สารบัญ
ความเป็นมาของธง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ธง” หมายถึง ผืนผ้าโดยมากเป็นสีและบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่างๆ ที่ทำด้วยกระดาษและสิ่งอื่นๆก็มี สำหรับ (๑) ใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ ตำแหน่งในราชการโดยมีกำหนดกฎเกณฑ์ เป็นต้น เช่น ธงชาติ ธงแม่ทัพนายกอง (๒) ใช้เป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยม เช่น ธงกาชาด บอกที่ตั้งกองบรรเทาทุกข์, ธงขาว บอกความจำนนขอหย่าศึกหรือยอมแพ้, ธงเหลือง บอกเป็นเรือพยาบาลคนป่วยหรือเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย (๓) ใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล คณะ สมาคม อาคารการค้า และอื่นๆ (๔) ใช้เป็นอาณัติสัญญาณ (๕) ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรือถือเข้ากระบวนแห่ เป็นต้น

ความหมายของ ธง ข้างต้นนี้ ระบุว่าธงต้องมีลักษณะเป็นผืนผ้าเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ของธงที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่ความจริงแล้วก่อนที่ธงจะมีรูปลักษณ์ดังที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ ธงได้มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานและไม่จำเป็นว่าต้องทำจากผ้าเท่านั้นดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักการใช้สัญลักษณ์เพื่อประโยชน์ใน “การคิดคำนึง” และ “การสื่อสาร” โดยสัญลักษณ์ที่ใช้นั้นก็มีลักษณะที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ ตัวอักษร การออกเสียง เครื่องหมาย เป็นต้น ทั้งนี้ ธง ก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หลักฐานเท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน ธงและสิ่งเสมือนธง มีการใช้มามากกว่า ๕,๐๐๐ ปี โดยใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า เวคซิลลา (vexilla) ทำจากวัสดุที่มีลักษณะแข็งตันและที่ปลายยอดมักประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ เช่น นก เหยี่ยว งู เป็นต้น รูปร่างที่กล่าวมานี้ก็คือ “คธา” นั่นเอง สิ่งเสมือนธงเหล่านี้มักใช้ในกิจการสงครามเป็นสำคัญ ชาวอียิปต์จะใช้แถบผ้าสีต่างๆมาผูกติดเข้ากับคธาศักดิ์สิทธิ์ใช้ถือนำหน้ากองทัพในสนามรบ ในอาณาจักรจีนก็มีการใช้ธงมาอย่างยาวนาน โดยพระจักรพรรดิโจวอู่หวาง ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โจว (๑๑๒๒ ปีก่อนคริสตกาล) จะใช้ธงสีขาวถือนำหน้าพระองค์ และได้มีการใช้ต่อเนื่องกันมาซึ่งธงของจีนนั้นมักจะใช้ผ้าไหมสีต่างๆ เช่น น้ำเงิน ดำ แดง เหลือง และขาว ประกอบเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมแต่ทำชายเป็นริ้วผูกติดกับเสาสำหรับใช้ในการออกศึกและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนธงที่มีความสำคัญมากก็คือ ธงที่ชาวโรมันใช้ในกองทัพเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน ธงของชาวโรมันทำเป็นคธาศักดิ์สิทธิ์มีรูปร่างลักษณะต่างๆกัน คล้ายคลึงกับของอียิปต์แต่มีผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ขนาดด้านกว้างและด้านยาวเท่ากันทุกด้าน) ซึ่งมีตราเทพเจ้าหรือรูปสัตว์ต่างๆแสดงถึงพลังอำนาจแบบเดียวกับของอียิปต์แขวนห้อยกับคธาศักดิ์สิทธิ์หรือบางครั้งก็แขวนกับหอกธรรมดา ซึ่งชาวโรมันใช้ธงในการแยกเหล่ากองทัพตามเครื่องหมายของคธาศักดิ์สิทธิ์และสีสันของธง ตลอดจนรวมกองทหารในสังกัดเดียวกันไว้ในการประจัญบานกับศัตรู ดังนั้น ธงจึงมีความสำคัญมากขึ้นในสนามรบและถือเป็นหน้าที่ของทหารที่ต้องรักษาธงไว้ด้วยชีวิต มิให้หลุดมือเป็นของศัตรูได้ หากธงถูกฝ่ายศัตรูยึดครองไปได้ ย่อมทำให้กองทัพระส่ำระสาย จนอาจนำไปสู่การพ่ายแพ้ได้ในที่สุด ธงเวคซิลลาแบบของชาวโรมันนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากจนกระทั่งแม้แต่คริสตจักรซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนาก็ได้นำเอาธงแบบห้อยแขวนมาใช้ประดับในงานพิธีทางศาสนาต่างๆมาตั้งแต่สมัยโรมันจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพุทธศาสนา ก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องของธงเช่นกัน โดยปรากฎใน “ธชัคคสูตร” ซึ่งระบุว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้พระภิกษุสงฆ์หมั่นระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เพราะอานุภาพของพระรัตนตรัยที่บุคคลหมั่นระลึกเอาไว้ดีแล้วสามารถกำจัดความสะดุ้ง หวาดเสียว บรรเทาสรรพภัยต่างๆได้ โดยระบุเปรียบเทียบกับเรื่องเมื่อครั้งเทวดาทำสงครามกับอสูร ซึ่งเหล่าเทวดามีความสะดุ้งหวาดกลัวพวกอสูรไม่น้อย ดังนั้นพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งหลายจึงมีเทวบัญชาว่า “ในขณะทำสงครามกับเหล่าอสูร ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า อันจะทำให้เสียกำลังรบ อาจเกิดมีแก่บางท่านได้ ดังนั้น ถ้าคราวใดเกิดมีความกลัวขึ้น ขอให้ทุกท่านจงมองดูชายธงของเรา แล้วความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าของท่านจะหายไปได้ หรือถ้าไม่มองชายธงของเรา ก็จงมองดูชายธงของท้าวปชาบดี ของท้าววรุณ หรือของท้าวอีสานะ องค์ใด องค์หนึ่ง เมื่อท่านทั้งหลายได้มองดูชายธงแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าจักหายไป” อย่างไรก็ตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อธิบาย เทวดาที่มองดูชายธงของท้าวเทวราชทั้ง ๔ นั้น บางครั้งก็หายกลัว บางครั้งก็ไม่หายกลัว ทั้งนี้เพราะท้าวเทวราชทั้ง ๔ ผู้เป็นเจ้าของธงชัยนั้น ยังมีราคะ โทสะ โมหะ ยังมีกิเลส จึงยังมีความหวาดกลัวอยู่ ดังนั้น เมื่อจอมทัพยังหวาดกลัวอยู่ ชายธงจึงไม่อาจบำบัดความกลัวให้หายไปอย่างสิ้นเชิงได้ ผิดกับพระรัตนตรัยที่ทรงอานุภาพเหนือท้าวเทวราชเหล่านั้น เพราะพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส จึงปราศจากความหวาดกลัว ดังนั้น บุคคลที่ระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยดีแล้วความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าจักหายไป

