ธงที่ใช้กันในโลกนี้ มีมากมายหลายชนิด ต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ความต้องการของแต่ละคนหรือกลุ่มชน แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ธงที่นับถือกันว่ามีความสำคัญมากที่สุดก็คือ “ธงชาติ” เนื่องจากเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่ใช้บ่งบอกถึงความเป็น(รัฐ)ชาติ ความเป็นหมู่พวกเดียวกัน เป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ
ธงที่นักวิชาการตะวันตกนับถือกันว่าเป็น “แม่แบบ” ของธงชาติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ ธงที่ชาวโรมันใช้ในกองทัพนั่นเอง ในสมัยที่ชาวโรมันเรืองอำนาจและมีการก่อตั้งเป็นจักรวรรดิขึ้นมานั้น ชาวโรมันได้เริ่มนำเอาพระฉายาลักษณ์ของพระจักรพรรดิมาประดับบนผืนธงแทนเทพเจ้าหรือรูปสัตว์อย่างเช่นธงในสมัยแรกๆ ธงจึงมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติมากขึ้น ยิ่งใน ค.ศ.๓๑๒ เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนติน ทรงยอมรับนับถือคริสต์ศาสนามาเป็นศาสนาประจำจักรพรรดิโรมันแล้ว ได้มีการนำตัวอักษรละติน X และ P อันเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์มาทำเป็นเสาธงล้อมรอบด้วยช่อมะกอก ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระจักรพรรดิ ส่วนธงนั้นยังคงเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระจักรพรรดิอยู่ตามเดิม ธงที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยของพระจักรพรรดิคอนสแตนตินมีความสำคัญยิ่งในการรวมศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสมัยนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในแผ่นดินเข้าไว้ ณ ที่แห่งเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ธงในสมัยจักรวรรดิโรมัน ยังไม่นับเป็น ธงประจำชาติ ตามความหมายของคำว่า ชาติ (nation) ในปัจจุบัน
ธงชาติสากลที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Ages) ซึ่งอยู่ระหว่างการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน (ค.ศ.๔๗๖) ถึงปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา (ค.ศ.๑๔๙๒) ธงชาติสากลเริ่มพัฒนาขึ้นมาในโลกตะวันตกโดยมีบทบาทเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน พวกมุสลิมที่เข้ามารุกรานโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ – ๘ ได้นำเอารูปแบบและสีสันต่างๆของธง (เช่น เขียว แดง ขาว ดำ ฯลฯ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย) มีลวดลายอักษรอาหรับที่ดูแปลกตาแตกต่างไปจากรูปเทพเจ้าหรือสัตว์ที่ชาวตะวันตกนิยมกันมาแต่เดิม เข้ามาเผยแพร่ ธงของชาวมุสลิมนี้มีทั้งที่เป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และสี่เหลี่ยมปลายแยกเป็นริ้วๆ เมื่อชาวยุโรปได้รู้จักกับธงแบบแปลกใหม่มากขึ้นก็เกิดแรงกระตุ้นให้คิดประดิษฐ์ลวดลายและสัญลักษณ์ที่สวยงามต่างๆมาประดับบนผืนธงมากขึ้น อันทำให้เกิดศาสตร์ของการประดิษฐ์ตราและธงประจำราชสกุลรวมทั้งตระกูลขุนนางขึ้นมา เรียกว่า เฮเรลดริ (heraldry) ส่วนธงก็มีวิวัฒนาการมาเป็นแบบผูกชายด้านหนึ่งในแนวตั้งกับเสา ปล่อยให้ชายอีกด้านสบัดพลิ้วไปตามสายลม (ดังที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันนี้)
