สารบัญ
จากธงช้างถึงธงไตรรงค์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ ข้อ ๑๓ กำหนดให้ “ธงชาติสยาม” เป็นรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง กระทั่งถึงพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ มาตรา ๔ ที่ ๑๓ ก็กำหนดให้ “ธงชาติ” มีพื้นสีแดงกลางเป็นรูปช้างเผือกหน้าเข้าข้างเสา

แต่ ธงชาติสยาม หรือ ธงชาติ ที่กำหนดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้มีฐานะเป็น “ธงชาติ” เช่นเดียวกับธงไตรรงค์ที่เราเข้าใจกันอย่างทุกวันนี้ เพราะธงชาติสยามหรือธงชาติ ซึ่งเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดงนั้นใช้สำหรับบอก “สัญชาติ” โดยเฉพาะสัญชาติของ(พ่อค้า)เรือค้าขายและราษฎรชาวสยามโดยทั่วไป ดังข้อความในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ ข้อ ๑๓ ที่กำหนดวิธีใช้ธงชาติสยาม ว่า “...ใช้ในเรือกำปั่นแลเรือทั้งหลายของพ่อค้าเรือกำปั่นแลเรือต่างๆ ของไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม”

แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการที่เรือของชาวสยามที่ใช้เดินทางติดต่อค้าขายกับต่างประเทศใช้ธงช้างเผือกบนพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นชาวสยาม ดังนั้น ชาวต่างประเทศจึงนิยมนับถือว่าธงชนิดนี้เป็นธง(รัฐ)ชาติสยาม และใช้ธงช้างเผือกบนพื้นแดงนี้ประดับตกแต่งเพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลาที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศต่างๆ นอกจากนี้ การที่มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ราษฎรสามัญทั่วไปมีสิทธิ์ใช้ธงชาติ (ธงช้างเผือกบนพื้นแดง) จึงทำให้การจัดสถานที่รับเสด็จเจ้านายมักประดับประดาด้วยธงชนิดนี้เป็นหลักและเป็นที่แพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักรสยาม

ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของธงมาก โดยหลังจากพระองค์ทรงครองสิริราชย์สมบัติได้เพียง ๑๑๒ วัน ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๒๙ ขึ้นในวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓ นับตามปฏิทินแบบเดิม)

พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีธงเพิ่มเติมขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ธงราชการ” สำหรับใช้ชักที่ในเรือหลวงทั้งปวงกับทั้งใช้ชักที่บรรดาสถานที่ราชการต่างๆ ธงราชการนี้มีพื้นสีแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา ทั้งนี้ ธงราชการนี้มีลักษณะเหมือนกับ “ธงเรือหลวง” ตามพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ แต่ว่ามีการกำหนดให้สามารถใช้ได้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมโดยสามารถใช้ในสถานที่ราชการได้ด้วยผิดกับธงเรือหลวงที่ใช้ได้เฉพาะแต่ในเรือหลวงกับป้อมและที่พักทหารที่อยู่กับกรมทหารเรือเท่านั้น แต่เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๒๙ ดังกล่าว ธงเรือหลวงก็ได้เปลี่ยนไปกลายเป็น “ธงทหารเรือ” โดยมีรูปร่างเหมือนธงราชการทุกประการผิดแต่เพิ่มเติมรูปสมอสอดอยู่ในวงจักรไว้ที่มุมบนด้านซ้ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระบรมราชโองการ “ประกาศเพิ่มเติมแลแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙” ขึ้นมา เพื่อแก้ไขธงชาติ (ธงราชการ) ให้ “เปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หน้าหันเข้าข้างเสา” รวมทั้งเพิ่มเติมธงขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง ก็คือ “ธงค้าขาย” ซึ่งมีลักษณะ “รูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ๑/๒ ส่วน มีแถบขาว ๒ ผืน กว้าง ๑/๖ ของส่วนกว้างของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างแลบน ของธง ๑/๖ ของส่วนกว้างของธง”

