ในปัจจุบันนี้ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปก็คงจะคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงเพลงชาติที่เปิดทางสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ในเวลา ๘.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นนักเรียนก็จะต้องเข้าแถวเคารพธงชาติอยู่เป็นประจำทุกวันก่อนเข้าเรียน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงออกถึงสำนึกในความเป็นชาติไทยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธงไตรรงค์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสยามหรือประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๐ หรือตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ ขึ้นมานั่นเอง
อย่างไรก็ตามก่อนที่ “ธงชาติไทย” จะได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนรัฐชาติไทย ดังที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ชาติไทยก็ได้ค่อยๆพัฒนาสิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนรัฐชาติของไทยมาเป็นลำดับ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้
การทำความเข้าใจเรื่องรัฐชาติ มีคำศัพท์ ๒ คำ ที่ควรทำความเข้าใจก่อนก็คือ “รัฐสมัยใหม่” (Modern State) และ “รัฐชาติ” (Nation State)
คำว่า “รัฐสมัยใหม่” หมายถึง รัฐที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ๑. ประชากร
๒. ดินแดนที่แน่นอน
๓. อำนาจอธิปไตย
๔. รัฐบาล
หากว่ารัฐหรือประเทศใดมีองค์ประกอบครบทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ก็ย่อมมีลักษณะเป็นรัฐสมัยใหม่ทั้งสิ้น โดยที่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือเรื่องของ “ดินแดนที่แน่นอน” เพราะว่ารัฐโบราณนั้น เรื่องของดินแดนที่แน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าใดนักเนื่องจากจำนวนประชากรในสมัยโบราณนั้นยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ดินหรือดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ดังนั้น การสงครามส่วนมากจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งก็คือการกวาดต้อนข้าคนเข้าไปเป็นกำลังให้แก่แว่นแคว้นของตนนั่นเอง
จะสังเกตได้ว่าสงครามระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับกรุงหงสาวดีนั้น ส่วนใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเดินทัพผ่านดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปจนใกล้จะถึงเมืองราชธานีจึงจะมีการสู้รบกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรุงศรีอยุธยามักจะใช้ตัวเมืองเป็นสถานที่รับศึกอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ หากจะให้บอกว่าเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีอยู่ ณ ที่แห่งใดอย่างชัดเจนก็ไม่สามารถทำได้ อย่างมากก็บอกได้เพียงว่ามีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเป็นเขตแดนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการบอกได้เพียงคร่าวๆเท่านั้น
ผิดกับในสมัยปัจจุบันที่เราสามารถบอกถึงพิกัดของเส้นเขตแดนของประเทศได้อย่างแม่นยำผ่านเทคโนโลยีของการจัดทำแผนที่และระบบดาวเทียมสารสนเทศต่างๆ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการที่จะปล่อยให้กองทัพของต่างชาติผ่านล่วงข้ามเส้นเขตแดนเข้ามาก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ทีเดียว เพราะเราสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจุดใดบนพื้นดินคือเขตแดนของประเทศ การสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันก็มักจะเกิดขึ้นตามแนวชายแดนเป็นสำคัญ
สำหรับประเทศไทยความเป็นรัฐสมัยใหม่ก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชาวตะวันตกมีการจัดทำแผนที่อาณาเขตของราชอาณาจักรต่างๆในแถบนี้ขึ้นมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
คำว่า “รัฐชาติ” หมายถึง รัฐสมัยใหม่ที่เพิ่มองค์ประกอบอีก ๒ ประการ ได้แก่
๑. ประวัติศาสตร์ร่วมกัน
๒. สัญลักษณ์ร่วมกัน
องค์ประกอบทั้ง ๒ ประการ ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการสร้างความเป็น “ชาติ” ให้เกิดขึ้นมาในรัฐ ความเป็นชาติในที่นี้ก็คือ ความรู้สึกว่าทุกคนในรัฐนี้ล้วนแต่เป็นพวกเดียวกันนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ มีประเทศหรือรัฐจำนวนหนึ่งที่มีความเป็นรัฐสมัยใหม่ คือ มีองค์ประกอบครบทั้ง ๔ ประการ คือ ประชากร ดินแดนที่แน่นอน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล แต่กลับไม่มีความเป็นรัฐชาติอยู่เลย คือ คนรัฐนั้นๆ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเลยซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา เพราะว่าประเทศเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากยุคล่าอาณานิคมที่ชาวยุโรปเข้ามายึดครองดินแดนแล้วในที่สุดก็ลากเส้นเขตแดนกันตามใจชอบและให้เอกราชกับดินแดนเหล่านั้นในภายหลังโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชนเผ่าต่างๆที่ต้องถูกจับให้มารวมเป็นรัฐเดียวกันด้วยความจำใจเลย ตัวอย่างเช่น ประเทศบูรุนดี ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีสงครามกลางเมืองหรือการเข่นฆ่ากันของคนในประเทศเดียวกันแต่ถือว่าเป็นคนละพวกกันเกิดขึ้นอยู่เนื่องๆ ทั้งนี้ เพราะในประเทศนี้ไม่มีความเป็นรัฐชาติหรือความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจของคนในรัฐ
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการสร้างรัฐชาติให้เกิดขึ้นมาในรัฐสมัยใหม่นั้นมีความสำคัญเพียงไร
สำหรับประเทศไทยหรือประเทศสยามแล้ว กระบวนการสร้างรัฐชาติที่สำคัญเริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์เป็นผู้ที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของชาวตะวันตกมาเป็นอย่างมากก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ดังนั้น พระองค์จึงทราบถึงเล่ห์เหลี่ยมของชาวตะวันตกที่มักใช้ในการยึดครองดินแดนต่างๆให้กลายมาเป็นอาณานิคมของตนเอง ซึ่งข้ออ้างประการสำคัญก็คือ การอ้างว่าประเทศตะวันตกนั้นมีความเจริญมากกว่าจึงมีหน้าที่ในการพัฒนาให้รัฐที่ยังล้าหลังอื่นๆให้มีความเจริญขึ้นมาทัดเทียมกันแต่การจะพัฒนาได้นั้นจำเป็นต้องเอามาเป็นเมืองขึ้นเสียก่อน
นอกจากนี้ วิธีการที่ชาวตะวันตกนิยมใช้ในการปกครองรัฐอาณานิคมของตนเองก็คือวิธีการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระบรมราโชบายในการป้องกันมิให้ชาวตะวันตกมาใช้ข้ออ้างเหล่านี้กับสยามประเทศได้ อาทิเช่น การปรับปรุงขนบธรรมเนียมต่างๆ หรือการสร้างบ้านเรือนแบบชาวยุโรปโดยลอกเลียนแบบมาจากเมืองสิงคโปร์อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวสยามก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้พระองค์ได้รับเอาคติของชาวตะวันตกที่เชื่อกันว่าเมืองหรือประเทศของตนจะมีนักบุญ (Saint) ประจำเมืองคอยพิทักษ์รักษาอยู่ ดังนั้น พระองค์จึงได้สถาปนา “พระสยามเทวาธิราช” ขึ้นมาเป็นเทพผู้พิทักษ์รักษาสยามประเทศทุกเมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้ตะวันออกจรดตะวันตก (ผิดกับหลักเมืองหรือเจ้าพ่อหลักเมืองที่จะคุ้มครองเฉพาะอาณาเขตของเมืองนั้นๆเท่านั้น) และมีประกาศให้ราษฎรสามารถที่จะบูชาพระสยามเทวาธิราชได้ทุกคนไปไม่มีเว้น ด้วยหวังให้พระสยามเทวาธิราชนี้เป็นสัญลักษณ์ร่วมกันของชาวสยามและเป็นเครื่องผูกจิตผูกใจชาวสยามให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในส่วนของการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นผู้ที่กำหนดหรือสร้างว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยให้นับเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน และกลายเป็นความทรงจำมาตรฐานของคนไทยในทุกวันนี้ว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยเริ่มที่สุโขทัย ต่อเนื่องมาที่อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ตาม แม้ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้มีการสร้าง “ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์” ขึ้นมา ได้แก่ ธงมหามงกุฎ ส่วนธงพื้นแดงมีช้างเผือกยืนพื้นอยู่ตรงกลาง ที่อาจเรียกว่าธงชาติได้นั้น ก็ยังไม่มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันของชาวสยามได้แต่อย่างใด เพราะธงดังกล่าวนี้ มีหน้าที่สำคัญคือเป็นเครื่องหมายบอกสัญชาติของเรือ โดยใช้ชักขึ้นในเรือที่มีสัญชาติสยามหรือเรือที่เจ้าของเป็นชาวสยามเท่านั้น
เมื่อมาถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ เพื่อกำหนดรูปแบบและลักษณะการใช้ธงต่างๆอย่างเป็นทางการขึ้นมา แม้จะได้กำหนดว่า “ธงชาติสยาม” คือ ธงพื้นแดงมีรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าหาเสาอยู่ตรงกลาง หรือที่เรียกกันว่า “ธงช้าง” ก็ตาม แต่ธงช้างนี้ก็ยังคงมีหน้าที่สำคัญในการบอกสัญชาติของเรือค้าขายอยู่เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธงช้างจะยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ร่วมกันเพื่อแสดงความเป็นรัฐชาติของชาวสยามอย่างเป็นทางการ แต่ธงช้างนี้ก็ถูกชาวตะวันตกกำหนดให้เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็น “รัฐชาติ” ของชาวสยามอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ เนื่องจากการที่เรือสินค้าของชาวสยามได้ชักธงช้างนี้เพื่อแสดงสัญชาติเรือของตนมาเป็นเวลายาวนาน ชาวตะวันตกซึ่งมีพัฒนาการในการสร้างสัญลักษณ์ของรัฐชาติมาก่อนอย่างยาวนานจนพัฒนามาถึงขั้นที่ใช้ “ธงชาติ” เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นรัฐชาติของตนแล้ว ก็ได้ตีความให้ธงช้างนี้เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นรัฐชาติของชาวสยาม ด้วยเหตุที่พวกตนมีความคุ้นเคยกับธงช้างนี้มานาน
