สารบัญ
ช้างไทยบนผืนธงชาติสยาม

ชาวสยามได้ถือเอาธงแดงเกลี้ยงเป็นสัญลักษณ์สำหรับแสดงตนว่าเป็นสัญชาติสยาม โดยเฉพาะการใช้สำหรับชักขึ้นบนเรือมาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้มีการเพิ่มรูปช้างเผือกปล่อยอยู่กลางวงจักรลงในผืนธง อันเนื่องมาจากมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารของพระองค์เป็นจำนวนถึง ๓ ช้าง ด้วยกัน และตั้งแต่นั้นมาช้างเผือกทั้งในแบบช้างเผือกเปล่าและช้างเผือกทรงเครื่องก็เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติสยามเรื่อยมาจนกระทั่งต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงธงชาติมาเป็นธงไตรรงค์เช่นในปัจจุบัน

เหตุใด “ช้างเผือก” จึงมีความสำคัญถึงกับใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับชาติสยามมาอย่างน้อยก็ถึง ๕ รัชกาล ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในส่วนนี้จึงจะได้กล่าวถึงลักษณะและคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างอันทำให้ช้างได้รับเกียรติมาประดับบนผืนธงชาติสยามอยู่เป็นระยะเวลานาน

ช้างโดยทั่วไปในโลกปัจจุบันนี้มีตระกูลใหญ่ๆอยู่ ๒ ตระกูล ด้วยกัน คือ ช้างเอเชีย (Elephas Maximus) และช้างแอฟริกา (Loxodonta Africana)

ช้างเอเชียนั้นส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในป่าของประเทศไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา และมาเลเซีย มีขนาดความสูงในตัวที่โตเต็มวัยวัดจากปลายขาหน้าถึงไหล่ประมาณ ๓ เมตร หัวเป็นโหนกมองจากด้านหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน ปลายงวงจะมีจงอยเดียว เท้าหน้ามีเล็บข้างละ ๕ เล็บ เท้าหลังมีข้างละ ๔ เล็บ ในประเทศไทยช้างตัวผู้จะเรียกว่า “ช้างพลาย” ส่วนช้างตัวเมียจะเรียกว่า “ช้างพัง” ซึ่งตามปกติช้างพังจะไม่มีงา อย่างไรก็ตามบางครั้งช้างตัวเมียก็มีงาสั้นๆงอกออกมาเรียกว่า “ขนาย” และช้างพลายที่ไม่มีงาก็เรียกว่า “ช้างสีดอ” โดยทั่วไปแล้วช้างเอเชียมีความเฉลียวฉลาดมากกว่าช้างแอฟริกา สามารถนำมาฝึกให้ทำงานหรือทำการแสดงได้

ช้างแอฟริกานั้นจะมีความสูงมากกว่าช้างเอเชีย คือ สูง ๓.๕ เมตร แต่มีหัวที่เล็กกว่าโดยมีโหนที่หัวเพียงลอนเดียว อย่างไรก็ตามช้างแอฟริกามีใบหูที่ใหญ่กว่าช้างเอเชียมากโดยขอบหูด้านบนสูงกว่าระดับของหัวช้างในขณะที่ช้างเอเชียมีขอบหูอยู่ในระดับของหัวช้าง ทั้งนี้ เพราะช้างแอฟริกามีความจำเป็นที่ต้องใช้ใบหูช่วยในการระบายความร้อนของร่างกายมากกว่าช้างเอเชีย ที่ปลายงวงของช้างแอฟริกาจะมี ๒ จงอย เท้าหน้ามีเล็บข้างละ ๕ เล็บ เท้าหลังมีเล็บข้างละ ๓ เล็บ ช้างแอฟริกานี้ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียล้วนแต่มีงาด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากช้างทั้ง ๒ ตระกูลนี้แล้ว ในโลกนี้ยังมีช้างอีกชนิดหนึ่งคือ “ช้างแคระ” (Pygmy Elephant) หรือที่คนไทยเรียกว่า “ช้างแกลบ” หรือ “ช้างค่อม” ซึ่งจะมีความสูงเพียงไม่เกิน ๒.๕ เมตร มีลำตัวอ้วนกลมและเชื่องกว่าช้างทั่วไป ช้างชนิดนี้เคยมีอยู่ในประเทศไทยบริเวณทะเลสาบสงขลาแต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้วเนื่องจากถูกมนุษย์ล่ามากินแทนเนื้อหมู อย่างไรก็ตามช้างชนิดนี้ในปัจจุบันพบได้ที่ทางเหนือของเกาะบอร์เนียวแต่ก็อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เพราะเหลืออยู่เพียงประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เท่านั้น