ยุคกลางนี้เป็นช่วงที่ประเทศในยุโรปตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ฟิวดัลลิสม์ (feudalism) ที่พระมหากษัตริย์สูญเสียอำนาจการปกครองให้แก่บรรดาพวกขุนนาง ขุนนางที่มีอำนาจแต่ละคนต่างก็ซ่องสุมกำลังนักรบและข้าคนบริวารมากมาย ดังนั้น ขุนนางเหล่านี้จึงคิดตราประจำตนและตระกูลขึ้นมา เรียกว่า ตราอาร์ม (coat of arms) สำหรับใช้ติดบนเสื้อ เกราะ และโล่ที่ใช้ในการรบ ตลอดจนใช้เป็นสัญลักษณ์บนธงประจำตัวด้วย ดังนั้น ในเวลาออกศึกสงคราม ธงจึงมีประโยชน์ในการรวมพลพรรคของขุนนาง นอกจากนี้ปลายธงที่สบัดพลิ้วไปตามกำลังลมยังช่วยให้พวกนักรบรู้ถึงทิศทางและกำลังลมอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์สำหรับการยิงธนูและพุ่งหอกของเหล่านักรบให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น
ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ เมื่อคริสต์ศาสนิกชนทำสงครามศาสนาที่เรียกกันว่า “สงครามครูเสด” กับชาวมุสลิม เพื่อแย่งชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณตะวันออกใกล้ เครื่องหมายไม้กางเขนอันเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาและศูนย์รวมจิตใจของคริสต์ศาสนิกชนจึงถูกใช้เป็นเครื่องหมายของเหล่านักรบครูเสด โดยมากจะเป็นรูป “ ✚ ” หรือ “ ✖ ” ซึ่งแน่นอนว่าสัญลักษณ์เหล่านี้ได้ปรากฎอยู่บนธงประจำทัพของชาวยุโรปที่มาจากแว่นแคว้นต่างๆกันด้วย กล่าวได้ว่า ผลของสงครามครูเสดนั้นได้ทำให้ธงของชาวยุโรปได้เข้ามาเผยแพร่ในเอเชีย
ธงประจำชาติที่มีสัญลักษณ์เป็นไม้กางเขนนั้นมีอยู่มากมาย และธงผืนซึ่งถือกันว่าเป็นธงประจำชาติที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ก็เริ่มใช้ใน ค.ศ.๑๒๑๙ โดยประเทศเดนมาร์ก ที่มาของธงผืนนี้มาจากการที่กษัตริย์เดนมาร์กทรงประสบภาพนิมิตเป็นรูปไม้กางเขนขนาดใหญ่พาดบนท้องฟ้า จึงได้ใช้รูปไม้กางเขนสีขาวบนพื้นสีแดงเป็นตราบนธงของเดนมาร์กนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนชาวอังกฤษก็ใช้ธงประจำตัวของนักบุญจอร์ช (St. George) (กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว) เป็นธงประจำชาติโดยเริ่มจากพระเจ้าริชาร์ดที่ ๑ ใจสิงห์ ใช้ธงนี้เป็นธงประจำกองทัพไปทำสงครามครูเสดกับพระเจ้าซาลาดินในตะวันออกใกล้
โดยทั่วไป ธงในสมัยกลางนั้นถือเป็นสิทธิ์เฉพาะพระราชวงศ์และขุนนางเท่านั้น สามัญชนทุกคนไม่มีธงประจำตัวแต่อาจมีธงที่เป็นรูปนักบุญเพื่อใช้แห่แหนในวันสำคัญทางศาสนา วันนักบุญ หรือยามสงคราม แต่อย่างไรก็ดี นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ เป็นต้นมา บรรดาสมาคมช่างที่เรียกว่า “กิลด์” (guild) ซึ่งผูกขาดการค้าและการผลิตสินค้าประเภทหนึ่งประเภทใด ที่นายช่างและลูกมือทุกคนต้องเป็นสมาชิก ก็มีธงประจำสมาคมช่างของตนเอง เช่น ธงของสมาคมช่างตีเหล็กจะมีสัญลักษณ์ค้อนและคีม เป็นต้น ธงจึงเริ่มมีบทบาทในฐานะเป็นที่รวมกลุ่มของผู้คนที่มีความรู้สึกนึกคิดหรืออาชีพร่วมกันมากขึ้น
ในช่วงระยะเวลาของยุคกลาง ธงสี่เหลี่ยมปลายแยกเป็นริ้วๆเริ่มเสื่อมความนิยม และผู้คนได้หันมาใช้ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมปลายตัดธรรมดามากขึ้น ส่วนสีของธงที่นิยมกันมี ๗ สี คือ ขาว แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง ดำ และส้ม ซึ่งเป็นแม่สีของธงประจำชาติต่างๆในโลกตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามในระยะแรกๆนี้ สีของธงยังคงมีจุดมุ่งหมายในการใช้เพื่อความสวยงามเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงการจะให้สีเป็นแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ
ต่อมานับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวยุโรปสามารถพัฒนาการต่อเรือจนสามารถค้นพบดินแดนใหม่ๆเพิ่มขึ้นกระทั่งสามารถเดินทางไปรอบโลกได้ ชาวยุโรปก็ใช้เส้นทางการเดินเรือนี้เพื่อประโยชน์ในการค้าขาย ธงก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการบ่งบอกสัญชาติของเรือและประเทศที่มาของเรือ ในช่วงนี้ธงมักมีลักษณะเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ มีตราอาร์มของพระมหากษัตริย์ผูกติดกับเสาประดับเด่นเป็นเกียรติแก่เรือ และในขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือน “ยันต์กันภัย” เพื่อความปลอดภัยของเรือจากการโจมตีของเหล่าโจรสลัดหรือประเทศพันธมิตร บางครั้งที่กราบเรือทั้งสองข้างก็ประดับตกแต่งด้วยผืนผ้าขนาดใหญ่ หรือใช้สีทาลำเรือเป็นเครื่องหมายของประเทศแทน
ในเวลาต่อมาเมื่อมีเรือนานาชาติหลายต่อหลายลำแล่นผ่านไปมาในน่านน้ำสากล การใช้ธงที่มีสีสันและเครื่องหมายที่ง่ายต่อการจดจำและสังเกตได้แต่ไกลจึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เช่น เรือฝรั่งเศสใช้ธงพื้นสีน้ำเงินและไม้กางเขนสีขาว รัสเซียใช้ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีกากบาทสีน้ำเงินพาดกลางและมุมที่เหลือทั้งสี่ด้านประกอบด้วยด้านซ้ายบนและล่างเป็นสีขาวและแดงส่วนด้านขวาบนและล่างสลับสีเป็นสีแดงและขาวตามลำดับ เป็นต้น
การประดับธงที่บอกสัญชาติของเรือในตอนแรกนั้นยังไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบที่ตายตัว แต่เมื่อมีเรือนานาชาติแล่นไปมามากขึ้น จึงเกิดประเพณีการประดับธงที่หัวเรือเพื่อแสดงสัญชาติของเรือและธงแสดงตำแหน่งหรือหน้าที่ของเรือที่ด้านท้ายเรือ ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า “jack” และ “ensign” ตามลำดับ ส่วนเรือของพ่อค้าจะติดธงเพิ่มขึ้นที่กลางลำเรืออีกผืนหนึ่ง เรียกว่า “ธงค้าขาย” (house flag)
ธงประจำเรือที่บอกสัญชาติของเรือดังกล่าวได้มีวิวัฒนาการจากธงที่ชาวตะวันตกเริ่มใช้มาในยุคกลางดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีธงประจำชาติของหลายประเทศที่เริ่มใช้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ โดยมีที่มาจากการต่อสู้เพื่อเอกราช เช่น ธงของเนเธอร์แลนด์ที่เกิดจากการต่อสู้ของชาวดัชท์ ภายใต้การนำของราชวงศ์ออเรนจ์ (Orange) เพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากอำนาจการปกครองของสเปน ธงของเนเธอร์แลนด์จึงมีสีสันที่เป็นสัญลักษณ์แทนประเทศมากขึ้นโดยใช้สีส้ม ขาว และน้ำเงิน (ซึ่งสีส้มนั้นแทนราชวงศ์ออเร้นจ์ที่เป็นผู้นำในการต่อต้านสเปน แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีการเปลี่ยนมาใช้สีแดงแทนสีส้มเพื่อลดทอนบทบาทของราชวงศ์ออเร้นจ์ลง) ซึ่งธงของเนเธอร์แลนด์ผืนนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ธงของประเทศอื่นๆที่ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เช่น ธงของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) และธงของประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) เป็นต้น ธงของทั้งสองประเทศนี้มีสามสี คือ แดง ขาว น้ำเงิน ทำให้สีเหล่านี้กลายเป็นสีที่มีความหมายทางการเมืองที่เป็นสากลเกี่ยวกับอุดมการณ์และความเป็นเอกภาพหรือการต่อสู้ของประชาชนในการสร้างชาติ มิได้เป็นสีที่ใช้เพื่อเน้นความสวยงามอีกต่อไป
