การเห่เรือ เป็นทำนองหนึ่งของการร้องหรือออกเสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือซึ่งเป็น องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ช่วยผ่อนแรงในการพายเรือ ระยะทางไกลๆได้อีกด้วย
๙.๑ วัตถุประสงค์ของการเห่เรือในปัจจุบันการเห่เรือมีวัตถุประสงค์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ การให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมากในการพายเรือ พระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคให้พร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างาม และเป็นไปเพื่อความ สนุกสนานเพลิดเพลิน หรือปลุกเร้าฝีพายให้มีกำลังฮึกเหิม ไม่เหน็ดเหนื่อยง่ายอันจะส่งผลให้เกิดพลังและ กำลังใจในการยกกระบวนพยุหยาตราเพื่อออกไปทำสงครามป้องกันพระราชอาณาเขต
และอีกประการหนึ่งการเห่เรือเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่เกี่ยวกับพระราชประเพณี ดั้งเดิมในการใช้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย ให้คงอยู่สืบไป
๙.๒ ประวัติความเป็นมาของการเห่เรือบทเห่เรือ ของเรือกระบวนหลวงแต่โบราณใช้บทใดในการเห่ยังไม่สามารถระบุได้ แต่สำหรับบทที่ใช้ เห่เรือกระบวนหลวงในปัจจุบันนี้ เอาบทเห่เรือเล่นของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ โดยทรงแต่งเมื่อตอนปลาย สมัยกรุงศรีอยุธยา และพึ่งเอามาใช้เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์
การเห่เรือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งได้ปรากฏหลักฐาน ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีลอยพระประทีปก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานเป็น ลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานว่า การแห่เรือ น่าจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วก็เป็นได้ แต่ในที่นี้จะกล่าวเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานแล้วเท่านั้น คือ
๙.๓.๑ สมัยกรุงอยุธยา
สมัยอยุธยาตอนต้น ปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งได้บรรยายถึงการยกกระบวน พยุหยาตราทัพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งทางสถลมารค และทางชลมารคอย่างยิ่งใหญ่
สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารคอย่างสม่ำเสมอ ทุกรัชกาล ดังปรากฏหลักฐานการบันทึกรายละเอียดไว้ชัดเจนในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่อง กระบวน พยุหยาตราเพชรพวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งบันทึกขึ้นใหม่ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยบอก รายละเอียดว่า คัดมาจากฉบับของเก่าครั้ง พ.ศ. ๒๒๑๙ แม้จะไม่ได้บันทึกรายละเอียดปลีกย่อย แสดงการเห่เรือไว้เลยก็ตาม แต่หากเป็นกระบวนพยุหยาตราไปในการพระราชกุศล เหล่าทหารผู้แห่แหน ย่อมมีความรื่นเริงเบิกบานใจในบุญกุศลที่ได้โดยเสด็จด้วย ก็จะมีการเห่เรือเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางเรือ อย่างเอิกกริก ไม่เพียงแต่เท่านั้น กระบวนพยุหยาตราทัพทางชลมารคครั้งไปตีเมืองเชียงใหม่ ในรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ในกระบวนเรือ ทำหน้าที่ให้จังหวะสัญญาณในการพายเรือและเห่เรือ
บทเห่เรือที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาอีกบทหนึ่ง ที่นับเป็นบทเห่เรือที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ในการเห่เรือ พระราชพิธีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ บทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีการ เห่เรือในยุคนั้นแล้ว จากท่อนหนึ่งที่ว่า “พลพายกรายพายทอง ร้องโห่โอ้เห่มา”