สำหรับคติความเชื่อเกี่ยวกับช้าง นั้นไทยเรารับมาจากอินเดียปรากฏใน “ตำราพระคชลักษณ์” ซึ่ง สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ได้สรุปไว้โดยสังเขปในหนังสือ “ช้างไทย” ว่า

“ช้างเกิดจากพระเป็นเจ้า ๔ องค์ในศาสนาพราหมณ์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระเพลิง ตามตำนานพระคชลักษณ์กล่าวว่า พระนารายณ์เสด็จบรรทมอยู่ในเกษียรสมุทรแล้วกระทำอธิษฐานด้วยเทวฤทธิ์ให้ดอกบัวผุดขึ้นในพระอุทร ดอกบัวนั้นมี ๘ กลีบ ๑๗๓ เกสร แล้วจึงเด็ดดอกบัวนั้นไปถวายอิศวร พระอิศวรจึงแบ่งดอกบัวนั้นออกเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่ง ๘ เกสร เป็นของพระอิศวร ส่วนหนึ่ง ๒๔ เกสรให้แก่พระพรหม ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรให้แก่พระนารายณ์ และส่วนหนึ่ง ๑๓๓ เกสรให้แก่พระเพลิง

พระอิศวรสร้างช้างตระกูลอิศวรพงศ์ เป็นชาติกษัตริย์หรือขัตติยะมี ๘ หมู่ คือ อ้อมจักรพาล กัณฑ์หัตถ์หรือคชกรรณหัสดี เอกทนต์ กาฬวกะหัตถี จตุรสก ทันตรำพาน สีหชงค์ และจุมปราสาท ช้างตระกูลอิศวรพงศ์นั้นให้เจริญทรัพย์และมีอำนาจ

พระพรหมสร้างช้างตระกูลพรหมพงศ์ เป็นชาติพราหมณ์ มี ๑๐ หมู่ คือ ฉัททันต์ อุโบสถ เหมหัตถี มงคลหัตถี คันธหัตถี ปิงคัล ดามพหัตถี บัณฑรหรือนาคันทร คังไคย และกาลวกะหัตถี นอกจากนี้พระพรหมยังสร้างช้างอัฏฐทิศอีก ๘ จำพวก คือ ไอราพต บุณฑริก พรามหมณ์โลหิต กระมุท อัญชัน บุษปทันต์ เสาวโภม สุประดิษฐ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ ให้เจริญอายุและวิทยา

พระนารายณ์สร้างช้างตระกูลวิษณุพงศ์ เป็นชาติแพศย์หรือเวศ มี ๘ หมู่ คือ สังขทันต์ ดามพหัสดินทร์ ชมลบ ลบชม ครบกระจอก พลุกสะดำหรือทวีรต สังขทันต์ โคบุตร ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ให้ศัตรูพ่ายและน้ำฝนผลาหาร ธัญญาหารบริบูรณ์

