ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นริ้วกระบวนใหญ่แสดงความมั่งคั่ง โอ่อ่าของราชสำนักไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะของริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จ- พระนารายณ์มหาราชนั้น มีลักษณะสำคัญอันแสดงถึงเอกลักษณ์ในสมัยนี้ ดังต่อไปนี้
๖.๑ วัตถุประสงค์ของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัตถุประสงค์เพื่อการเสด็จพระพุทธบาทในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมบริเวณ จังหวัดสระบุรีปัจจุบัน กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์จะเสด็จเพื่อนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำ ทุกปี
ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีหลักฐานของกระบวนพยุหยาตราเพ็ชรพวง ซึ่งเป็นกระบวน เสด็จนมัสการพระพุทธบาท ดังนั้นวัตถุประสงค์สำคัญของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จ- พระนารายณ์มหาราช ก็คือ การเสด็จนมัสการพระพุทธบาท ดังเช่นบุรพกษัตริย์ในสมัยอยุธยาที่มีมาแต่ก่อนมา นอกจากนี้จากหนังสือ ประชุมพงศาวดารกรุงสยาม ภาคที่ ๘๒ ต้นฉบับของบริติซมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวถึง พระราชพิธีต่าง ๆในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา บางพระราชพิธีมีในสมัยรัชกาลอื่นๆ ที่มิใช่ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่อยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียง จึงน่าพออนุโลมถึงวัตถุประสงค์อื่น ๆ ของ ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นอกเหนือจากการเสด็จพระพุทธบาท อันเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ
วัตถุประสงค์ในพระราชพิธีเบญจาพิธ
วัตถุประสงค์ของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในพระราชพิธีเบญจาพิธ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จในพระราชพิธีเบญจาพิธพร้อมมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังที่ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพระยาจักรี ให้แต่งโรงราชพิธีเบญจาพิธและประดับด้วยราชวัติฉัตรธงอลงกตการมหามหรสพทั้งปวง และเมื่อแรก แต่งการพระราชพิธีเบญจพิธนั้น ให้พระเมืองขุนหมื่นคุมไพร่พลไปทางโรงพระราชพิธี และพระตำหนัก ตำบลมะขามหย่อง ในเดือนยี่นั้นพระท้ายน้ำ ขุนอมารินขุนหมื่นทั้งหลาย เห็นเป็นโชติรุ่งเรืองเป็นต้นตาล.... ครั้นแต่งการสำเร็จแล้ว ถึงวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๘ บาท พระบาทสมเด็จบรมบพิตร- พระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งครุฑพาหะ และประดับด้วยเรือดั้ง เรือกัน และเรือชัย เรือรูปสัตว์ ทั้งปวง และเรือท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุข แห่หน้าหลังคับคั่งเป็นอันมาก ครั้นเสด็จ ยังพระตำหนักตำบลมะขามหย่องแล้ว ก็ให้ประพฤติมงคลการ ๓ วัน.....
วัตถุประสงค์ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อเคลื่อนทัพตีเชียงใหม่
การเสด็จเพื่อเคลื่อนทัพตีเชียงใหม่ ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระบรมราชโองการให้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นแม่ทัพแทนพี่ชายไปตีเมืองเชียงใหม่ และพระราชทานพระราชอาญาสิทธิ์
เจ้าพระยาโกษารับพระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์แล้วลงเรือโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินมาเอง กระบวนพยุหยาตรานั้นรายเรียง เป็นขนัดโดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลัง เคลื่อนพลกระบวนแห่ไปโดยชลมารคถึงตำบลเพนียด แล้วเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ขึ้นจากเรือไปโดยกระบวนสถลมารคต่อไป เพื่อไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ
วัตถุประสงค์ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลทางมารคในการรบ
ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและทางสถลมารคเพื่อยกทัพตีหัวเมืองนั้น กระบวนพยุหยาตรา ก็ตกแต่งอย่างวิจิตรและเต็มรูปแบบกระบวน ดังเช่นที่กล่าวว่า “...ก็เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่งวิจิตรพิมาน- กาญจนมณีศรีสมรรถชัย อันอำไพด้วยบวรเศวตฉัตร ขนัดอภิรุมชุมสายพรายพรรณ บังพระสุริยัน บังแทรกสลอนสลับ สรรพไปด้วยกรรชิงกลิ้งกลดจามรมาศดาษดา ดูมเหาฬารพันลึก.....รายเรียงเป็นระยะ โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ.....”
