สารบัญ
ลักษณะกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต

ในสมัยสุโขทัยปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น โดยปรากฏเพียง ชื่อเรือพระที่นั่ง ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดถึงริ้วกระบวนเรือ ดังนั้นในสมัยสุโขทัยจึงทราบแต่เพียงเรือพระที่นั่ง ครั้นกรุงศรีอยุธยาสามารถทราบลักษณะกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้ละเอียดจากหนังสือลิลิตกระบวน แห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทาง ชลมารคแต่ครั้งกรุงเก่า ทำให้ทราบถึงกระบวนเรือซึ่งมีแบบมาแต่ครั้งกรุงเก่า ซึ่งเรือลำดับตั้งแต่ลำหน้ากระบวน ไปจนถึงท้ายสุดคือ

  • ๑. เรือประตู ๑ คู่ ของพระเทพอรชุนและพระราชนิกุล
  • ๒. เรือกราบ ซึ่งมีฝีพายสวมกางเกงและเสื้อมงคลสีแดงและดำ
  • ๓. เรือเสือทยานชล ของหลวงเดชสำแดง และเรือเสือคำรณสินธุ์ ของหลวงแสงศรสิทธิ์ ผู้นั่งท้ายลำทั้งสอง สวมเสื้ออัตลัต นุ่งผ้าสองปัก(สมปัก) คาดรัดประคด ศีรษะ โพกขลิบทองตรงกลางลำตั้งคฤห์สองชั้น ที่เสาคฤห์ มีอาวุธผูกไว้เป็นคู่ๆ คือ ทวน เขน ง้าว เสโล กระบี่ ที่หัวเรือตั้งปืนขานกยางลำละ ๑ กระบอก มีฝีพาย ๓๐ คน ล้วนนุ่งกางเกงสวมเสื้อสนอบสีแดง ศีรษะสวมมงคลแดงผ้าพื้นปัศตู
  • ๔.เรือแซจรเข้ชนิดคนองน้ำ และเรือแซจระเข้คำราม เป็นเรือพม่าอาสา
  • ๕.เรือแซพิพัทธชล และเรือแซอานนท์สมุท เป็นเรือของพวกมอญกองอาสาอาทมาต
  • ๖.เรือแซช้าง ชื่อ สดำคชรำบาญยืน และคชสารสินธุ เป็นเรือพวกมอญอีก พวกมอญ นุ่งผ้าอย่างมอญ ศีรษะ โพกผ้าขลิบ สวมเสื้อสนอบเป็นผ้าอัตลัต ฝีพาย ศีรษะสวม มงคล สวมเสื้อและกางเกงสีแดง เรือแซนี้ ท้ายเรือ ปักธงรบสีแดงทุกลำ
  • ๗.เรือกราบ ของเจ้ากรมทั้งหกเหล่า
  • ๘.เรือกลองแขก นำระหว่างเรือแซคู่
  • ๙.เรือกราบ ของปลัดตำรวจ มีสนมนอก ๔ กรม ลงประจำเรือลำละกรม
  • ๑๐.เรือสาง ยาว ๙ วา ชื่อ เรือชาญสินธุ์ และคำแหงหาญ
  • ๑๑.เรือกิเลนลอยบนสินธุ์ และเรือกิเลนลินลาสมุทร
  • ๑๒.เรือมังกรจำแลง และเรือมังกรแผลงฤทธิ์
  • ๑๓.เรือเหราสินธุลอยล่อง และเรือเหราท่องทางสมุทร
  • ๑๔.เรือโตขมังคลื่น และเรือโตฝืนสมุทร เรือรูปสัตว์เหล่านี้ฝีพายใส่เสื้อแดง กางเกงแดง และสวมมงคลแดง ที่ทำจากผ้าปัศตู นายลำนุ่งผ้าสมปัก สวมเสื้ออัตลัต ศีรษะโพกผ้าขลิบทอง คาดรัดประคด ทนายปืน สวมเสื้อ กางเกงผ้าปัศตูสีแดง สวมหมวกกลีบลำดวนขลิบโหมด
  • ๑๕.เรือคฤห์อสุราชวายุภักษ์ และเรือคฤห์อสุรปักษีสมุทร เป็นเรือที่มีหัวเรือ สลักเขียนลายรดน้ำ ปิดทอง ฉลุลาย ตั้งคฤห์ ซึ่งมีเสาผูกอาวุธต่างๆอย่างละคู่ เช่น กระบี่ เสโล เขน ทวนพู่ ๓ ชั้น และง้าว หัวเรือตั้งปืนจ่ารงลำละกระบอก ฝีพายสวมเสื้อปัศตูสีแดงขลิบโหมด สวมกางเกงแดง ศีรษะสวมมงคล
  • ๑๖.เรือกราบกัญญาของปลัดตำรวจ ฝีพายสวมเสื้อกางเกงสีแดงย้อมจากครั่ง ศีรษะสวมมงคลสีแดง
  • ๑๗.เรือคฤห์ ครุฑเหิรเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร หลังคาคฤห์คาดผ้าแดงมีเชิง และชายรอบๆ ตรงกลางปักเป็นลายดาวกระจายด้วยทองแผ่ลวด