พระเพลิงสร้างช้างตระกูลอัคนีพงศ์ เป็นชาติศูทรหรือสุตตะ มี ๔๒ หมู่ คือ ประพัทธจักรพาล อุทรกุมภ์ รัตนกุมพล ช้างเผือกเอก ช้างเผือกโท ช้างเผือกตรี ช้างเนียมเอก ช้างเนียมโท ช้างเนียมตรี นพสุบรรณ ปัตหัสดินทร์ พิคเนศวรมหาพินาย เทพามหา พิคเนศมหาไพฑูรย์ นิลทันต์ นิลจักษุ นิลนัข เหมทันต์ เหมจักษุ เหมนัข รัตจักษุ รัตนนัข รัตนัข เศวตพัตร เศวตจักษุ เศวตนัข เทพคิรี จันทคิรี ลิลานิโรธ สุวโรจ ดำพงศ์ถนิม สมพงศ์ถนิม กุมปราสาท จตุรกุมภ์ ขลุมประเจียด พาลจักรี พิทาเนสูรย์ มุขสโรสารภัทร มิคหรือมฤก สังคิน กุญชเรศร์ พฤกสารหรือรอบจักรวาล

นอกจากนี้พระเพลิงยังสร้างช้างอำนวยพงศ์อีก ๑๔ ตระกูล คือ เมฆ อำนวย สุประดิษฐ นิลภะ บิสลักส์ มหาปัทมะ อุบลมาลี จบสระหรือจบตระ ช้างชื่อไม่ปรากฏ นิลปะระมาถี พสานิส สาหะ บุษปทันต์ สุประดิษฐ ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ให้เจริญมังสาหาร

ตำราพระคชลักษณ์คือตำราว่าด้วยช้างเผือก เป็นของศาสนาพราหมณ์แห่งประเทศอินเดีย จึงเกี่ยวเนื่องกับพระเป็นเจ้าทั้งสามคือพระอิศวร หรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือวิษณุ และพระพรหม ผู้เป็นใหญ่ในเทวโลก ต่อมาพราหมณ์ที่ถือตำรานี้ได้เดินทางเข้ามายังประเทศสยาม พม่า รามัญ ลาว เขมรในสมัยก่อนพุทธกาล ได้เป็นครูสอนขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองและตำราต่างๆ ซึ่งนำมาจากอินเดีย ซึ่งรวมทั้งตำราพระคชลักษณ์ ซึ่งเป็นตำราที่มีความสำคัญ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเรียนรู้

เทพเจ้าที่เกี่ยวกับช้างในตำรานี้มี ๒ องค์ คือ พระคเณศ หรือ วิฆเนศวร หรือพิฆเนศวร หรือพระ เทวกรรม เป็นเทพเจ้าที่ผู้กระทำพิธีเกี่ยวกับช้างต้องทำการบวงสรวงบูชาและนมัสการ อีกองค์หนึ่งคือ พระโกญจนาทเนศวร (บางตำราว่า โกญจนาเนศวร) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของช้างเผือก”

นอกจากตำราพระคชลักษณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้วก็ยังมีตำราโบราณเกี่ยวกับช้างที่สำคัญอีกตำราหนึ่ง ชื่อว่า “มาตงฺคลีลา” ตำรานี้เป็นตำราคชศาสตร์ของพระฤษีปาลกปฺย เป็นตำราตามคติของฮินดู แบ่งออกเป็น ๑๒ บท คือ

บทที่ ๑ ว่าด้วยกำเนิดของช้าง โดยอธิบายว่า พระอาทิตย์อุบัติออกมาจากเปลือกไข่โดยเปลือกไข่นั้นแบ่งออกเป็น ๒ ภาค ซึ่งพระพรหมก็ได้ใช้พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างหยิบเปลือกไข่นั้นไว้ แล้วสาธยายสามเวท ๗ กัณฐ์ เป็น ๑ คาบ จนเปลือกไข่ในพระหัตถ์ขวาเกิดเป็นช้างไอยราพต พญาช้าง ๗ เชือก และช้างพลาย ๘ เชือก ส่วนเปลือกไข่ในพระหัตถ์ซ้ายก็เกิดเป็นช้างพัง เพื่อเป็นคู่ครองของช้างในพระหัตถ์ขวา เมื่อช้างเหล่านั้นสมสู่กันก็ออกลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมา ช้างเหล่านี้ในตอนแรกมีปีกสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ตามใจชอบ แต่ครั้งหนึ่งได้เหาะไปเกาะที่กิ่งของต้นไทรในป่าหิมพานต์จนกิ่งไทรนั้นทานน้ำหนักของโขลงช้างไม่ไหวหักโครมลงมา ทำให้ฤาษีชื่อ ทีรฺฆตาปา ที่จำศีลอยู่ใกล้ๆนั้นตกใจตื่นจากสมาธิ ด้วยความโกรธจึงสาปช้างเหล่านั้นสูญสิ้นปีกและต้องกลายเป็นพาหนะของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ช้างประจำทิศไม่ได้ถูกสาป ในบทนี้ยังได้กล่าวถึงช้างไอยราพตที่เกิดขึ้นมาจากการกวนเกษียรสมุทรและช้างชนิดต่างๆอีกด้วย

