แม้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ จะเป็นพระราชบัญญัติที่วางแบบแผนเกี่ยวกับการใช้ธงแบบต่างๆอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับ “ธง” ถึง ๓ ฉบับ ด้วยกันโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ มีระยะเวลาการใช้อยู่เพียง ๖ ปี ก็มีการตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ ขึ้นใช้แทน และต่อมาอีกเพียง ๒ ปี ก็มีการตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ ขึ้นใช้ เป็นฉบับสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(และใช้ต่อมาจนถึง ร.ศ.๑๒๙) ธงพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับ นี้มีข้อเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรเป็นสิ่งที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ | พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ | พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๐ |
๑. ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ | ๑. ธงมหาราช | ๑. ธงมหาราช |
๒. ธงจุฑาธิปไตย | ๒. ธงไอยราพต | ๒. ธงไอยราพต |
๓. ธงเยาวราชธวัช | ๓. ธงราชินี | ๓. ธงราชินี |
๔. ธงไชยเฉลิมพล | ๔. ธงเยาวราช | ๔. ธงเยาวราช |
๕. ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ฤาผู้แทนคอเวอนเมนต์ | ๕. ธงราชวงษ์ | ๕. ธงราชวงษ์ |
๖. ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับกงสุลประจำราชการต่างประเทศ | ๖. ธงเรือหลวง | ๖. ธงราชวงษ์ สำหรับพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายใน |
๗. ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับผู้ซึ่งไปราชการแลผู้ว่าราชการเมือง | ๗. ธงเสนาบดี | ๗. ธงเรือหลวง |
๘. ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับเรือพระที่นั่งแลเรือรบหลวง | ๘. ธงฉาน | ๘. ธงเสนาบดี |
๙. ธงเกตุ | ๙. ธงหางแซงแซว | ๙. ธงฉาน |
๑๐. ธงหางแซงแซว | ๑๐. ธงหางจระเข้ | ๑๐. ธงหางแซงแซว |
๑๑. ธงหางจระเข้ | ๑๑. ธงผู้ใหญ่ | ๑๑. ธงหางจระเข้ |
๑๒. ธงนำร่อง | ๑๒. ธงชาติ | ๑๒. ธงผู้ใหญ่ |
๑๓. ธงชาติสยาม | ๑๓. ธงนำร่อง | ๑๓. ธงชาติ |
๑๔. ธงนำร่อง |
จะเห็นว่า “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” มีซ้ำกันถึง ๔ ชนิด แต่มีรายละเอียดข้อสังเกตที่แตกต่างกัน ดังนี้
๑. “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ฤาผู้แทนคอเวอนเมนต์”ที่มุมธงข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน และมีจักรี-มงกุฎข้างบนนั้น
๒. “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับกงสุลประจำราชการต่างประเทศ” ที่มุมข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน
๓. “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับผู้ซึ่งไปราชการแลผู้ว่าราชการเมือง” ที่มุมธงข้างบนมีวงขาวกลมโต ๑/๔ ของส่วนกว้างของธงนั้น ในกลางวงมีตราตำแหน่งของผู้ที่ไปราชการนั้นๆหรือตรานามเมือง
๔. “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น สำหรับเรือพระที่นั่งแลเรือรบหลวง” ที่มุมธงข้างบนมีจักร
เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ ธงชนิดต่างๆตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ ก็มีบางชนิดที่ยังใช้คงเดิม แต่ก็มีบางชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
๑. ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เปลี่ยนชื่อเป็น “ธงมหาราช” และกำหนดรายละเอียดขนาดของธงให้แน่นอนขึ้นว่า “ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นในสีขาบขนาดกว้าง ๓ ส่วน ยาว ๔ ส่วน”
๒. ธงจุฑาธิปไตย เปลี่ยนมาเป็น “ธงไอยราพต” ดังเช่นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เป็นธงพื้นสีแดงมีรูปช้างไอยราพตสามเศรียรทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมไว้ภายในตั้งอยู่บนหลัง ๗ ชั้น อยู่ข้างหน้าช้าง ๒ องค์ และข้าง-หลังช้าง ๒ องค์ ใช้เป็นธงประจำแผ่นดินสยามสำหรับชักขึ้นในพระมหานครเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ประทับอยู่