ในประเทศอินเดียนั้น มีการใช้ธงในลัทธิพิธีทางศาสนา โดยนิยมใช้ในเครื่องประดับบูชาสำหรับงานพิธี ๓ ชนิด คือ

๑. ธชะ หรือ ธวชะ ได้แก่ ธงผ้าหรือกระดาษรูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม ใช้ปักบนปลายไม้หรือปลายเสา

๒. ปฏากะ หรือ ปตากา ได้แก่ ธงปฏาก หรือ ธงตะขาบ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นผ้าเป็นชิ้นๆเย็บติดกันไปเป็นพืด มีไม้สอดระหว่างชิ้นทำให้มีลักษณะคล้ายตัวตะขาบ ขนาดกว้างยาวตามต้องการ ใช้ผูกติดกับปลายไม้หรือปลายเสา (ในประเทศไทยมักแขวนไว้ยอดเสาหงส์ตามหน้าวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา)

๓. โตรณะ ได้แก่ ธงราวสามเหลี่ยม ทำด้วยกระดาษ ใบมะม่วง หรือใบโศก ใช้โยงผูกระหว่างเสา ๒ ต้น หรือขึงที่ข้างฝา บางทีก็ใช้โยงลงมาติดกับวัตถุที่บูชา ทั้งนี้ บางลัทธิความเชื่อ ได้นำเอาธงสำหรับบูชาทั้ง ๓ อย่างนี้ มาเปรียบกับร่างกายของคนด้วยโดยถือว่า ส่วนสูงตั้งแต่คอขึ้นไปเปรียบเป็นธชะหรือธวชะ ส่วนตั้งแต่คอลงมาถึงเท้าเปรียบเป็นปฏากะหรือปตากา ส่วนแขนทั้งสองข้างที่กางออกไปนั้นเปรียบเป็นโตรณะ ดังนั้น การประดับตกแต่งบูชาด้วยธงทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงเท่ากับเป็นการนำเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีนั้นๆด้วย เพื่อให้เกิดสิริมงคลและความสวัสดีมีชัย