บทที่ ๒ ว่าด้วย ช้างดีที่มีศุภลักษณ์ชนิดต่างๆที่สมควรแก่การเป็นพาหนะของพระราชา

บทที่ ๓ ว่าด้วย ช้างร้ายที่มีบาปลักษณ์ ให้โทษต่างๆ

บทที่ ๔ ว่าด้วยช้างลักษณะอย่างไรจึงจะมีอายุยืนยาว

บทที่ ๕ ว่าด้วยลักษณะ อาหาร และนิสัยของช้างในแต่ละวัย จนถึง ๑๒๐ ปี และกลับไปสู่สวรรค์

บทที่ ๖ ว่าด้วยขนาดของช้างชนิดต่างๆในวัยต่างๆ

บทที่ ๗ ว่าด้วยหลักการกำหนดราคาช้าง

บทที่ ๘ ว่าด้วยลักษณะนิสัยของช้าง โดยแบ่งออกเป็น เทพ ทานพ คนธรรพ์ ยักษ์ รากษก มนุษย์ ปีศาจหรือภุชงค์

บทที่ ๙ ว่าด้วยการตกมันประเภทต่างๆของช้าง อาหารสำหรับช้างตกมัน

บทที่ ๑๐ ว่าด้วยวิธีการจับช้าง โดยแบ่งออกเป็น ๕ วิธี ได้แก่ ล้อมเพนียด ล่อด้วยช้างพัง ไล่ตาม หลุมบ่วง และหลุมพราง

บทที่ ๑๑ ว่าด้วยการเลี้ยงช้างตามวันและฤดูต่างๆรวมทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย

บทที่ ๑๒ ว่าด้วยคุณสมบัติของควาญช้าง

สำหรับเมืองไทยที่รับเอาคติความเชื่อมาจากอินเดียนั้น ถือว่า ช้างเผือก เป็นหนึ่งใน “แก้ว ๗ ประการ” (ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้ว) อันเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าจักรพรรดิ ในทางพระพุทธศาสนาเองช้างเผือกก็ถือเป็นสัตว์สำคัญ เนื่องจาก เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินว่ามีช้างเผือกมามอบดอกบัวให้แก่พระองค์ ได้เวลา ๗ วัน ก็ได้ตั้งครรภ์และต่อมาประสูติพระราชโอรสเป็นเจ้าชายสิทธัตถะกุมาร ซึ่งต่อมาได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งในเรื่องเวสสันดรชาดกช้างปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดรก็เป็นช้างเผือก ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงทรงปรารถนาที่จะได้ครอบครองช้างเผือก ดังที่ ศรัณย์ ทองปาน กล่าวถึงไว้ในหนังสือ เรื่อง “ช ช้าง กับ ฅ ฅน” ว่า

“ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่โบราณ กษัตริย์ในอาณาจักรต่างๆทรงปรารถนายิ่งที่จะได้ครอบครองช้างเผือก จนบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามระหว่างแว่นแคว้นเพื่อแย่งชิงช้างเผือกก็มี เพราะยิ่งทรงเป็นเจ้าของช้างเผือกจำนวนมากเท่าใด ยิ่งแสดงถึงพระบารมีที่แผ่ไพศาลมากขึ้นเพียงนั้น