อย่างไรก็ตามได้ปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมสมัยอยุธยาหลายเรื่องว่า มีการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารคในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐิน เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี เสด็จประพาส ต้อนรับราชทูตต่างประเทศ ตลอดจนประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นในรอบปี ได้แก่ พระราชพิธี- อาศวยุชแข่งเรือและพระราชพิธีไล่เรือ
๙.๓.๒ สมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีวรรณคดีที่ได้กล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ ลิลิตพยุหยาตราเพชร พวง นิพนธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและ ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ แต่วรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ มิได้กล่าวถึงการเห่เรือเลย และแม้แต่หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ ๔ ก็มิได้กล่าวถึงเห่เรือกระบวนการหลวง ด้วยเช่นกัน
บทเห่ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จัดว่าเป็นยอดของบทเห่ คือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและว่าด้วยงาน นักขัตฤกษ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งบทเห่เรือนี้ใช้สำหรับการเห่เรือ เสด็จประพาส
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทเห่เรือ ๔ บท ใช้เป็นบทเห่เรือเล่น และเห่เรือหลวง สืบทอดเป็นประเพณีต่อมา คือ นอกจากจะใช้สำหรับ เห่ถวายเวลาเสด็จลอยพระประทีปแล้ว ยังนำมาใช้เห่กระบวนพยุหยาตราถวายผ้ากฐินด้วย จนกลายเป็น ประเพณีพระราชพิธีสืบต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือ ด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใช้ในพระราชพิธีด้วย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคคราวฉลอง ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ โดยใช้เห่เรือพระนิพนธ์ ในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่แต่งทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากนั้นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็ห่างหายไปนานถึง ๓๐ ปี เนื่องจากเป็นพระราชพิธีใหญ่และสิ้นเปลืองงบประมาณ ประกอบกับเรือพระราชพิธี หลายลำชำรุดและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จวบจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายพระกฐิน โดยให้มีกระบวน พยุหยาตราทางชลมารคขึ้นใหม่ และใช้บทเห่เรือของเก่าที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ บทเห่เรือในปัจจุบัน จึงมีหลายบท ซึ่งแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของบทเห่เรือได้อย่างดี
๙.๔ ประเภทของการเห่เรือ การเห่เรือของไทยนั้น สามารถจำแนกได้ ๒ ประเภท คือ เห่เรือหลวง เห่เรือเล่น๑. เห่เรือหลวง คือการเห่เรือในการพระราชพิธีที่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งอย่างใหญ่ และอย่างน้อยเพื่อให้ริ้วกระบวนเรือที่จัดขึ้นเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน มีความพร้อมเพรียง เป็นระเบียบเรียบร้อยและสง่างาม โดยใช้บทแต่ลักษณะเป็นสัญญาณและกำกับจังหวะการพายให้พร้อมเพรียงกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า การเห่เรือหลวงน่าจะได้ ต้นเค้าจากประเทศอินเดีย โดยพราหมณ์เป็นผู้นำบทมนต์ในตำราไสยศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมคงเป็นภาษาสันสกฤต มาเผยแผ่ ต่อมาก็เลือนกลายไป แต่ยังคงเรียกในตำราว่า “สวะเห่” “ช้าละวะเห่” และ “มูลเห่” ตามลำดับ