ทำให้ธงช้างนี้ได้รับการนำไปเป็นเครื่องประดับตกแต่งเพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลาเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้ง ในประเทศสยามเองการประดับตกแต่งสถานที่เพื่อต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าอยู่หัวนั้นนอกจากการตั้งโต๊ะหมู่บูชาแล้ว หากใคร สามารถที่จะซื้อหาธงช้าง (ซึ่งเป็นของที่ต้องสั่งทำเข้ามาจากต่างประเทศ) ก็จะนำธงช้างมาประดับต้อนรับ และผู้ที่หาธงช้างไม่ได้ก็ได้นำเอาผ้าขาว – ผ้าแดง มาผูกเพื่อต้อนรับ (เนื่องจากเป็นสี ๒ สี ที่ตรงกันกับสีสันในธงช้าง) ดังเช่นที่ชาวอุทัยธานีจัดการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นับได้ว่า ธงช้างเริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐชาติสยามอย่างไม่เป็นทางการนับแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กระทั่ง มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศสยามได้เข้าร่วมในสงครามโลก ครั้งที่ ๑ กับฝ่ายสัมพันธมิตร และได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๖๐ กำหนดให้ธงชาติสยาม มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ดังที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็ยังได้กำหนดหน้าที่ของธงไตรรงค์นี้ไว้ด้วยว่า “. . . สำหรับใช้ชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป” ซึ่งข้อความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ผิดกับพระราชบัญญัติในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำหนดเอาไว้เพียงแค่ “. . . สำหรับใช้ชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลของสามัญชนทั่วไป บรรดาที่เปนชาติสยาม”
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้อนี้นั้น ทำให้ธงไตรรงค์มีลักษณะของการเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันของชาวสยามหรือเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นรัฐชาติของชาวสยามอย่างเป็นทางการขึ้นมานับแต่ พ.ศ.๒๔๖๐
อย่างไรก็ตาม การสร้างให้ธงไตรรงค์มีความเป็นสัญลักษณ์ของรัฐชาติสยามได้รับการเพิ่มความเข้มข้นมาขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับธงเพิ่มขึ้นมาหลายฉบับและเน้นย้ำความสำคัญของธงชาติในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวสยาม เช่น พระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ มาตรา ๑๗ ระบุว่า “ภายในดินแดนสยามให้ชักได้แต่ธงสยาม. . .” รวมทั้งยังได้มีการออกระเบียบที่ว่าด้วยการชักธงชาติขึ้นมาด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปาฐกถา เรื่อง “ธงชาติ” ที่สำนักงานโฆษณาการได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๙ นั้น ยังได้มีคำกล่าวตอนหนึ่งว่า “. . .การกระทำด้วยกิริยาหรือวาจาอันเป็นการหมิ่นประมาทต่อธงชาตินั้น ย่อมถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทประเทศชาติด้วย” ซึ่งคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าธงชาติไทย คือ สัญลักษณ์แทนความเป็นรัฐชาติไทย
การส่งเสริมให้ธงไตรรงค์เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นรัฐชาติของไทยนั้นยังมีออกมาอีกมากมายหลายรูปแบบ ทั้งการตรากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ การโฆษณาผ่านสื่อของรัฐ การปลูกฝังผ่านแบบเรียน การใช้ประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆด้วยธงชาติ เป็นต้น การส่งเสริมต่างๆเหล่านี้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในยุคนี้เป็นยุคที่มีการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องของชาตินิยมกันอย่างมาก และการให้ความสำคัญต่อธงชาติก็ได้รับการตอกย้ำผ่าน “รัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี” มีข้อความ ดังนี้
ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้
๑. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม
๒. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม
๓. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
๔. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใดๆก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
๕. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวในข้อ ๑ – ๒ -๓ และ ๔ นั้น พึ่งช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ หลังจากผ่านระยะเวลาอันยาวนานธงชาติไทยก็มีพัฒนาการจนกระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นรัฐชาติของไทยดังเช่นในปัจจุบัน แม้ว่าในทุกวันนี้ความรู้สึกว่าธงชาติไทยของเราเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นรัฐชาติของชาวไทย ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วก็ตาม