  • ๑๘.เรือเอกไชยเหิรหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชักนำหน้าเรือขบวน
  • ๑๙.เรือรูปสัตว์ ๕ คู่ เขียนลายรดน้ำ
  • ๒๐.เรือศรีสุนทรไชย ตั้งบุษบกอัญเชิญผ้าไตรกฐิน ฝีพายสวมเสื้อปัศตูสีแดง แขนจีบ กางเกงยกเขียว สวมหมวกกลีบลำดวน ขุนหมื่นตำรวจรอบบุษบกนุ่งผ้าสมปัก สวมเสื้อ ครุยสีขาว
  • ๒๑.เรือกลอง ฝีพายสวมใส่มงคล สวมเสื้อกางเกงผ้าปัศตูสีแดง
  • ๒๒.เรือพระที่นั่งชลพิมานไชย ตรงกลางตั้งบัลลังก์บุษบก มีม่านกั้นนักสราชเชิญธงห้าแฉก
  • ๒๓.เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ มีปืนจ่ารงที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของรูปครุฑ มีฝรั่งกำกับปืน ๓ นายคือ พระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะทุกทิศ และหลวงฤทธิราวี มีจมื่นสรรเพชรภักดี และจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช และจมื่นไวยวรนารถ อยู่ประจำหน้าพระที่นั่งที่บัลลังก์นี้มี เครื่องราชูปโภคทอดไว้ เช่น พระล่วมมณฑป พระแสงดาบต้น กระดานชนวน หม้อลงพระบังคน ธารพระกร (หัตถ์ธาร) พระสุพรรณราช และพระสุพรรณศรี ทั้งยังมีวิชนีเครื่องสุธารสชา ชุดกล้อง เข้าใจว่าเป็นกล้องยาสูบ เชิงเทียน พระเต้าน้ำ และพระสุพรรณภาชน์สองชั้น ส่วนนอกบัลลังก์ด้านหน้าผูกพระแสงปืนคาบศิลา ขนาดยาวสิบคืบประดับลวดลาย คร่ำทองเป็นปืนที่ใช้ลูกปืนขนาดหกบาท พนักงานประจำปืนชื่อ พระยาอภัยศรเพลิง หลวงเสน่ห์ศรวิชิต และหลวงสนิทอาวุธ มีเจ้ากรมพระศุภรัต ชื่อ หลวงสุนทรภิรมย์ และจางวางพิชัยพลระดม ที่ท้ายที่นั่งนอกม่าน มีมหาดเล็ก ๒ คน มีเวรพนักงาน พระภูษามาลาเชิญ พระกลด ๒ คน และมีแพทย์หลวงอีก ๒ คน คือ หมอยาทิพจักร และ หมอนวดราชรักษา
  • ๒๔.เรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง ผลัดเปลี่ยนกับเรือเหราข้ามสมุทร คือ ถ้าใช้เรือ พระที่นั่งไชยก็ใช้เรือเหราเป็นเรือพระที่นั่งรอง ถ้าใช้เรือพระที่นั่งครุฑเป็น ลำทรง ก็จะใช้เรือพระที่นั่ง ครุฑน้อยเป็นพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งรองนี้จะประดับ เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งทรง แต่ผิดกันตรงพาย ที่จะใช้พายทองร่องชาด มีนักสราชเชิญธงสามชายอยู่ที่ทั้งด้านหัวเรือและท้ายเรือที่บัลลังก์บุษบกตั้งผ้าไตร มีพนักงานศุภรัต ๒ คน เฝ้า ชื่อ จมื่นวิสุทธสมบัติและ จมื่นรัตนโกษา
  • ๒๕.หมู่เรือกราบกัญญา ของเจ้ากรมพระตำรวจ ตลอดจนปลัดกรม
  • ๒๖.เรือขององครักษ์ กรมทหารใน
  • ๒๗.เรือประตูหลัง ของพระนรินทร์เสนา ลำขวา และพระยาศรีสหเทพลำซ้าย
  • ๒๘.เรือดั้งพระเสลี่ยง
  • ๒๙.เรือพระกลดคันยาวทรงเทริด
  • ๓๐.เรือรองขนดเชือก มีพันจันท์ เป็นเวร
  • ๓๑.เรือแสงสรรพยุทธ มีพนักงานเชิญพระเก้าอี้ยาน
  • ๓๒.เรือตาร้าย กั้นประทุนและแผง สำหรับบรรทุกปืนคาบศิลา และ ลูกปืน มีหมื่นก่งศิลป์และหมื่นก่งศร คุม
  • ๓๓.หมู่เรือเจ้าต่างกรม เป็นเรือกราบกัญญา มีผ้าผูกโขนเรือ และ พู่ประดับ
หน้า จาก ๑๑ หน้า