วัตถุประสงค์ในเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สองเมื่อพ.ศ. ๒๒๐๙ โปรดประทับอยู่ที่ ลพบุรี ปีละ ๘ – ๙ เดือน จะมีเพียงวสันตฤดูเท่านั้นที่เสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นเทศกาลนมัสการพระพุทธบาทในเดือน ๓ นั้น จะยังทรงประทับอยู่ ณ เมืองลพบุรี
ในคราวนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปยังเมืองลพบุรีเนือง ๆ และเสด็จไปประพาส ตำบลสระแก้ว แล้วให้กระทำพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี และเสด็จสำราญพระทัยอยู่ในที่นั่น และดำรัสให้ทำคลองปากจั่นออกจากสระแก้ว ขุดเป็นคลองไขน้ำมาแต่ทเลชุบศร ถึงคลองปากจั่น สระแก้วนั้น และสร้างพระราชนิเวศน์ไว้ที่นั่น
วัตถุประสงค์ในการเสด็จกลับจากประพาสนครสวรรค์
ในครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ เมื่อจุลศักราช ๑๐๒๐ ครั้นเสด็จกลับจาก นครสวรรค์ ทรงแวะประทับที่พิษณุโลกแล้ว ทรงเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพิษณุโลกมาโดยชลมารค กลับกรุงศรีอยุธยา ดังนี้ “เมื่อจุลศักราช ๑๐๒๐ ปีจอ สัมฤทธิศก เดือนอ้าย จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตร- พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จพระที่นั่งชลวิมานกาญจนบวรนาวา ไปประพาส ณ เมืองนครสวรรค์ จึงพระยาจักรี กราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพิษณุโลก มาโดยทางชลมารคด้วยพระชลวิมาน พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาหาญ แห่แหนเป็นขนัดโดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังเสร็จ...”
วัตถุประสงค์ในเส้นทางเรือในพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพ
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพนักงานจัดแจงการอัญเชิญพระบรมศพใส่ใน พระโกศ แล้วตระเตรียมการอีก ๗ วัน จะอัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงกำหนดสมเด็จ- พระเพทราชากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา ก็อัญเชิญพระบรมโกศลงสู่เรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย แห่พยุหยาตรา ทางชลมารคไปยังกรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระเพทราชาก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน พร้อมด้วย ราชาวงศานุวงศ์และเสนาอมาตย์เป็นกระบวนแห่หน้าหลังคับคั่งทางชลมารค แล้วเคลื่อนพยุหยาตรา จากเมืองลพบุรีมายังพระนครศรีอยุธยา ถึงท่าน้ำพระราชวังหลวง