สาเหตุของการมีพระบรมราชโองการออกประกาศฉบับนี้ปรากฎอยู่ในส่วนอารัมบภของประกาศฉบับนี้เอง ความว่า “...พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์พิจารณาเห็นว่า การค้าขายของประเทศสยาม ได้ดำเนินมาเปนลำดับแลยังจะทวีมากขึ้นทุกที ส่วนธงสำหรับชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลของสาธารณชนบรรดาชาติที่เปนชาวสยามยังไม่เหมาะ โดยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้แม้แลแต่ไกลแล้ว เห็นผิดแผกกับธงราชการน้อยนัก แลทั้งรูปช้างซึ่งใช้กันอยู่ก็ไม่งดงาม จนเกือบไม่ทราบว่าช้างหรืออะไร เปนเพราะวาดรูปช้างนั้นเปนการลำบากนั่นเอง ควรที่จะแก้ไขมิให้เปนดังที่กล่าวมาแล้วนี้”

ทั้งนี้ ในระยะเวลาก่อนที่จะได้มีการประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ ก็มีหลักฐานแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงธงชาติจากรูปของ ธงช้างเผือกอยู่กลางพื้นสีแดง มาเป็นธงที่ไม่มีรูปช้างเผือกอยู่แล้ว (แม้ว่าประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๙ จะเพียงแต่กำหนดให้เปลี่ยนจากช้างเผือกเปล่ามาเป็นช้างเผือกทรงเครื่องก็ตามที) โดยสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาตินั้น จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กและได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ได้อธิบายเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖ เรื่อง เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนธงชาติไทย ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ สำรวจคอคอดกระ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้เลิกหวย ก.ข. ที่ประทับชายทะเลของรัชกาลที่ ๖ กำเนิดสวนลุมพินี” ดังนี้

“เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ตอนต้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำทางภาคเหนือมากเป็นประจำ... โดยเฉพาะปี พ.ศ.๒๔๕๙ นั้นเป็นปีพิเศษมีฝนตกทางหัวเมืองภาคเหนือมาก ทำให้ระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้วๆมา ถึงแม้ว่าน้ำจะยังไม่หลากล้นลงมาถึงกรุงเทพฯ แต่ข่าวคราวจากหัวเมืองภาคเหนือก็เป็นที่ล่ำลือกันหนาหูขึ้นว่าน้ำทำท่าจะท่วม ถ้าฝนยังไม่หยุดกระหน่ำซ้ำเติมลงมา และน้ำทะเลก็หนุนขึ้นเรื่อยๆแล้วกรุงเทพพระมหานครก็จะหนีน้ำท่วมไม่พ้น...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระวิตกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง (ว่า)...ถ้าหากเกิดอุทกภัยขึ้นจริงและถึงกับท่วมทุ่งไร่ทุ่งนาภาคกลางแล้วก็หมายความถึงภัยพิบัติอื่นๆยังจะต้องติดตามมาอีกเป็นอเนกประการ...จึงทรงพระราชดำริใคร่จะเสด็จแปรพระราชสำนักขึ้นไปโดยขบวนเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะได้ทรงสังเกตการณ์ว่าจะเป็นไปสักเพียงไหนหรือถ้าหากจะเกิดน้ำท่วมขึ้นจริงจะได้หาทางป้องกันช่วยเหลือเพื่อมิให้ราษฎรต้องได้รับภัยธรรมชาติเท่าที่พอจะทำได้... (ทั้งนี้)ยังมีเมืองเอกเมืองหนึ่งคือเมืองอุทัยธานีซึ่งมีภูมิประเทศที่ค่อนข้างทุรกันดารปราศจากการคมนาคมใดๆ นอกจากทางเกวียนที่ต้องบุกผ่านป่าหรืออาศัยเรือขึ้นล่องติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยลำน้ำ(สะแกกรัง)...ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริว่าหากเป็นไปได้ ก็น่าจะเลยเสด็จพระราชดำเนินเหยียบเมืองอุทัยธานีเป็นการตรวจราชการคราวเดียวกันเสียด้วยทีเดียว...

...ประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีผู้อยู่ห่างไกลพระนครหลวงนั้น แต่ก่อนร่อนชะไรก็ยังหาเคยมีโอกาสเฝ้าหรือแม้แต่จะได้เห็นองค์พระมหากษัตริย์ของตนไม่ เมื่อได้ทราบว่าทางราชการเตรียมปลูกพลับพลาที่ประทับไว้รับเสด็จและเกณฑ์นักโทษออกตกแต่งบริเวณสองข้างทางริมน้ำที่เรือพระที่นั่งจะผ่าน อีกทั้งประกาศข่าวให้ประชาชนชาวเมืองทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเยี่ยมเมืองอุทัยธานีและจะได้หยุดประทับแรมถึงสองราตรี อันจะเป็นโอกาสให้ได้เฝ้าชมพระบารมีและถวายความเคารพโดยใกล้ชิดฉะนี้ ต่างก็เกิดปิติยินดี เอะอะตระเตรียมตัวและเคหสถานบ้านเรือนเป็นงานรับเสด็จทั่วหน้ากันเป็นการใหญ่...ตั้งแต่หน้าเมืองไปจนจดตลาดสะพรั่งสะพรึ่บไปด้วยธงทิว ผ้าเฟื่อง ซุ้มดอกไม้ และโต๊ะบูชา ที่ได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้วอย่างสวยงามแปลกตา เพราะประชาชนนับตั้งแต่ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และร้านค้าต่างๆ ลงไปจนกระทั่งชาวบ้านใหญ่น้อยทั้งหลาย ต่างพากันตกแต่งประดับประดาเคหสถานแห่งตน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี ประกวดประขันเต็มที่หรือเท่าที่ฐานะความสามารถของตนจะจัดทำได้ แต่สมัยนั้น ประเทศไทยยังใช้ธงพื้นแดงมีรูปช้างเผือกอยู่กลางเป็นธงประจำชาติ โอกาสที่จะได้ใช้ธงประดับประดาสมัยนั้นก็มิได้กะเกณฑ์ราษฎรชาวบ้านให้ทำกัน คงมีแต่งานของราชการหรือในพิธีใหญ่ๆเท่านั้น ทั้งนานๆจึงจะมีการตกแต่งกันขึ้นแต่ละครั้ง ปกติจังหวัดที่ห่างไกลพระนครก็เกือบจะไม่ค่อยได้จัดงานใหญ่โตอะไรที่ถึงกับจะต้องติดธงบ่อยนัก จึงปรากฏว่าชาวบ้านหาธงกันไม่ใคร่จะได้... (แต่)ปรากฏว่าทุกหนทุกแห่งเที่ยววิ่งหาธงกันเป็นจ้าละหวั่น บ้างก็เที่ยวไปขอหยิบขอยืมมาจากจังหวัดใหญ่ๆ ที่ใกล้เคียงพอจะไปมาได้ทันท่วงที เช่น จังหวัดนครสวรรค์หรือชัยนาท เป็นต้น... ความจริงการต้อนรับเช่นนั้นทางราชการฝ่ายบ้านเมืองก็ดี หรือทางพระราชสำนักก็ดี มิได้กะเกณฑ์หรือบังคับกวดขันอะไร ใครจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะมิได้ถือเอาเป็นผิด หากแต่เป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรเอง ที่คิดทำกันขึ้นโดยความภักดีอย่างพร้อมเพรียงยิ่ง

แต่ถึงกระนั้น (ในวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๙) ตลอดระยะทางที่ขบวนเสด็จผ่าน ปรากฏว่าหาธงช้างไม่ใคร่ได้สักกี่ผืน คงมีแต่ผ้าขาว ผ้าแดงห้อยรับเสด็จแทนธงชาติเสียเป็นส่วนมาก... (เพราะ) ธงช้างเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศเพราะทำในเมืองไทยเองไม่ได้ ทั้งราคาก็ซื้อขายกันนับว่าแพงอยู่ตามกาลสมัย... ทำให้(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)ทรงเห็นใจอยู่ จนถึงกับทรงพระราชปรารภว่า “การห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว” แต่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อันประกอบด้วยพระเมตตาการุณภาพเป็นที่ตั้ง ทั้งทรงซาบซึ้งในเจตนาดีของพสกนิกรของพระองค์ด้วยความเห็นใจอยู่เป็นอันมาก จึงสิ่งอันใดแม้มิต้องพระราชปรารถนาหรือขัดต่อพระราชนิยมสักเพียงไรก็ไม่ยอมแสดงให้ปรากฏแม้แต่น้อยคงเสด็จผ่านไปด้วยพระอาการชื่นชมต่อการต้อนรับนั้นๆเป็นปรกติอยู่