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เมื่อเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม รวมทั้งการก่อตัวของ “ลัทธิชาตินิยม” ที่ระบาดไปทั่วยุโรปและส่วนต่างๆของโลก การใช้ธงสีต่างๆเพื่อแสดงสัญลักษณ์ประจำชาติมีความสำคัญมากขึ้น และความหมายของสีธงที่ใช้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทางสากล เช่น สีแดง หมายถึง ชาติ เลือดเนื้อของบรรพบุรุษ การเข้าร่วมภาคีระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม หรือการปฏิวัติ สีขาว หมายถึง ความสงบ สันติสุข สีส้ม หมายถึง ความกล้าหาญและเสียสละ สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศที่ทำกสิกรรมเป็นหลัก ความปลอดภัย ความก้าวหน้า หรือศาสนาอิสลาม สีเหลือง หมายถึง ความจำเป็นในการได้รับคำเตือน สีดำ หมายถึง ความโศกเศร้า ความตาย และความสับสนอลหม่าน หรือความกล้าหาญ
นอกจากนี้แล้วการใช้สีของธงก็มีความเป็นเหตุเป็นผลทางการเมือง โดยแสดงออกในลักษณะของกลุ่มสี อาทิเช่น กลุ่มสีแดง ขาว น้ำเงิน แสดงถึงการเรียกร้องอิสรภาพและเอกราช (ดังประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา) กลุ่มสีแดง เหลือง เขียว เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวแอฟริกัน และการรวมคนผิวดำเป็นพลังร่วมกัน (Black pan-African unity) ซึ่งมีประเทศเอธิโอเปียเป็นผู้ริเริ่มในการใช้กลุ่มสีนี้ กลุ่มสีแดง ขาว ดำ เขียว ก็เป็นกลุ่มสีที่แสดงถึงความเป็นพวกเดียวกันของชาวอาหรับ (Pan-Arab) โดยประเทศที่อยู่รอบๆอ่าวเปอร์เซียนิยมใช้กันหลังจากได้รับอิสระภาพจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ส่วนกลุ่มชนเชื้อสายสลาฟ (Slav) ในยุโรปตะวันออกที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ก็นิยมใช้ธงกลุ่มสีขาว น้ำเงิน และแดง เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากจักรวรรดิฮับส์บูร์ก ทั้งนี้ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย และส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกีย เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นก็ได้มีการใช้รูปแบบกลุ่มสีบนธงของชาวสลาฟเพิ่มขึ้นมาอีก นอกจากนี้กลุ่มสีเหลือง น้ำเงิน แดง ซึ่งเป็นสีของธงประจำชาติของเวเนซูเอลา โคลัมเบีย และเอกวาดอร์ ก็แสดงถึงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ร่วมกันในการปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคมของสเปน
อย่างไรก็ตาม ธงที่นิยมใช้สีแดงโดดๆ หรือใช้เป็นสีหลักนั้นมักจะเป็นธงประจำชาติของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม
นอกจากเรื่องสีสันของธงชาติสากลแล้ว รูปร่างและขนาดของธงชาติต่างๆก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ธงประจำชาติบางผืนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางผืนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (เช่นของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนครรัฐวาติกัน) ส่วนประเทศเนปาลนั้นธงประจำชาติมีรูปร่างลักษณะชายธงคล้ายธงสามเหลี่ยมสองผืนต่อกันแต่มีขนาดแตกต่างกันโดยสามเหลี่ยมด้านบนมีขนาดเล็กกว่าสามเหลี่ยมด้านล่าง (สาเหตุมาจากการที่เนปาลมีประวัติศาสตร์ของการรวมธงสามเหลี่ยมสองผืนของสองราชสกุลเข้าด้วยกันและกลายเป็นธงประจำชาติไปในที่สุด) ทั้งนี้ ธงประจำชาติส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้างและความยาวเป็นสัดส่วนหรืออัตราส่วนเท่ากับ ๒ : ๓ ๓ : ๕ หรือ ๑ : ๒ ธงของประเทศอิหร่านแต่ก่อนนั้นมีขนาดสัดส่วนที่แคบและยาวที่สุดในโลกคือ ๑ : ๓ เท่านั้น (แต่ปัจจุบันใช้อัตราส่วน ๔ : ๗) ธงประจำชาติของประเทศต่างๆจะเป็นชายตัดตรง ยกเว้นธงรูปสามเหลี่ยมของประเทศเนปาลดังได้กล่าวมาแล้ว