๖.๒ ลักษณะริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ – พ.ศ.๒๒๓๑) ได้มีการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค สำหรับการเสด็จในพระราชกรณียกิจต่างๆ ทางชลมารค ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสือ ที่มีชื่อว่า “ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” จากหนังสือริ้วกระบวน แห่พยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทำให้ทราบว่ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดว่าเป็นริ้วกระบวนใหญ่ แสดงความมั่งคั่งโอ่อ่าของราชสำนักไทย ในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับริ้วกระบวนเรือในสมัยหลังๆ จะพบได้ว่าค่อยๆ ตัดถอน ลงไปเรื่อยๆ เพราะเรือชำรุดไปตามกาลเวลาบ้าง ไม่มีผู้รู้จัดทำขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแบบโบราณบ้าง จึงเหลืออยู่พอที่จะรักษาไว้ได้เท่านั้น
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดเป็นกระบวนใหญ่ในประวัติศาสตร์ ของไทยเลยทีเดียว มีหลักฐานที่ชาวต่างชาติบันทึกไว้ว่า
“ถ้าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารค การจัดตั้งริ้วขบวนน่าดูมากกว่าทางบก และไม่สามารถ จะพรรณนาได้ถูกถ้วน ว่ามีความมโหฬารพันลึกสักเพียงไหน นอกจากจะนำไปเปรียบเทียบกับงานแห่ เจ้าเมืองเวนิช ในพิธีไปอภิเษกกับแม่พระสมุทรเท่านั้น มีเรือตั้งกว่าสองร้อยห้าสิบลำจอดเรียงราย อยู่เป็นระยะสองฝากฝั่งแม่น้ำ ในจำนวน ๒๐ หรือ ๓๐ ลำ ดังที่หลวงพ่อตาชาร์ด (R.P.Tachard) ได้กล่าวไว้ในบันทึกการเดินทางของท่านแล้วนั้น นำเรือพระที่นั่งทรงเป็นคู่ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายพวกแขนแดงซึ่งมีความชำนาญมาก และได้รับเลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษ ทุกคนถือหมวก เสื้อเกราะ ปลอกเข่าและปลอกแขนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น น่าดูแท้ๆ เวลาเขาพายพร้อมๆ กันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นทาทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเบาๆ ประสานกับทำนองเพลงที่เขาเห่ยอพระเกียรติ พระเจ้าแผ่นดิน เป็นคล้ายเสียงดนตรีที่เสนาะโสตของพวกชาวบ้านชาวเมืองเป็นอันมาก”
นอกจากความยิ่งใหญ่ตระการตาของกระบวนเรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความวิจิตรสร้างความ ตื่นตาตื่นใจอย่างมากแก่ผู้พบเห็น ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้นำภาพลำที่แปลกที่สุดไว้ให้ดู ณ ที่นี้ด้วยแล้ว กราบเรือนั้นปริ่มน้ำอยู่ และหัวเรือกับท้ายเรือนั้นงอนขึ้นไปสูงมาก เรือบัลลังก์เหล่านี้ ส่วนใหญ่หัวเรือ ทำเป็นรูปม้าน้ำ (Chevaux Marins) นาคราชและสัตว์ต่างๆ มีแต่ตอนหัวเรือกับท้ายเรือเท่านั้นที่ทาสี และปิดทอง ส่วนที่เหลือนั้นแทบจะไม่ได้โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเลย บางประดับเป็นภาพต่างๆ ด้วยวิธี ฝังเกล็ดมุกบนเรือเหล่านี้มีผูกราวหมื่นสี่พันคน”
ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น กระบวนพยุหยาตราที่เสด็จพระราชดำเนินพระพุทธบาทนั้น มีหลักฐานบันทึกรายละเอียด ไว้อย่างชัดเจน กระบวนพยุหยาตราในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกว่า หนังสือ “กระบวนพยุหยาตราเพ็ชรพวง”
กระบวนพยุหยาตราเพชรพวงเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ โดยจัดเป็นกระบวนต่างๆ ทั้งทางสถลวิถี และทางชลวิถี ได้แก่ กระบวนพยุหยาตราช้าง กระบวนพยุหยาตราม้าและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ระเบียบวิธีการจัดกระบวนพยุหยาตราเพชรพวงทั้ง ๓ รูปแบบดังกล่าวนั้น เป็นเอกสารในรูปหนังสือ สมุดไทย ซึ่งคัดมาจากฉบับครั้งเก่าพุทธศักราช ๒๒๑๙ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ตามที่ปรากฏในสมัยอยุธยาเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่เต็มรูป ถ้าเป็น กระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค องค์ประกอบของกระบวนจะแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ กระบวนหน้า หรือกระบวนนำ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศ เป็นกระบวนกลาง และกระบวนหลังหรือกระบวน ทหารตาม ทั้งสามกระบวนนี้ ประกอบ ด้วยริ้วกระบวน ได้แก่ สายกลาง ๑ สาย ซึ่งเป็นสายพระราชยาน และมีริ้วกระบวนซ้ายขวากระหนาบอยู่ริ้วละ ๘ สาย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เรียกกระบวนพยุหยาตราใหญ่ ทางสถลมารคว่า กระบวนพยุหยาตรา ๔ สายบ้าง กระบวนพยุหยาตรา ๘ สายบ้าง
ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจัดเป็นกระบวนเรือใหญ่ เต็มรูปแบบ ซึ่งลักษณะริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้มีการจัดกระบวนเรือไว้ถึง ๕ กระบวน ซึ่งประกอบด้วยกระบวนทหารกองนอก ได้แก่ กระบวนที่ ๑ และกระบวนที่ ๕ กระบวนทหารรักษาพระองค์ คือ กระบวนที่ ๒ และกระบวนที่ ๔ ส่วนกระบวน ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนที่ ๓ เป็นกระบวนเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์
เนื่องจากกระบวนเรือมีหลายกระบวน และแต่ละกระบวนมีจำนวนเรือหลายลำ จึงมีความจำเป็นต้อง จัดวางตำแหน่งของเรือที่เข้ากระบวน ให้มีริ้วขบวนที่เป็นระเบียบ และให้มีความลดหลั่นตามขนาด และความสำคัญของเรือ รวมทั้งความสำคัญของผู้ที่อยู่ในกระบวนต่างๆ อีกด้วย โดยมุ่งให้กระบวนเรือนี้ มีความสัมพันธ์กัน ให้มีความงดงาม โอ่อ่า และพริ้งพรายทุกขณะที่เคลื่อนกระบวน เป็นการแสดง แสนยานุภาพและพระเกียรติยศของพระมหากษัตราธิราช
การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราแต่เดิมมี ๒ แบบ คือ กระบวนพยุหยาตราใหญ่ และ กระบวนพยุหยาตราน้อย กระบวนทั้ง ๒ แบบนี้ มีเหมือนกันทั้งกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และ พยุหยาตราทางชลมารคส่วนกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของกระบวนพยุพยาตราใหญ่ เต็มรูปนั้น ได้หมดไปตามสภาพและสถานการณ์ของบ้านเมือง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ไม่มีการจัด กระบวนพยุหยาตราเพชรพวงอีกแล้ว