ความนิยมในการใช้ธงทั้ง ๓ ชนิด เพื่อเป็นเครื่องบูชานี้ได้แพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยด้วย โดยธงไทยที่ใช้ในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ธงปฏากหรือธงตะขาบ สีธงนิยมใช้สีสมมติตามสีกายของเทพเจ้าหรือตามสีประจำวันทั้ง ๗ เวลาที่มีการบูชาจะปักธงตะขาบผืนใหญ่ไว้กลางมณฑลพิธีทำให้ผู้ที่พบเห็นสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นพิธีบูชาเทพเจ้าองค์ใดจากสีของธงตะขาบนั้น แต่ถ้าเป็นพิธีทางพุทธศาสนา ในปัจจุบันนิยมใช้ธง ๖ สี ตามฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า

เวลาที่มีการบำเพ็ญกุศลในวัด จะนิยมใช้ธงตะขาบผืนใหญ่ยาว ๓ หรือ ๔ วา ห้อยกับไม้ลำใหญ่ปักไว้ที่หน้าวัด หรืออาจใช้ธงปฏากเขียนรูปจระเข้ผูกติดไม้ปักไว้หน้าวัดหลังจากเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเขียนรูปพระพุทธเจ้า เรื่องราวพุทธประวัติ เจดีย์ เลขยันต์ต่างๆ ลงไปในธงปฏากเพื่อห้อยไว้สำหรับสักการะบูชา เรียกว่า “พระบฏ” อีกด้วย สำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญการบูชาด้วยธงปฏากนี้เป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง โดยในช่วงท้ายสงกรานต์ชุมชนมอญหลายๆแห่ง เช่น พระประแดง จะมีประเพณี “แห่เสาหงส์ธงตะขาบ” เป็นงานสำคัญ

สำหรับในภาคเหนือของไทยนั้น การใช้ธงปฏาก ก็เป็นที่แพร่หลาย โดยเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า “ตุง” ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ ซึ่งตุงนั้นมีการใช้อย่างหลากหลาย ดังนี้

๑. ตุงช่อ ทำด้วยกระดาษสี ใช้ปักตกแต่ง

๒. ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์

๓. ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และงานสงกรานต์

๔. ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในงานสงกรานต์ และพิธีทางศาสนา

๕. ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายหรือไหม ใช้แขวนหน้าพระพุทธรูป

๖. ตุงเปิ้ง เป็นตุงประจำปีเกิด

๗. ตุงไชย ทำด้วยผ้าสี ยกเว้นสีดำ มีลักษณะยาวใช้ในการฉลองวัด

๘. ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าขาวหรือแพรใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย

๙. ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม

ทั้งนี้ตามวัดที่สำคัญ บริเวณหน้าวิหารหรือในวิหารหน้าพระประธาน มักมีตุงทำด้วยไม้สลักเป็นรูปพญานาค ๒ ตัว เกี่ยวพันกันเป็นกรอบนอกของตุง ติดไว้ข้างประตูวิหารหรือตั้งเสาไว้หน้าพระประธาน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายว่าธงที่มีลักษณะเป็นแบบของไทยแท้ๆนั้น มีทั้งหมด ๓ ลักษณะ คือ

๑. ธง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีต่างๆ บางผืนก็ลงเลขยันต์ใช้สำหรับนำขบวนต่างๆ เช่น แห่เข้าพิธีตรุษ เป็นต้น

๒. ธงชัย เป็นรูปสามเหลี่ยมตัดทะแยงมุมทำนองเดียวกับธงมังกรของจีน ผิดกันแต่ที่ของจีนเอาด้านยาวไว้ข้างล่างและมีครีบเป็นรูปเปลวตลอดผืน ส่วนของไทยเอาด้านยาวไว้ข้างบน ครีบทำเพียง ๓ หรือ ๕ ชาย ใช้สำหรับนำขบวนขนาดใหญ่ เช่น ขบวนเสด็จพยุหยาตรา เป็นต้น ธงกระดาษที่ใช้ประดับตกแต่งในพิธีทางศาสนาก็ทำเป็นรูปธงชัย

๓. ธงปฏากหรือธงจระเข้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แขวนห้อยลงโดยใช้ทางด้านกว้างผูก ใช้เป็นเครื่องบูชาอย่างเดียวไม่ใช้นำขบวนแห่ ที่เรียกว่าธงจระเข้ เพราะทำด้วยผ้าขาวเขียนรูปจระเข้

การถวายธงเป็นเครื่องบูชาในพิธีทางศาสนา มีคำถวายธง ดังนี้ มะยัง ภันเต อิมานิ ธะชะปะฏาเกนะ ระตะนัตตะยัง อะภิปูเชมะ อะยัง ธะชะปะฏาเกนะ ระตะนะปูชา อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

หน้า จาก ๑๒ หน้า