๒. เห่เรือเล่น ตามความหมายเดิม คือ การเห่เรือแบบไม่เป็นพิธีการของบุคคลทั่วไป เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง และกำกับจังหวะในการพายเรือให้พร้อมเพรียงกัน การพายเรือเล่นของชาวบ้านนั้นมีจังหวะการพาย เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ พายจังหวะปกติและพายจังหวะจ้ำ จึงทำให้การเห่แตกต่างกันออกไปตามจังหวะ การพายด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงบทเห่เรือเล่นที่ใช้ในการพายจ้ำว่า “ตามที่สังเกตมาดูเหมือนไม่มีต้นบท บทอันใดฝีพายขึ้นใจก็เอามาใช้ร้องพร้อมๆ กันเช่น “หุย ฮา โห่ ฮิ้ว” “มาละเหวยมาละวา” “สาระพา เฮ โล” ส่วนบทเห่สำหรับพายปกตินั้น ใช้บทกลอน มีต้นบทขึ้นก่อน แล้วฝีพายรับต่อไป สันนิษฐานว่า อาจเป็นบทกลอนจากวรรณกรรมที่จำได้ขึ้นใจ หรืออาจว่าเป็นกลอนสด เช่นเดียวกับการเล่นเพลงเรือ หรือกลอนดอกสร้อยสักวาก็เป็นได้”
๙.๕ วิธีการและขั้นตอนในการเห่เรือพระราชพิธี๙.๕.๑ ระเบียบวิธีในการเห่เรือ
การเห่เรือในปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบในสมัยโบราณไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการและขั้นตอน บางประการไปตามข้อจำกัดของปัจจัยแวดล้อมตามความเหมาะสม ดังนี้
การจัดกระบวนเรือ จะจัดเรือทุกลำไว้กลางแม่น้ำ ยกเว้นเรือพระที่นั่งทรงและเรือพระที่นั่งรอง จะจอด เทียบท่าเพื่อรอเสด็จพระราชดำเนินก่อน การจัดและควบคุมกระบวนเรือทั้งหมดเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการ กระบวนเรือโดย ใช้สัญญาณแตร และผู้บัญชาการกระบวนเรือจะต้องประจำอยู่ในเรือกลองในหรือเรือแตงโม ซึ่งแล่นนำหน้าเรือพระที่นั่ง
การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาถึง และประทับในเรือพระที่นั่งทรงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของนายเรือเป็นผู้ให้สัญญาณ จับพาย ด้วยการรัวกรับและให้สัญญาณมือแก่ ผู้ถือแพนหางนกยูงให้สัญญาณเริ่มเดินพายแก่ฝีพายอีกทอดหนึ่ง
การให้จังหวะในการพายเรือพระที่นั่ง จะใช้กรับแทนการกระทุ้งเส้าให้จังหวะแก่ฝีพายลักษณะการเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ แต่เดิมต้นเสียงจะต้องเห่ในเรือพระที่นั่งทรง และ ห่างจากบุษบก ๑ เมตร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเห่ในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและฝีพายเป็นลูกคู่รับ การรับ จะร้องรับเพียงลำเดียวเท่านั้น ลำอื่นๆ ไม่ต้องร้องรับ
ลักษณะการเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราอย่างน้อย กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ต้นเสียง จะต้องเห่ในเรือทรงผ้าไตร
การเกริ่นเห่เรือ พนักงานเห่เรือ จะเริ่มเกริ่นเห่เรือเกริ่นโคลงได้ เมื่อเรือพระที่นั่งทรงออกจากท่า แล้วจะเข้า
กระบวน เมื่อเกริ่นโคลงจบ เรือพระที่นั่งก็พร้อมจะเคลื่อนตามเรือทั้งกระบวน
การขานเสียงรับ ฝีพายจะขานรับข้ามที่ประทับไม่ได้ เช่น ต้นเสียงเห่อยู่ตอนหัวเรือก็ให้ขานรับเฉพาะฝีพาย
ที่อยู่ตอนหัวเรือ ฝีพายท้ายเรือขานรับไม่ได้ ถือว่าการขานเสียงข้ามที่ประทับเป็นเรื่องต้องห้าม
การแต่งกายของพลฝีพาย พลฝีพายในเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง และเรือทรงผ้าไตร ทั้ง ๓ ลำนี้
สำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนดให้แต่งกายรับเสด็จอย่างเต็มยศ พลฝีพายใช้พายเงินพายทอง หากแต่งกายปกติ จะแต่งกายดำ สวมหมวกกลีบลำดวน ใช้พายทาน้ำมัน