ระเบียบการจัดกระบวนเรือ ตามลำดับของกระบวนที่ ๑ ถึงกระบวนที่ ๕ มีดังต่อไปนี้ ตอนที่ ๑ กระบวนนอกหน้า ได้แก่ ทหารกองนอก เรือในกระบวน ประกอบด้วย เรือพิฆาฏ ๖ ลำ เข้าคู่ ๓ คู่ เป็นเรือซึ่งพวกขุนศาล หรือข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่ได้กำหนดชื่อลงประจำเรือทั้ง ๖ ลำ เรือแซ ๑๐ ลำ เข้าคู่ ๕ คู่ ชื่อของเรือแซ และชื่อผู้ลงประจำเรือมีดังนี้
ซ้าย | ขวา | |
คู่ที่ ๑ | แซสรสินธุ | แซศักดิบวร |
สมิงเพชน้อย | สมิงนครอิน | |
คู่ที่ ๒ | แซอนนตสมุทร | แซวิพรรธชล |
พญาพระราม | พญาเกียรติ | |
คู่ที่ ๓ | แซศรีสมุทร | แซวรวารีย์ |
หลวงทองสื่อ | พระโชดึก | |
คู่ที่ ๔ | แซพิพัฒสาคร | แซสินธุสวัสดิ์ |
พระสมบัติบาล | ||
คู่ที่ ๕ | แซจบสาคร | แซไชยานพ |
พญาจุลา | หลวงศรียศ |
เรือชัย ๒๐ ลำ เข้าคู่ ๑๐ คู่ ชื่อเรือชัยและชื่อกรมประจำเรือมีดังนี้
ซ้าย | ขวา | |
คู่ที่ ๑ | ตามชมไชยเทเพน | ขันทฉาวทรเนน |
คู่ที่ ๒ | สุพรรณดาวใหญ่ซ้าย | ไชยาขัน ใหญ่ขวา |
พระพิเรนทร์ | อินทรเทพ | |
คู่ที่ ๓ | ไชยเขจรภาซี ม้าซ้าย | ไชยอัศวบวร ม้าขวา |
หลวงทรงพลราช | หลวงปราบพลแสน | |
คู่ที่ ๔ | ไชยฦายิ่ง ช้างซ้าย | ไชยฦาชะนะ ช้างขวา |
วังเมืองยิ่งยงหาญ | วังเมืองอาจไอยรา | |
คู่ที่ ๕ | ไชยทญานทิพสัศดีซ้าย | ไชยอธิการ สัศดีขวา |
หลวงศรีกลาสมุท | หลวงเทพา | |
คู่ที่ ๖ | เกิดฦาไชย อาษาซ้าย | ไชยภูเลิด อาษาขวา |
พระยารามคำแหง | พระยาภิไชยสงคราม | |
คู่ที่ ๗ | สะฦาไชย เขนทองซ้าย | ไชยชำนะ เขนทองขวา |
พระยาวิชิตณรงค์ | พระยาภิไชยโนฤทธิ์ | |
คู่ที่ ๘ | ไชยพิศณุ | ไชยเรืองฤทธิ์ |
พระยาเดโช | พระยาท้ายน้ำ | |
คู่ที่ ๙ | ไชยนัดทีหวั่น | ไชยไหว้ธรณี |
กรมนา | กรมเมือง | |
คู่ที่ ๑๐ | ไชยขจร | ไชยนคร |
กรมคลัง | กรมวัง |
เรือรูปสัตว์ ๔ ลำ เข้าคู่ ๒ คู่ ปิดท้ายกระบวนนอกหน้า
ซ้าย | ขวา | |
คู่ที่ ๑ | ราชสีห์น้อย | คชสีห์น้อย |
พระยามหาอำมาตย์ | พระยาสุรเสนา | |
คู่ที่ ๒ | ราชสีห์ใหญ่ | คชสีห์ |
สมุหะนายก | สมุหะพระกะลาโหม |
ระหว่างกระบวนนอกหน้าและกระบวนในหน้า มีเรือประตูรูปสัตว์ คั่น ๒ ลำ เรียงลำ ๑ คู่ คือ
ซ้าย | ขวา | |
ม้าใหญ่ | เลียงผาใหญ่ | |
ราชนิกูล | เทพอรชุน |
ตอนที่ ๒ กระบวนในหน้า ได้แก่กระบวนทหารรักษาพระองค์ เรือในกระบวนประกอบด้วย เรือรูปสัตว์ ๒๔ เรียงลำเข้าคู่ ๑๒ คู่ ดังนี้
ซ้าย | ขวา | |
คู่ที่ ๑ | หัวเรือรูปกระบี่ สุระพิมาร | อังหมะ |
หลวงพรหมนาวา | หลวงอินนาวา | |
คู่ที่ ๒ | หัวเรือรูปนกอินทรี | |
อินทรีทิพย์ | สินธุปักษี | |
คู่ที่ ๓ | หัวเรือรูปนกหัสดิน | |
รำไภยบิน | วิคาไลย | |
คู่ที่ ๕ | หัวเรือรูปนกหงอนตั้ง | |
บินอากาศ | ปักษีถวิล | |
คู่ที่ ๖ | หัวเรือรูปสิงโต | ตำรวจอยู่ประจำเรือ |
โตจบภบไตร | โตมะหามะหอระนบ | |
คู่ที่ ๗ | หัวเรือรูปกิเลน | |
คงคากะริน | อุทกธารา | |
สิทธิสำแดงรณ | ศรสำแดงฤทธิ์ | |