๓. ธงเยาวราชธวัช ถูกยกเลิก โดยเพิ่มเติมธงชนิดใหม่เพื่อเข้ามาทำหน้าแทนและกำหนดการใช้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
๓.๑ ธงราชินี ใช้สำหรับ สมเด็จพระอัครมเหสี ธงนี้มีพื้นนอกสีแดงขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งเป็นสีขาบ ขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายในพื้นสีขาบเหมือนกับธงมหาราช
๓.๒ ธงเยาวราช ใช้สำหรับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร ธงนี้มีพื้นสีขาบขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน รูปเครื่องหมายในกลางธง เหมือนอย่างธงมหาราชยกเว้นแต่เครื่องสูงสองข้างโล่ห์นั้นเป็นฉัตร ๕ ชั้น
๓.๓ ธงราชวงศ์ ใช้สำหรับ พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ (ต้องมีอิสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนบนเพลาใบและทหารบกยืนแถวคลี่ธงไชย แตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายคำนับเป็นเกียรติยศเท่านั้น พระราชวงศ์อันมีอิสริยยศต่ำกว่านี้ นับเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้น้อย ถ้าจะใช้ธงราชวงศ์จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษ) ธงนี้มีขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นเป็นสีขาบตรงกลางมีรูปโล่ตราแผ่นดิน บนโล่ตราแผ่นดินนั้นมีรูปจักรีไขว้กันและมีมหามงกุฎสวมอยู่บนจักรี
๔. ธงไชยเฉลิมพล ถูกยกเลิก
๕. ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทั้ง ๔ ชนิด ได้ยกเลิกโดยเปลี่ยนแปลงรวมมาเป็นชนิดเดียว คือ เป็น “ธงเรือหลวง” ซึ่งมีพื้นสีแดงตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ธงชนิดนี้ใช้สำหรับชักในเรือหลวงทั้งปวง ที่ป้อมทหารและที่พักทหารซึ่งขึ้นอยู่กับกรมทหารเรือ
๖. ธงเกตุ เปลี่ยนชื่อเป็น “ธงฉาน” และได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม คือ นอกจากเดิมที่กำหนดให้เป็นธงพื้นสีขาบตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสา ก็ได้เพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมบนข้างหน้าช้างสำหรับตำแหน่งนายพลเรือโท หรือรูปจักรสีขาวทั้งมุมบนมุมล่างข้างหน้าช้างสำหรับตำแหน่งนายพลเรือตรี (ถ้าไม่มีรูปจักรสีขาว ใช้สำหรับตำแหน่งนายพลเรือเอก)
๗. ยกเลิกธงหางแซงแซวเดิม เปลี่ยนเป็น “ธงหางแซงแซว” แบบใหม่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนธงฉานทุกประการแต่ตัดชายเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว ใช้สำหรับตำแหน่งนายพลเรือจัตวา
๘. ยกเลิกธงหางจระเข้แบบเดิม เปลี่ยนเป็น “ธงหางจระเข้” แบบใหม่ โดยมีขนาดกว้างต้น ๗ นิ้ว เรียวปลายแหลม ยาวสามวา ส่วนหนึ่งข้างต้นพื้นสีแดง สองส่วนข้างปลายพื้นสีขาบ ทั้งนี้ ตัดรูปวงจักรสีขาวอย่างธงหางจระเข้แบบเดิมออก ธงนี้ใช้สำหรับเฉพาะนายเรือ
๙. ธงชาติสยาม เปลี่ยนชื่อเป็น ธงชาติ ส่วนลักษณะต่างๆยังคงเป็นเช่นเดิม คือ พื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าข้างเสา
๑๐. ธงนำร่องยังคงมีลักษณะเช่นเดิม คือ เหมือนกับธงชาติแต่เพิ่มขอบสีขาวโดยรอบ
๑๑. ทั้งนี้ พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ ได้กำหนดให้เพิ่ม “ธงผู้ใหญ่” สำหรับใช้คู่กับธงหางจระเข้เพื่อเป็นที่หมายบอกว่านายเรือผู้ใหญ่อยู่ในเรือลำนั้น โดยธงผู้ใหญ่นี้มีขนาดต้นกว้าง ๑๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ เรียวปลายแหลมส่วนหนึ่ง ข้างต้นพื้นสีขาบ ๒ ส่วน ข้างปลายพื้นสีขาวมีจักรสีขาวอยู่กลางพื้นสีขาบ และ เพิ่ม “ธงเสนาบดี” สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีของกระทรวงทหารเรือโดยธงเสนาบดีนี้ มีพื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอสอดอยู่ในวงจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎ
ทั้งนี้ จากการที่ได้ยกเลิกธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทั้ง ๔ ชนิด ไปทำให้บรรดาผู้แทนพระองค์ กงสุล ผู้ไปราชการ และผู้ว่าราชการเมือง ไม่มีธงประจำตัว ดังนั้น พระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๑๖ มาตรา ๕ จึงแก้ไขปัญหานี้โดยกำหนดให้“ข้าทูลลอองธุลีพระบาท บรรดามีตำแหน่งน่าที่ราชการอันหนึ่งอันใด จะใช้ธงเปนที่หมายตำแหน่งน่าที่ ให้ปรากฏในคราวไปราชการ ก็จงให้ใช้ธงเรือหลวงนั้นเปนที่หมาย แต่ต้องเติมรูปตราตำแหน่ง ฤาตรานามกรม ลงไว้ที่มุมธงข้างบนข้างน่าช้างเปนสำคัญ ถ้าผู้ใด ตำแหน่งใดกรมใด จะใช้ตราอย่างใด เปนเครื่องหมายในธง ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราช-ทานพระบรมาชานุญาตโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึ่งให้ใช้ได้ ตราตำแหน่งอันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรม-ราชานุญาตแล้วนั้น คือ
ตราราชทูตแลข้าหลวงต่างพระองค์๑ ราชทูต ฤาข้าหลวงใหญ่ ในสถานตำแหน่งผู้ที่แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ฤาผู้แทนรัฐบาล ใช้ตรารูปโล่ห์ตราแผ่นดินมีจักรีมหามงกุฎอยู่เบื้องบนตรากงสุล
๒ กงสุลประจำราชการต่างประเทศ ใช้ตรารูปโล่ห์ตราแผ่นดิน”
พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ นี้มีผลบังคับใช้อยู่ประมาณ ๒ ปี เท่านั้น ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ ขึ้นมาบังคับใช้แทนเนื่องจาก “พิจารณาเห็นว่าธงทุกอย่างตามพระราชบัญญัติ ซึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราไว้แล้วนั้น บางอย่างควรการ บางอย่างเกินการ แลบางอย่างไม่พอการ ควรที่จะเลิกถอนเสียบ้าง เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ผสมกับของเก่าที่คงใช้ได้ สำหรับใช้ให้พอเพียงแก่การอันควรใช้ในสมัยนี้”
แต่พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ นี้ ก็แทบจะเหมือนกับพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ เลยทีเดียว ผิดกันก็แต่ในส่วนของธงราชวงศ์ ที่ได้กำหนดให้เพิ่มเติม “ธงราชวงศ์ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน” ขึ้น โดยที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนอย่างกับธงราชวงศ์ทุกประการ เว้นแต่ต้องตัดชายเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซวเท่านั้น นอกนั้นธงทุกชนิดยังคงเหมือนในพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ ทุกประการ
ทั้งนี้ ธงต่างๆที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ และ ๑๑๘ นั้น เว้นแต่ธงมหาราช และธงไอยราพต แล้ว ธงทั้งปวงที่สร้างขึ้นจะใช้สำหรับชักขึ้นบนเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับบอกตำแหน่งของผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดที่อยู่บนเรือลำนั้นเป็นสำคัญ
ส่วนธงนำร่องก็ใช้บอกสถานะของเรือลำนั้น ว่าเป็นเรือที่ใช้ในการนำร่อง และธงชาติ (ธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก) ก็ใช้ชักขึ้นบนเรือเพื่อทำหน้าที่บอกสัญชาติของเรือลำนั้นว่าเป็นเรือของชาติสยามเป็นสำคัญ
อนึ่ง สำหรับธงชาติ (ธงช้าง) นี้ ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ นั้น นอกจากใช้ชักขึ้นเรือสัญชาติสยามแล้วยังใช้เป็นธงสำหรับนำเสด็จสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในนังสือเรื่อง “ความทรงจำ” ถึงกระบวนเสด็จของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้ายในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า
“...เวลาที้เจ้านายพวกฉันออกไปเรียนภาษามคธนั้น ร่วมกับเวลาประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ที้เก๋งวรสภาภิรมย์ อยู่ใกล้ๆกันได้ยินถนัด เสียงเจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายกนั้นดังกว่าเพื้อน แต่ปรึกษาหารือกันอย่างไรไม่เข้าใจ ถึงกระนั้นก็ชอบแอบดูตามประสาเด็ก พอจวนเวลา ๑๑ นาฬิกา กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จมา มีกระบวนแห่มาจากวังหน้าทุกวัน กระบวนหน้ามีทหารคน ๑ ถือธงช้างนำ แล้วถึงแตรวงและทหารราบกองร้อย ๑ พวกนี้มาหยุดอยู่นอกประตูวิเศษชัยศรี ต่อนั้นถึงกระบวนตำรวจหน้าเดิน ๒ สาย ไพร่ถือมัดหวาย นายถือหอก เดินเข้ามาจนถึงประตูพิมานชัยศรี ต้องวางหอกและมัดหวายไว้เพียงนั้นเดินประสานมือเปล่าเข้าประตูต่อมา กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชยาน กั้นพระกลด มีมหาดเล็กเชิญเครื้องตามและมีวอที้นั้งรอง (สำหรับทรงเวลาฝนตก) ด้วยหลัง ๑ กระบวนหลังมีนายทหารคาดกระบี้และตำรวจหลังเดินแซง ๒ สาย มาปลดกระบี้วางหอกที้นอกประตูพิมานชัยศรีเหมือนพวกกระบวนหน้า...”