ท่าพายเรือที่ใช้ สำหรับพายในเรือพระที่นั่ง จะเป็นท่านกบินเป็นหลัก หากจะเปลี่ยนท่าพายเรือ ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนเสมอ
การเสด็จพระราชดำเนินกลับ หากเป็นยามพระอาทิตย์อัสดงแล้ว ต้องโห่ ๓ ลาก่อน จึงจะออกเรือพระที่นั่งได้
๙.๕.๒ ทำนองที่ใช้ในการเห่เรือ
เป็นการให้จังหวะแก่ฝีพายให้พายตามจังหวะทำนองการร้อง เพื่อบังคับให้เรือแล่นไปอย่างเป็นระเบียบ สวยงามและพร้อมเพรียงกัน ทำนองที่ใช้ในการเห่เรือปัจจุบันมี ๓ ทำนอง คือ ช้าละวะเห่ มูลเห่ และสวะเห่
ก่อนการเริ่มต้นเห่เรือตามทำนองนั้น เมื่อเรือพระที่นั่งทรงเริ่มออกจากท่ามาเข้ากระบวน พนักงานต้น เสียงเห่เรือก็จะเริ่มต้น เกริ่นเห่ เป็นทำนองตามเนื้อความในโคลงสี่สุภาพก่อน จึงมักเรียกว่า เกริ่นโคลง บทเกริ่นที่ถือว่าไพเราะ และยึดถือเป็นแบบอย่างมาจนปัจจุบันนี้ คือ โคลงสี่สุภาพ บทเห่ชมชมเรือกระบวน พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ การเกริ่นโคลงเป็นการให้สัญญาณเตือนฝีพายให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อม เมื่อจบเกริ่นโคลงเรือพระที่นั่งทรงก็เข้าที่และพร้อมเคลื่อนตามกระบวนได้ พนักงานนำเห่จึงเริ่มเห่ตามทำนอง คือ
๑. ช้าละวะเห่ หรือการเห่เรือเล่นเรียกว่า “เห่ช้า” เป็นทำนองที่ใช้เริ่มต้นเห่มีจังหวะช้า ๆ ท่วงทำนอง ไพเราะ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำไปพร้อมๆ
การเห่ทำนองช้าละวะเห่นี้ ฝีพายอยู่ในท่าเตรียมพร้อม จนกระทั่งลูกคู่รับท้ายต้นเสียง จึงเริ่มจังหวะเดิน พายจังหวะที่ ๑ ”
๒. มูลเห่ หรือในการเห่เรือเล่น เรียกว่าเห่เร็ว เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ พนักงานจะนำเห่ แล้วลูกคู่จะรับว่า ชะ...ชะ...ฮ้าไฮ้ และต่อท้ายบทว่า เฮ้ เฮ เฮ เฮ...เห่ เฮ ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิม ตามจังหวะกระทุ้งเสา สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในตำนานเห่เรือว่า “มูลเห่” คงหมายความว่า เห่เป็นพื้น ใช้ขณะพายเรือทวนน้ำ ต้องพายหนักแรง จึงพายจังหวะเร็วขึ้นและใช้เห่ ทำนองเร็ว มีพลพายรับ “ฮะไฮ้”
การเห่ทำนองมูลเห่นี้เป็นทำนองที่ใช้ขณะเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นทำนองยืนพื้นพนักงานเห่จะร้อง ตามบทเห่เป็นทำนอง แล้วฝีพายจะรับตลอด มูลเห่จึงเป็นทำนองที่สนุกสนาน ใช้ประกอบการพายพา กระบวนเรือไปจนเกือบถึงที่หมาย
๓. สวะเห่ เป็นการเห่เมื่อใกล้จะถึงที่หมาย พนักงานนำเห่และพลพายจะต้องจำทำนองและเนื้อความ ทำนองสวะเห่ให้แม่นเพราะต้องใช้ปฏิภาณคะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์ นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงออกซึ่งความสง่างามของกระบวนเรือได้ดี
การเห่ทำนองสวะเห่เป็นทำนองเห่ตอนนำเรือเข้าเทียบท่าหรือฉนวน คือ เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ ก็เป็น สัญญาณว่าฝีพายจะต้องเก็บพายโดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ เฮ เฮ เฮโฮ้ เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบว่า “ศรีชัยแก้วพ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับ “ชัยแก้วพ่ออา” เรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่า พอดี และจบบทเห่
กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันทำนองการเห่เรือพระราชพิธีมีอยู่ ๓ ทำนองเท่านั้น หากนับรวมการเกริ่นเห่เรือ ที่เกริ่นโคลงด้วยรวมเป็น ๔ ทำนอง นอกจากนั้นในปัจจุบันการเห่เรือพระราชพิธีจะใช้เฉพาะตอนเสด็จ พระราชดำเนินไปเท่านั้น ตอนเสด็จพระราชดำเนินกลับ เรือแล่นทวนน้ำจะใช้วิธีขานยาว โดยพนักงาน ขานยาวออกเสียงว่า เย้อว...