คู่ที่ ๘ | หัวเรือรูปสิงห์ | |
สิงหาศนาวา | สิงหะรัตนาต | |
คู่ที่ ๙ | หัวเรือรูปมกร | |
มกรมะหามะหรรนพเดช | มกรมะหามะหัศจรรย์ | |
คู่ที่ ๑๐ | หัวเรือรูปนาค ๓ เศียร | |
นาคนายก | นาคอุดรราช | |
คู่ที่ ๑๑ | หัวเรือรูปเหรา | |
นาควาสุกรี | นาคเหรา | |
จหมื่นศรีเสาวรักษ์ | จหมื่นสรเพชภักดี | |
คู่ที่ ๑๒ | หัวเรือรูปครุฑ | เรือครุธคู่ชัก |
ตั้งแต่เรือรูปหัวสิงห์ ซึ่งเป็นเรือคู่ที่ ๘ ของกระบวนในหน้าถึงเรือประตูชั้นในหลังมีม้าแซงกันซ้ายและขวา อยู่บนบก ข้างละ ๒๐ ม้า นอกจากนี้ ตั้งแต่เรือรูปนาคสามเศียร ซึ่งเป็นเรือรูปสัตว์ คู่ที่ ๑๐ ถึงหน้ากระบวนเรือ พระราชยาน จะมีเรือโขมดญาซ้อนสายนอก เป็นเรือกันสายนอก คู่ซ้ายขวา มีจำนวน ๑๐ ลำ เรียงคู่ได้ ๕ คู่ และเรือคู่ที่ ๕ นี้ เกือบจะอยู่ในแนวเดียวกับเรือต้นกระบวนพระราชยาน เรือโขมดญา ๑๐ ลำ ซึ่งเป็นเรือกัน ในช่วงนี้ มีดังนี้
คู่ที่ ๑ | โขมดญาเกนหัดอย่างฝรั่ง | |
คู่ที่ ๒ | โขมดญาอาษาวิเศศ | |
คู่ที่ ๓ | โขมดญาตำรวจใหญ่ | |
คู่ที่ ๔ | โขมดญาตำรวจใน | |
คู่ที่ ๕ | ทองแขวนฟ้าโพเรียง | กันซ้าย |
ทองแขวนฟ้าบ้านใหม่ | กันขวา |
ต่อจากเรือรูปสัตว์เข้ามา จะถึงเรือประตูหน้าชั้นใน ๒ ลำ ๑ คู่ คือ เรือเอกชัย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า
เอกะไชยพื้นดำ | เอกะไชยพื้นดำ | |
ไชยบวรสวัสดิ | ไชยรัตนพิมาร |
ตำรวจใหญ่ซ้ายและขวา ลงประจำเรือ และเรือเอกชัยทั้ง ๒ ลำ นี้เป็นเรือประตู ซึ่งคั่นระหว่างกระบวนในหน้า และกระบวนพระราชยาน
ตอนที่ ๓ กระบวนเรือพระราชยาน เป็นริ้วเรือพระที่นั่ง ซึ่งเรียงลำแถวเดียวในสายกลาง รวม ๗ ลำ ดังนี้
๑. | เรือพระธี่นั่งชลวิมารไชย ดั้งชั้น ๕ กิ่งพื้นดำ |
๒. | เรือพระธี่นั่งไกรษรมาศ ดั้งชั้น ๔ กิ่งพื้นดำ |
๓. | เรือพระธี่นั่งศรีพิมารไชย ดั้งชั้น ๓ กิ่งพื้นดำ |
๔. | เรือพระธี่นั่งไกรแก้วจักรรัต ดั้งชั้น ๒ กิ่งพื้นดำ เรือพระธี่นั่งลำนี้เป็นเรือทรงพระเทวกรรม |
๕. | เรือพระธี่นั่งษรพรหมชัยดั้งชั้น ๑ กิ่งพื้นแดง เป็นเรือทรงพระไชยวัฒน |
๖. | เรือพระธี่นั่งศรีสามาถไชย เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ของพระมหากษัตริย์ หมื่นนักษราชถือธงหน้าเรือ กิ่งพื้นดำ |
๗. | เรือพระธี่นั่งไกรษรมุข เป็นเรือสำรอง กิ่งพื้นดำ |
จากนั้น มีเรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือสำรองอยู่สายใน ๑ คู่ ๒ ลำ คือ
๑. | เรือพระธี่นั่งไกรษรจักร์ กิ่งพื้นดำ | กันซ้าย |
๒. | เรือพระธี่นั่งศรีสุนทรไชย กิ่งพื้นดำ | กันขวา |
ต่อจากนั้นเป็นตำแหน่งของเรือประตูหลังชั้นใน คั่นระหว่างกระบวนเรือพระราชยานและกระบวนในหลัง เรือประตูคู่นี้เป็นเรือตำรวจนอกซ้ายขวา เรียกว่า
๑. | เรือเอกไชยเหินหาว และ |
๒. | เรือเอกไชยหลาวทอง |