แต่ทั้งนี้เข้าใจว่า พระเจ้าช้างเผือกจะทรงเลี้ยงช้างเผือกไว้เป็นเครื่องประดับพระบารมีเฉยๆมิได้เอามาใช้เป็นพระราชพาหนะ ฝรั่งที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขาว่า พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ประทับบนช้างเผือก เพราะเชื่อกันว่าเป็นกษัตริย์ในอดีตที่กลับชาติมาเกิด และอาจด้วยเหตุนั้นฝรั่งที่มีโอกาสได้เข้าไปชมโรงช้างต้นจึงบันทึกไว้ว่าช้างเผือกจะกินหญ้าและน้ำจากภาชนะทองคำเท่านั้น

ตามประเพณีราชสำนักไทย เมื่อเวลามีราชทูตต่างประเทศมาเข้าเฝ้า สองข้างทางเดินในพระบรมมหาราชวังที่คณะทูตจะผ่านไป นอกจากจะมีทหารกองเกียรติยศตั้งแถวเรียงรายกันแล้ว ยังจะต้องนำเอาช้างเผือกออกมาผูกยืนโรงไว้อวดแขกบ้านแขกเมืองให้ชมเป็นขวัญตาด้วย”

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ครอบครองช้างเผือกมากถึง ๓ ช้าง จึงนับเป็นเรื่องที่เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองเป็นอันมาก และเป็นที่มาของการเพิ่มรูปช้างเผือกปล่อยอยู่กลางวงจักรลงในผืนธงของสยามดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ การที่ชาวสยามมีคติความเชื่อว่าช้างเผือกเป็นกษัตริย์ในอดีตที่กลับชาติมาเกิด จึงทำให้สัญลักษณ์รูปช้างเผือกมีความหมายโดยนัยถึงองค์พระมหากษัตริย์อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตามการจะพิจารณาว่าช้างตัวใดมีลักษณะเป็นช้างมงคลนั้นในปัจจุบันถือตาม “พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ.๒๔๖๔” ซึ่งได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา ๔ ดังนี้

คำว่า “ช้างสำคัญ” ให้พึงเข้าใจว่า ช้างที่มีมงคลลักษณะ ๗ ประการ

๑) ตาขาว

๒) เพดานขาว

๓) เล็บขาว

๔) ขนขาว

๕) พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่

๖) ขนหางขาว

๗) อัณฑโคตร์ขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่

แต่นอกจากช้างสำคัญแล้ว พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดลักษณะของ “ช้างสีประหลาด” และ “ช้างเนียม” เอาไว้ด้วย ดังนี้

คำว่า “ช้างสีประหลาด” ให้พึงเข้าใจว่า ช้างที่มีมงคลลักษณะอย่าง ๑ อย่างใดใน ๗ อย่าง คือ

๑) ตาขาว

๒) เพดานขาว

๓) เล็บขาว

๔) ขนขาว

๕) พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่

๖) ขนหางขาว

๗) อัณฑโคตร์ขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ คำว่า “ช้างเนียม” ให้พึงเข้าใจว่า ช้างที่มีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑) พื้นหนังดำ

๒) งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย

๓) เล็บดำ

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นี้ ได้มีช้างสำคัญที่ได้ทรงโปรดฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางเป็นช้างต้นแล้วทั้งสิ้น ๑๐ ช้าง ดังนี้

๑) พระเศวตรอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนาคบารมีฯ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒

๒) พระเศวตรรัตนกวี สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๙

๓) พระเศวตรสุรคชาธาร สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

๔) พระศรีเศวตรศุภลักษณ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘

๕) พระเศวตรสุทธวิลาศ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕

๖) พระวิมลรัตนกิริณี สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐

๗) พระศรีนรารัฐราชกิริณี สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

๘) พระเศวตรภาสุรคเชนทร์ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

๙) พระเทพวัชรกิริณี สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

๑๐) พระบรมนขทิศ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอ้อยแก่พระเศวตรอดุลยเดชพาหน เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เห็นชอบให้กำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๘ ตอนที่ ๙๙ ง หน้า ๑ กำหนดให้ สัตว์ประจำชาติ คือ “ช้างไทย” Chang Thai (Elephant หรือ Elephas maximus)

หน้า จาก ๑๒ หน้า