ในปัจจุบันนานาประเทศได้ปรับเปลี่ยนลักษณะของธงประจำชาติของตนให้มีลักษณะเป็นสากลมากขึ้นนับตั้งแต่การใช้ธงที่เป็นแถบสีต่างๆทั้งในแนวตั้งและในแนวนอน บางประเทศก็มีการวางลวดลายของสีหรือลักษณะของธงที่มีองค์ประกอบเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ธงประจำชาติของออสเตรเลีย ที่วางรูปแบบและเครื่องหมายของธงแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยมีเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆที่มุมบนซ้ายของผืนธง (ของออสเตรเลียมีตราเครื่องหมายธงยูเนี่ยนแจ็คอันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ส่วนสหรัฐอเมริกามีรูปดวงดาวอันเป็นเครื่องหมายแสดงจำนวนของมลรัฐ) ธงที่มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆซ้อนอยู่ทางมุมบนด้านซ้ายนี้เรียกว่า ธงแบบ “มลรัฐ” หรือ แคนตัน (canton) ส่วนประเทศสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และจอร์แดน ใช้ธงแบบที่มีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ที่ด้านซ้ายของผืนธง เรียกลักษณะธงแบบนี้ว่า “รูปแบบสามเหลี่ยม” หรือ ไทรแองเกิล (triangle)
การวางลวดลายรวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆลงบนธงประจำชาตินั้น มีแนวความคิดมาจากการออกแบบตราอาร์มที่ใช้ประดับโล่ของเจ้านายหรือขุนนางตระกูลสำคัญๆในยุคกลางของยุโรปนั่นเอง อย่างไรก็ดี ยังมีธงประจำชาติของอีกหลายประเทศที่นิยมใช้ลวดลายทรงเรขาคณิตซึ่งเป็นเครื่องหมายของโล่ในสมัยกลางอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “แบบสามัญ” หรือ ออร์ดินารี่ส์ (ordinaries) หรือ ซิมเปิ้ล ชาร์จเจส (simple charges) ทรงเรณาคณิตดังกล่าวนี้ เป็นลวดลายของโล่ที่มิใช่ตราอาร์มหรือตราสืบตระกูลและบุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ ลวดลายแบบสามัญที่ว่านี้มีรูปทรงง่ายๆและเป็นที่นิยมกันมากจนกระทั่งได้กลายเป็นแม่แบบธงประจำชาติของหลายๆประเทศในโลกตะวันตก และเป็นที่นิยมลอกเลียนแบบกันทั่วโลกในทุกวันนี้
แม้ว่าในปัจจุบัน ธงประจำชาติของประเทศจำนวนมากจะมีลักษณะเป็นแบบผืนผ้าธรรมดาที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆมาตกแต่ง (เช่น ธงไตรรงค์ของประเทศไทย) แต่ก็มีประเทศจำนวนมากเช่นกันที่นิยมตกแต่งผืนธงประจำชาติของตนด้วยเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่างๆ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวจะให้ความหมายที่บ่งบอกถึงความสำคัญหรือเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เช่น ธงชาติของประเทศกัมพูชา มีรูปปราสาทนครวัดอันเป็นโบราณสถานสำคัญของประเทศประดับอยู่ ธงชาติของประเทศเลบานอน มีรูปต้นซีดาร์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวเลบานอนมาตั้งแต่สมัยโบราณประดับไว้กลางผืนธง หรือธงชาติของประเทศอิสราเอล มีรูปดาวแห่งเดวิด (มีลักษณะเป็นดาว ๖ แฉก ประกอบขึ้นจากสามเหลี่ยม ๒ รูปวางซ้อนกัน) อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวยิวมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี บรรดาสัญลักษณ์ทั้งหลายที่ใช้ประดับบนผืนธงนั้น อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้เป็น ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว สัตว์ พืชและต้นไม้ แผนที่ อาวุธ ตราอาร์ม และเครื่องหมายอื่นๆ