ตั้งแต่เรือพระที่นั่งกิ่งสำรอง ๒ ลำ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงเรือเอกชัย ซึ่งเป็นเรือประตูชั้นในหลัง ๒ ลำ ๑ คู่ นั้น จะมีเรือโขมดญากันสายนอกซ้ายขวา จำนวน ๔ ลำ ๒ คู่
คู่ที่ ๑ | โขมดญาทหารใน | กันซ้ายขวา |
คู่ที่ ๒ | โขมดญาสัศดี | กันซ้ายขวา |
ตอนที่ ๔ เรือกระบวนในหลัง เป็นกระบวนเรือของกองทหารรักษาพระองศ์มี ๓ ริ้ว กล่าวคือ ริ้วกลางมีเรือพระที่นั่งเอกชัย เรียงลำ ๒ ลำ คือ
๑. | เรือพระธี่นั่งเอกะไชยพื้นแดง เป็นเรือทรงของกรมพระราชวังบวร | |
๒. | เรือพระธี่นั่งเอกะไชยพื้นดำ เป็นเรือทรงของเจ้าต่างกรม |
ส่วนริ้วด้านข้างซ้ายขวา ขนาบริ้วกลางนั้น เป็นเรือรูปสัตว์ ๖ ลำ ๓ คู่ ดังนี้
คู่ที่ ๑ | หัวเรือรูปมกร | |
มกรจบจักรพาฬ | มกรเตรจไตรภบ | |
พระอินทร์รักษา | พระพรหมสุริน | |
คู่ที่ ๒ | หัวเรือรูปนาคสามเศียร | |
นาคตบองรัตน | นาคจักรทาทวนทอง | |
จหมื่นเสมอใจราช | จหมื่นเสมอใจราช | |
คู่ที่ ๓ | หัวเรือรูปสิงโต | |
โตฤทธิพิไชย | โตแห่งอาทิตย์ |
ต่อจากเรือรูปสัตว์ออกไป จะถึงตำแหน่งของเรือประตูชั้นนอกหลัง ๒ ลำ เป็นเรือหัวรูปม้าน้ำและเลียงผา ๑ คู่
เรือม้าน้ำ | เรือเลียงผา | |
หมื่นศรีสะหะเทพ | หมื่นนรินทรเสนี |
เรือประตูนี้ คั่นกระบวนในหลัง และกระบวนนอกหลัง
ตอนที่ ๕ เรือกระบวนนอกหลัง ได้แก่เรือกระบวนทหารกองนอกประกอบด้วยเรือแซ ๖ ลำ ๓ คู่ และเรือพิฆาฏ ๔ ลำ ๒ คู่
เมื่อรวมจำนวนเรือทุกประเภทที่อยู่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง ๔ กระบวนนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า มีเรือทั้งหมด ๑๑๓ ลำ และมีม้าแซงซ้ายขวาอยู่บนบก ๔๐ ม้า
๖.๓ เส้นทางริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเส้นทางริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือเส้นทางที่เสด็จจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงกระทำพระราชกรณียกิจและประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เส้นทางเหล่านี้หากเริ่มจากที่ทรงประทับในพระนคร จักต้องไปมีสถานที่เก็บเรือพระที่นั่ง หรือที่เรียกว่าโรงเรือพระที่นั่ง สำหรับโรงเรือพระที่นั่งในพระนครศรีอยุธยานั้น ตามหนังสือโบราณ กล่าวไว้ว่า อยู่ที่ใต้วัดเชิงท่าในแผนที่ในหนังสือมองสิเออร์ลาลูแบร์ซึ่งเป็น ราชทูตเชิญพระราชสาส์น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ก็ลงไว้ในที่ตรงนั้น กับลงไว้ว่าที่เหนือป้อมเพ็ชรขึ้นมาตรงหน้าวัดพนัญเชิงข้ามเป็นอู่เรือทะเลด้วย ในที่ระหว่างตั้งแต่วัดเชิงท่าไปวัดพนมโยงนั้น ชาวบ้านซึ่งอยู่ในเวลานี้ ผู้ที่ได้รับคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ก็ว่าเป็นที่โรงเรือหลวงยังมีลำรางอยู่ลำหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่าดูไม้ร้อง ก็คงจะเป็นอู่ที่เอาเรือหรือ มาดเรือพระที่นั่งไว้นั่นเอง
เส้นทางริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปรากฏอยู่ในพระราชพิธีต่างๆ ดังนี้