดินทางมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บันทึกไว้ว่า “...เรือเหล่านี้ศีรษะเป็นรูปต่างๆ รูปราชสีห์บ้าง รูปหมีบ้าง รูปช้างบ้าง รูปกินนรบ้าง รูปมังกรบ้าง รูปจระเข้บ้าง รูปงูบ้าง รูปกระบือบ้าง รูปกวางบ้าง รูปนกยูงบ้าง รูปนกแขกเต้าบ้าง รูปนกพิราบบ้าง รูปนาคบ้าง รูปรากษสบ้าง ลำเรือมีลวดลายสลักปิดทองในเรือตั้งบุษบก คฤห์ แลกันยาทองผูกม่านปักฉัตร แลมีธงปัก ทั้งหัวเรือแลท้ายเรือ...”

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีรายงานการสำรวจของพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าพบซากโขนเรือรูปครุฑพ่าห์จำนวน ๑ องค์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของ เรือพระที่นั่งสำคัญลำหนึ่งในสมัยอยุธยา

หลังจากที่สลักเสลาโขนเรือรูปทรงต่างๆ อย่างประณีตแล้ว ยังมีขั้นตอนในการลงปิดทองประดับกระจก เป็นการเพิ่มความหรูหราสง่างามให้กับเรือพระที่นั่งได้อย่างดีอีกด้วย

ส่วนอื่นๆ เช่น ส่วนของผ้าที่บุเป็นหลังคาและผ้าม่านของกัญญาหรือพลับพลาที่ประทับกลางลำเรือ รวมทั้งฉัตรที่ตั้งอยู่ในเรือก็ล้วนเป็นผ้าที่ได้รับการออกแบบ และปักลวดลายอย่างละเอียดลออ

๑๑.๒ ศิลปะนาวาสถาปัตยกรรม

โดยรวมแล้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้นประกอบด้วยศิลปะหลากหลายแขนง ได้แก่ ศิลปะนาวา สถาปัตยกรรมในการออกแบบรูปทรงลำเรืออันสง่า ภูมิฐาน และได้ประโยชน์ใช้สอยอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่ง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเล จากองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ศิลปะจิตรกรรมในการออกแบบลวดลายและสีสันอันวิจิตรงดงาม มีท่วงท่าประณีตอ่อนช้อย ประติมากรรมในการแกะสลักให้เกิดความตื้นลึก มีแสงเงาศิลปะในท่วงท่า การพายเรืออย่างพร้อมเพรียงสง่างาม และศิลปะในการประพันธ์ การร้องบทเห่ที่มีถ้อยคำและท่วงทำนอง อันไพเราะก้องกังวาน พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคจึงสะท้อนภาพวัฒนธรรมอันงดงามสมบรูณ์แบบ ต่อเนื่องมาจากอดีต ควรที่ปวงชนชาวไทยทุกคนจะมีความภาคภูมิใจ และหวงแหนมรดกวัฒนธรรมนี้ ด้วยการอนุรักษ์และสืบทอดให้เจริญต่อไปชั่วกาลนาน

๑. นาวาสถาปัตยกรรม (NAVAL ARCHITECTURE) ซึ่งเป็นความงามในทางคิดสร้างสรรค์เรือ อันสุนทรีย์ และที่เรือนี้ศิลปกรรมทั้งสิ้นที่เป็น “ ศิลปะทรงรูป“ (Plastic Art) พร้อมอยู่ที่เรือนี้ คือ รูปแกะสลัก อันงดงามอันมัณฑนาการด้วยวัสดุประดับเป็นทองเป็นแก้วกระจกส่องแสงประกายเลื่อมประภัสสร โดยเฉพาะบุษบกเรือนยอดอันเป็นสถาปัตยกรรมชั้นสูงสง่างามดุจลอยหยาดฟ้าสู่ท้องนทีธาร

๒. ประติมากรรม (SCULPTURE) อันได้แก่ การแกะสลัก ปั้น รูปอนันตนาคราช สุพรรณหงส์ ครุฑ ฯลฯ อันเป็นสัตว์ในความเชื่อศรัทธาว่ามาจากป่าหิมพานต์ อันปรากฏในไตรภูมิ

๓. จิตรกรรม (PAINTING) อันได้แก่ การตกแต่งแต้มสีระบายสี อันทำให้องค์ประกอบในรูปเรือ งดงาม ชวนพิศ ชวนมอง กระบวนสง่างามยิ่งขึ้น

๔. มัณฑนศิลป์ (DECORATIVE ART) ได้แก่ การตกแต่งลวดลาย บังลังก์กัญญา ธงทิวปลิวสบัด ภู่เรือ และเส้า กระทุ้งเรือ พรั่งพร้อม สง่างามเฉิดบนท้องน้ำ

๕. การแต่งกายประจำชาติ (NATIONAL COSTUME) พลฝีพาย นายเรือ พลเห่ พลจังหวะ การแต่งกาย ของพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีลวดลาย สีสัน หุ้มด้วยแพรพรรณระยับจับแสง ล่องลอยไปเหนือน้ำ แสงส่อง สะท้อนน้ำจับลงไปบนผิวน้ำ เป็นภาพที่ตรึงตาตรึงใจ

๖. ดนตรี (MUSIC) เสียงเห่กล่อม ปี่กลอง ประกอบจังหวะ ทำให้ฝีพายส่งพายจ้วงน้ำ ยกพายขึ้น ดุจดังนกโผบินร่อนไปบนท้องน้ำ พายสีทองต้องแสงสะท้อนรับกับดนตรีอึงมี่ประกอบจังหวะกลอน ฟังไพเราะเสนาะโสต ดุจดั่งกระบวนแห่ขององค์อินทร์เสด็จลอยเลื่อนกระบวนเป็นระยะอย่างช้าๆ สง่างาม ในนภากาศ

๗. วรรณกรรม (LITERATURE) กระบวนเรือล่องลอยไปในท้องน้ำ ท่ามกลางแสงอาทิตย์อันสว่าง ลมปลิวพลิ้วมา ทำให้เสียงดนตรีก้องขึ้นประกอบกับ “ กาพย์เห่เรือ” อันเป็นวรรณศิลป์ ล้ำเลิศปลายสมัยอยุธยา ซึ่ง “ เจ้าฟ้าธรรมาธิบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)“ ทรงประพันธ์ไว้

๑๑
หน้า ๑๑ จาก ๑๑ หน้า