...(แต่มี)บ้านหลังคามุงจากเก่าๆขนาดเล็กหลังหนึ่ง...ทำการรับเสด็จอย่างไม่ยอมน้อยหน้าคนอื่นๆโดยพยายามติดธงช้างขนาดเล็กๆไว้ผืนหนึ่ง ชะรอยจะเพิ่งได้มาอย่างกระทันหัน และคงจะภาคภูมิใจอยู่ที่สามารถหาได้ธงช้างแบบที่ถูกลักษณะมา จึงเอาขึ้นไปติดไว้บนยอดหน้าจั่วหลังคา เพื่อให้เห็นได้ถนัดโดยง่าย...(แต่)จะเป็นด้วยความรีบร้อนจนหมดโอกาสพิจารณาหรือสะเพร่าไม่ทันสังเกตหรือโง่เขลาเบาปัญญาอย่างไม่น่าจะเป็นได้อะไรสักอย่างหนึ่งก็ตาม ธงชาติรูปช้างผืนนั้นปลิวสะบัดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงาย เอาสี่เท้าชี้ฟ้าอยู่ โดยเจ้าของบ้านจะได้แสดงกิริยาแปลกประหลาดหรือรู้สึกตัวแต่สักนิดก็หาไม่...”

เหตุการณ์นี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงมีความสะเทือนพระราชหฤทัยไปในทางสลดสังเวช” แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าเป็นความผิดถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด ทั้งยังทรงถือว่าเป็นความบกพร่องที่ย่อมจะเกิดขึ้นได้ แต่สาเหตุที่มาของความบกพร่องนี้ที่ควรจะได้รับการแก้ไขเสียใหม่ก็คือการใช้ธงรูปช้างเป็นธงชาติไทยนั่นเอง

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้อธิบายต่อว่า ในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๙ หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากเมืองอุทัยธานีแล้ว ทรงมีพระราชปรารภปรึกษาหารือกับท่านผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงเรื่องหลักการที่จะแก้ไขในการใช้ธงนี้ โดยถือเอาเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อสำคัญกว่าสิ่งอื่น รวมทั้งความสะดวก ความเหมาะสม และความหมายในรูป ลักษณะ และสีของธงอันจำเป็นจะต้องให้มีอยู่อย่างพร้อมมูล นอกจากนี้ยังต้องมีความสง่างามอีกด้วย

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติควรจะใช้ผ้าชิ้นๆเพลาะกันได้โดยง่าย เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่ลำบากที่จะทำใช้ได้เอง ทั้งยังไม่ต้องสั่งซื้อผ้าพิมพ์เป็นรูปช้างสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ทั้งนี้ ควรที่จะใช้สีที่มีความหมายแสดงถึงความสามัคคี ยึดมั่นต่อชาติ และสามารถสังเกตเห็นได้แต่ไกล เพื่อให้เกิดความสวยงามเมื่อเวลาประดับประดาตามที่ต่างๆ

ในตอนแรก โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองทำขึ้นเป็นห้าริ้ว โดยใช้สีแดงกับสีขาวสลับกันเป็นทางตามยาว เนื่องจากผ้าแดงและผ้าขาวที่หาได้โดยง่ายทำให้สามารถนำมาเย็บเป็นธงได้สะดวก ธงชาติแบบนี้ จะสังเกตได้ว่ามีลักษณะเหมือนกับ “ธงค้าขาย” ตามประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๙ นั่นเอง

ข้อดีของธงชาติแบบที่คิดขึ้นใหม่นี้ ก็คือ วิธีใช้ง่าย เพราะไม่ว่าจะเอาด้านไหนติดกับคันธงก็จะไม่แตกต่างกัน ไม่ต้องกลัวการติดผิดทางอย่างเช่นธงช้าง ไม่ต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็นเพราะประชาชนสามารถประดิษฐ์ธงชาติได้เอง และต้องการเมื่อไร จำนวนเท่าใด ก็สามารถเย็บได้ทันการ