๙.๕.๓ วิธีพายเรือให้สัมพันธ์กับการเห่เรือ
การพายเรือให้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีแบบโบราณนั้น มีระเบียบการพาย อยู่ ๔ วิธี คือ
๑. พายนกบิน เป็นท่าพายที่ยกพายขึ้นพ้นน้ำเป็นมุม ๔๕ องศา ประดุจนกบิน ท่าพายนี้จะใช้กับ เรือพระที่นั่งเท่านั้น คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
๒. พายพลราบ เป็นท่าการพายโดยไม่ให้พายพ้นกราบเรือ ท่าพายนี้จะใช้กับเรือร่วมในกระบวนทั้ง หมด โดยแบ่งการพายเป็น ๔ จังหวะ
๓. พายผสม เป็นท่าการพายที่ผสมกันระหว่างท่าพายพลราบและท่าพายนกบิน มักใช้ตอนเสด็จ พระราชดำเนินกลับ ซึ่งเป็นการพายเรือทวนน้ำ โดยมีวิธีการพาย คือ พายพลราบ ๒ พาย ต่อด้วยพายนกบิน อีก ๑ พาย จึงมักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พาย ๓ พาย
๔. พายธรรมดา เป็นท่าการพายธรรมดาของการพายเรือโดยทั่วไป
มีข้อสังเกตว่า การพายเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉพาะเรือพระที่นั่งจะพายท่านกบิน เป็นหลัก หากจะเปลี่ยนท่าพายเรือ ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินใดๆ ก็ตามต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก่อนเสมอ
นอกจากนั้น การจะพายเรือให้พร้อมเพรียงกันได้ทั้งกระบวน ต้องอาศัยผู้ให้สัญญาณต่างๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ สัญญาณเสียงกรับจากเรือพระที่นั่ง และเสียงเส้ากระทุ้งให้เข้าจังหวะการพายจากเรือดั้งและเรือรูปสัตว์ การเห่เรือจึงมีวิธีการและขั้นตอนมากมาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่มีหน้าที่ทุกคน จึงจะประสบ ความสำเร็จอย่างงดงามได้
๙.๖ คำประพันธ์ที่ใช้เป็นบทเห่เรือและบทเห่ที่เป็นแบบฉบับคำประพันธ์สำหรับใช้เป็นบทเห่เรือเก่าที่สุดที่เหลือเป็นหลักฐานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ กาพย์เห่ เรือบทพระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเจ้าฟ้ากุ้ง พระมหาอุปราชแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อศึกษาเนื้อหาของบทเห่เรือนั้นโดยละเอียดแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นบทที่แต่งสำหรับเห่เรือพระที่นั่งในพระราชพิธีใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามบทเห่เรือ พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ก็ได้รับความนิยม นำมายืดถือเป็นแบบแผนในการประพันธ์บทเห่เรือ ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
บทเห่เรือที่เรียกว่า “กาพย์เห่เรือ” นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ได้ทรงพระนิพนธ์โดยใช้ “โคลงนำกาพย์” คือ มีโคลงสี่สุภาพขึ้นเป็นต้นบท ๑ บท ตามด้วยกาพย์ยานี ๑๑ บรรยายย้อนทวนความตาม โคลงบทนั้นโดยละเอียด ทั้งดำเนินความต่อไปด้วยกาพย์ยานีจนกว่าจะจบกระบวนความ โดยไม่มีข้อจำกัด จะต้องใช้กาพย์ยานีตามกี่บท เมื่อจะขึ้นกระบวนความใหม่ ก็ให้ขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บทก่อน แล้วต่อด้วย กาพย์ยานีบรรยายความอีกเช่นเดิม
บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และกาพย์เห่เรือในโอกาสต่าง ๆบทเห่เรือพระราชนิพนธ์ตามหลักฐานที่ปรากฏในวงวรรณกรรมของไทย ล้วนเป็นบทเห่เรือเล่น แทบทั้งสิ้น และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ไม่ทรงพบข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุ ที่นำมาใช้ในการเห่เรือพระที่นั่ง บทเห่เรือสมัยอยุธยาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เหลือตกทอดมาถึง ปัจจุบันมีเพียง ๒ เรื่อง คือ บทเห่เรื่องชมพยุหยาตราทางชลมารค และบทเห่เรื่องกากี ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
บทเห่เรื่องชมพยุหยาตราทางชลมารคนั้น เริ่มเรื่องกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือ ความว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ต่อจากนั้นจึงชมกระบวนเรือ ต่อด้วยชมปลา ชมไม้ ชมนก เป็นทำนองนิราศ ซึ่งสำนวนในเรื่องแสดงว่าทรงพระนิพนธ์สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์เอง มีความยาว ๔ เมตร
บทเห่เรื่องกากี มีลักษณะเป็นกลอนสังวาส นำเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมานำบท ขึ้นต้นเรื่องว่า “กางกรโอบอุ้มแก้วเจ้างามแพร้วสบสรรพางค์” เนื้อความทั้งเรื่องแต่งเป็นกระบวนสังวาส ๗ ตอน เนื้อความ ในเรื่องเป็นเรื่องส่วนพระองค์ สันนิษฐานว่าจะใช้บทเห่นี้เฉพาะเวลาทรงเรือประพาสเป็นการส่วนพระองค์
ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทเห่เรือที่ไพเราะได้รับความนิยมกล่าวขวัญถึงเสมอ คือ บทเห่เรือชมเครื่อง คาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย เริ่มความชมอาหารคาวว่า “มัศหมั่นแกง แก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” ต่อด้วยเห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องคาวหวาน เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ และเห่บท เจ้าเซ็น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บทเห่ชมเครื่องคาวหวานนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ากันว่า พระราชนิพนธ์นี้ ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบบรมราชินี ตั้งแต่ครั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เนื่องจากมีฝีมือในการแต่ง เครื่องเสวยไม่มีผู้ใดจะดีเสมอได้ บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ ๕ บทนี้ ชั้นแรกสันนิษฐานว่า ทรงพระราชนิพนธ์ สำหรับเห่เรือเสด็จประพาสเท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้นำบทเห่เรือครั้งกรุงศรีอยุธยา และบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาใช้ เห่เรือในราชการเป็นแบบอย่างสืบมา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีบทเห่เรือที่สำคัญหลายบท ซึ่งแสดง ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ของชาติบ้านเมือง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นบทพระราชนิพนธ์ก็ตาม แต่ผู้นิพนธ์ก็คงใช้ ระเบียบวิธีการประพันธ์ ตามแบบวิธีของบทเห่เรือโบราณ มาสอดแทรกเรื่องและเหตุการณ์สำคัญในการ ประพันธ์บทเห่เรือแต่ละบท คือ
๑. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พระพิธีพุทธประทีปบูชา และพุทธพยุหยาตราทางชลมารค บทประพันธ์ของ นายฉันท์ ขำวิไล เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย งานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ชมกระบวนเห่ ชมนก ชมไม้ ชมปลาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีความยาว ๑๓ ตอน
๒. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช ๒๕๐๐ บทประพันธ์ของ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เนื้อหากล่าวถึงการเริ่มพุทธศตวรรษใหม่ เห่กระบวนเรือพยุหยาตรา สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ ซึ่งใช้เห่ช่วงกลางคือในเวลาที่พระบาทสมเด็จ- พระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรการเห่เรือที่ท่าราชวรดิฐ มีจำนวนความยาวเพียง ๓ ตอน
๓. กาพย์เห่เรือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ บทประพันธ์ของนาย ภิญโญ ศรีจำลอง ข้าราชการกรมศิลปากร เนื้อหาตอนแรกชมกระบวนเรือแล้วสดุดี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สดุดีพระบรมราชจักรีวงศ์สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว- ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช สดุดีพระแก้วมรกต สดุดีกรุงรัตนโกสินทร์และสดุดีพระพุทธสิหิงค์ รวมความยาว ๗ ตอน
๔. กาพย์เห่เรือพยุหยาตราอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรเพื่อมอบให้แก่กรุงเทพฯ บทประพันธ์ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
๕. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องใน มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ บทประพันธ์ของ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ในการแสดงเห่เรือ เฉลิมพระเกียรติ ณ ท่าราชวรดิษฐ์ โดยร้องเห่จากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
๖.กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคล สมัยรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ บทประพันธ์ของ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ในการแสดงเห่เรือ เฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ
๗.กาพย์เห่เรือชนะเลิศการประกวด โครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ บทประพันธ์ของนาวาโท ทองย้อย แสงสินชัย เนื้อหากล่าวชมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ แล้วกล่าวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสฉลองสิริ ราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อเนื่องกันจำนวน ๑ ตอน ใช้สำหรับการเห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙
๙.๗ ลีลาการเห่เรือ ลีลาการเห่เรือในปัจจุบัน สามารถแยกได้เป็น ๒ ลีลา หรือ ๒ ทาง คือ๑. ลีลาของกองทัพเรือ การเห่เรือพระราชพิธีแบบของกองทัพเรือนั้นมีประวัติความเป็นที่ยาวนาน ดังนั้น ต้นเสียงเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือทุกคน จึงได้รับการฝึกหัดให้มีกระแสเสียงที่ไพเราะก้องกังวาน รวมทั้งต้องมีพลังในการเปล่งเสียงตลอดเวลาระยะเวลาอันยาวนานของพระราชพิธีโดยที่กำลังเสียงไม่ตกด้วย อีกทั้งกระแสเสียงและลีลาการเห่เรือจะต้องขรึมขลัง มีความสง่างามและสอดคล้องกับกระบวนเรือพระราชพิธีด้วย นอกจากนั้นพนักงานเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือ เคยได้รับการฝึกหัดเรือเพลงไทยสองชั้นจากครูของ กรมศิลปากร แล้วนำไปปรับให้เข้ากับจังหวะการพายเรือ ซึ่งเป็นวิธีการเห่เรืออีกแบบหนึ่งที่ใช้ในการสาธิต เรียกว่า “เห่เรือออกเพลง”
๒. ลีลาของกรมศิลปากร เป็นลีลาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากลีลาของกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น เป็นผู้คิดฟื้นฟูการเห่เรือแก่ศิลปินของกรมศิลปากรและ เชิญต้นเสียงของกองทัพเรือในขณะนั้นคือ พันจ่าเอก ศุขภูมิ มาฝึกหัดให้แก่ศิลปินของกรมศิลปากร ๒ คน คือ ครูประเวช กุมุท และ ครูเสรี หวังในธรรม ประกอบกับกรมศิลปากรมีความถนัดในทางละคร จึงได้ ปรับปรุงแต่งทำนองการเห่ให้เข้ากับท่ารำ ทำให้มีท่วงทำนองและลีลาที่อ่อนหวานเหมาะสมกลมกลืน กับการร่ายรำ จนแตกต่างจากลีลาของกองทัพเรือที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างเห็นได้ชัด
อาจกล่าวได้ว่า ลีลาการเห่เรือทั้งของกองทัพเรือและกรมศิลปากรนั้น เดิมเป็นลีลาเดียวกัน แต่ได้ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ของแต่ละเหมาะกับงาน ดังนั้นลีลาการเห่เรือทั้ง ๒ แห่ง จึงเป็นศิลปะ ของชาติที่ควรสงวนรักษาและสืบทอดให้ยืนยาวต่อไป
๙.๘ พนักงานเห่เรือพระราชพิธีปัจจุบันพนักงานต้นเสียงเห่เรือพระราชพิธีที่มีคุณสมบัติพร้อม ทั้งด้านน้ำเสียงที่กังวานไพเราะมีพลัง สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างชัดเจนถูกต้อง และต้องมีไหวพริบปฎิภาณยอดเยี่ยม รวมทั้งต้องมีความรอบรู้ ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีในการเห่เรืออย่างละเอียดลึกซึ้ง จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำพุทธศักราช ๒๕๔๓ คือ พลเรือตรี มงคล แสงสว่าง ข้าราชการ ทหารเรือ สังกัดกองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดการเกี่ยวกับการจัดกระบวนเรือ พระราชพิธีพยุหยาตรทางชลมารค และการเห่เรือ
พนักงานเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือมีความเป็นมาที่ยาวนาน พนักงานเห่เรือที่มีชื่อเสียงอยู่ใน วงการเห่เรือเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการให้พนักงานเห่เรือที่ต่อๆ มา ได้แก่ นาวาเอก หลวงปัญจนึก พันจ่าโทหลวง กล่อมโกศลศัพท์ รองอำมาตย์ตรีโป๊ะ เหมรำไพ เรือเอกผัดชุด ชลามาศ และพันจ่าเอก เขียว ศุขภูมิ เป็นครู ผู้ฝึกการเห่เรือพระราชพิธีให้แก่ พลเรือตรี มงคล แสงสว่าง พนักงานนำเห่เรือพระราชพิธีในปัจจุบัน
พลเรือตรี มงคล แสงสว่าง เล่าว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานนำเห่ หรือต้นเสียงต้องมีคุณสมบัติ ต่อไปนี้
๑.มีน้ำเสียงดีเป็นอันดับแรก
๒.ต้องมีใจรัก จึงจะมีความมุ่งมั่นมุมานะในการฝึกหัดให้กำลังเสียงคงที่ เพราะระยะเวลาในการเห่เรือ พระราชพิธีแต่ละครั้งต้องใช้เวลายาวนาน ๒-๓ ชั่วโมง
๓.ต้องมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะเห่เรือ
๔.ต้องมีความสามารถในการพิจารณาคำนวณระยะทาง กระแสน้ำและกระแสลม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ เกิดความคลาดเคลื่อนของกระบวนเรือให้สอดคล้องกับบทเห่ โดยอาจจะต้องยืดบทหรือตัดบทออกก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมนอกจากนั้นปัจจัยสำคัญอีก
๕.ต้องมีความรู้ความสามารถในการพายเรือพระราชพิธีด้วย