หากนับตั้งแต่การตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ ใน พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการตรากฎหมายและกฎเกี่ยวกับ “ธง” รวมทั้งสิ้น ๑๙ ฉบับ โดยกฎหมายและกฎต่างๆมีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้
๑. พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ตราเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) ถือเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ฉบับแรกของไทยมีข้อความว่าด้วยลักษณะและการใช้ธง ๑๓ ชนิด
๒. พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๖ ตราขึ้นใช้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) ธงที่ปรากฎมีทั้งหมด ๑๓ ชนิด และยังมีธงตราตำแหน่งราชการ ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ตามความในมาตรา ๕
๓. พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๑๘ ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๔๒) ธงที่ปรากฎมีทั้งหมด ๑๔ ชนิด และยังมีธงตราตำแหน่งราชการ ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ตามความในมาตรา ๕
๔. พระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๒๙ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) มีธงที่ปรากฎทั้งสิ้น ๒๐ ธง และกล่าวถึงธงอื่นที่สามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้ตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖
๕. ข้อบังคับกระทรวงทหารเรือ ข้อบังคับการใช้ธงราชวงศ์ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เพื่อเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับการใช้ธงของพระบรมราชวงศ์ชั้นสมเด็จพระมเหสี หรือชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า และธงพระบรมวงศ์ชั้นอื่น ในมาตรา ๔ ข้อ ๘ , ๙ , ๑๐ ของพระราชบัญญัติธงร.ศ.๑๒๙
๖. ประกาศพระบรมราชโองการเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๒๙ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๙ กำหนดให้ธงชาติเปลี่ยนจากรูปช้างเผือกปล่อยบนพื้นแดง มาเป็น ช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นกลางพื้นแดง และเพิ่มเติม “ธงค้าขาย” ขึ้นอีก ๑ ชนิด
๗. พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๖๐ มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๐ แก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ.๑๒๙ โดยยกเลิกธงในมาตรา ๔ ข้อ ๑๑ , ๑๒ , ๑๔ , ๑๕ , ๑๖ , ๑๙ และ ข้อ ๒๐ และกำหนดธงสำหรับใช้ทดแทนธงที่ได้ยกเลิกไป
นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติธงร.ศ.๑๒๙ ด้วย ผลของพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงธงชาติสยามจาก ธงช้างเผือกปล่อยบนพื้นแดง มาเป็นธงไตรรงค์๘. แจ้งความเพิ่มเติมข้อความในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๖๐ ที่บกพร่องอยู่ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐ กำหนดให้ธงฉานเป็นธงประจำกองสำหรับทหารเรือเวลาขึ้นบกด้วย
๙. พระราชบัญญัติธงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๖๐
๑๐. พระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ มีผลบังคับใช้วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (นับตามปฏิทินแบบเก่า) ยกเลิกพระราชบัญญัติ กฎ ข้อบังคับ และประกาศเกี่ยวกับธงที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งหมด และให้ใช้ธงตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แทน ซึ่งมีธงที่ปรากฎชื่อและลักษณะตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งสิ้น ๔๔ ชนิด นอกจากนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติซึ่งทั้งโทษปรับและจำขัง
๑๑. พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยตราขึ้นเพื่อยกเลิกความในมาตรา ๖ อนุมาตรา ๙ และ ๑๑ ความในมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖ อนุมาตรา ๒ , ๔ และ ๕ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๗๙
๑๒. กฎกระทรวงกลาโหม ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ ออกตามความในมาตรา ๔ และ มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ เพื่อกำหนดลักษณะธงประจำกองทหารบก และธงประจำกองทหารอากาศ
๑๓. พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยกเลิกความในมาตรา ๙ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙
๑๔. พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๘๕ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยกเลิกความในมาตรา ๑๗ อนุมาตรา ๔ และยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙
๑๕. กฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ยกเลิกกฎกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒
โดยกำหนดให้ใช้ธงประจำกองทัพบก ธงประจำกองทัพเรือ และธงประจำกองทัพอากาศ ที่มีลักษณะลวดลายบนพื้นธงตามประกาศฉบับนี้๑๖. พระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ ยกเลิกพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ พระราช-บัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๑ พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๓ และพระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๘๕ ตลอดจนบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด รวมทั้งสิ้น ๕๖ มาตรา และประกอบด้วยทั้งสิ้น ๗๙ ชนิด ด้วยกัน
๑๗. กฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ แจ้งให้ทราบถึงส่วนประกอบสำคัญของธงชัยเฉลิมพลสำหรับทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ
๑๘. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๖ แจ้งให้ทราบถึงส่วนประกอบสำคัญของธงกองอาสารักษาดินแดน และธงกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
๑๙. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ แจ้งให้ทราบถึงลักษณะของธงกองพลพัฒนา ธงกรมพัฒนา และธงกองพันพัฒนาทหารบก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนอกจากธงตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว ในประเทศไทยยังมีการสร้างธงอื่นๆขึ้นอีก โดยเป็นทั้งธงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติที่กำหนดให้หน่วยราชการต่างๆสร้างขึ้นและออกเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศให้ทราบ กับธงที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสร้างขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติธง สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายของหน่วยงาน สมาคม มูลนิธิ สถาบันการศึกษา โครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ธงชนิดนี้มีทั้งที่แจ้งขออนุญาตและไม่ได้แจ้งขออนุญาตกับทางราชการ