เมื่อเป็นดังนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำธงชาติแบบใหม่นี้ไปทดลองติดที่สนามเสือป่าก่อน แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไปด้วยสีแดงกับสีขาวไม่เกิดความงดงามน่าชมสมกับที่เป็นธงประจำชาติ แต่เพื่อจะทรงฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจึงยังคงอนุญาตให้ใช้อยู่ต่อมาอีกหลายเดือน ซึ่งก็มีผู้แสดงความเห็นอันสำคัญ คือ ผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “อะแควเรียส” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน” ว่านายอะแควเรียสได้แสดงความเห็นเรื่องธงสยามใหม่ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ฉบับประจำวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ มีใจความว่า

“เพื่อนของผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นว่าไม่สู้พอใจต่อรูปแบบของธงสยามที่ทำขึ้นใหม่เพราะเห็นว่าไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ และได้ออกความเห็นว่าริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ดังนี้ริ้วขาวที่กระหนาบสองข้างประกอบกับริ้วสีน้ำเงินกลางก็จะรวมกันเป็นสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสีแดงกับขาวที่ริมประกอบกันก็จะเป็นสีสำหรับชาติ และด้วยประการฉะนี้ กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง ขาว กับน้ำเงิน เช่นเดียวกับ ธงสามสี (ฝรั่งเศส) ธงยูเนี่ยนแจ็ค (อังกฤษ) และธงดาวและริ้ว (อเมริกัน)

ความคิดเห็นของนายอะแควเรียสนี้ดูจะเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดสีน้ำเงินมากเพราะเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระองค์ (วันเสาร์) แม้เครื่องเต็มยศของทหารราบ ๑๑ ซึ่งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ประจำรัชกาลก็โปรดให้ใช้สีน้ำเงินคู่กับทหารมหาดเล็กรัชกาลที่ ๕ ซึ่งใช้สีแดงอยู่ ทั้งเครื่องแบบมหาดเล็กในพระราชสำนักก็ใช้สีน้ำเงินเป็นพื้น นอกจากนี้แถบเหรียญราชรุจิยาภรณ์ อันเป็นเหรียญที่ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเฉพาะข้าราชบริพารในพระองค์ก็ใช้สีน้ำเงินเช่นกัน

ดังนั้นพระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ต่อมา คือ เจ้าพระยารามราฆพ) ออกแบบเพิ่มเติมแถบสีน้ำเงินเข้ามาตรงกลางอีกแถบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ก็ทรงเห็นชอบด้วยกับธงแบบใหม่นี้

นอกจากนี้แล้ว การเปลี่ยนแบบธงชาติสยามให้กลายมาเป็นธงไตรรงค์นี้ ยังมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอยู่ด้วยดังปรากฎในส่วนอารัมภบท ของ “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐” ความว่า

“มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชคำนึงถึงการที่กรุงสยามได้ประกาศสงครามต่อชาติเยอรมัน แลออสเตรียฮังการี เข้าเปนสัมพันธไมตรีร่วมศึกกับมหาประเทศในยุโรป อเมริกา แลอาเซีย ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมาธิปไตย ครั้งนี้ นับว่าชาติสยามได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญถึงคั่นอันสำคัญยิ่งแล้ว สมควรจะมีอภิลักขิตวัตถุเพื่อเปนเครื่องเตือนให้ระลึกถึงอภิลักขิตสมัยนี้ไว้ให้ปรากฏอยู่ชั่วฟ้าแลดิน

จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศสมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่

เข้าอีกสีหนึ่ง ให้เป็นสามสีตามลักษณธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมากนั้น เพื่อให้เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ให้พินาศประลัยไป

อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง...”

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐ ชาวไทยจึงได้มีธงไตรรงค์เป็นธงชาติมาตราบจนปัจจุบัน จากผลของพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ มาตรา ๓ ซึ่งกำหนดว่า

“ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป

ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เปนธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย”

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานความหมายของสีในธงไตรรงค์เอาไว้ในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ความหมายของธงไตรรงค์” ดังนี้

ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตใจ
แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษาชาติ ศาสนา
น้ำเงินคือโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตก็กู้เกียรติสยาม
หน้า จาก ๑๒ หน้า