สารบัญ
ความเป็นมาของการชักธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา

แม้ว่าในกรุงสยามนี้จะเริ่มมีการชักธงแดงขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวสยามขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่การสร้างเสาธงเพื่อเอาไว้ชักธงขึ้นสู่ยอดเสาบนบกนั้นไม่เคยมีประเพณีมาก่อนในกรุงสยามมีแต่การชักธงขึ้นบนเสาธงของเรือต่างๆเท่านั้น จนกระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เริ่มมีการสร้างเสาธงบนบกขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในกรุงสยามก่อน ดังที่ปรากฎความในหนังสือ เรื่อง “ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๔ เรื่องพงศาวดารเมืองเงินยาง เชียงแสน, ว่าด้วยเรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ว่า

“เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ.๒๓๖๓ พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสให้เจ้าเมืองโค ร่างข้อสัญญาทางพระราชไมตรี จะขอทำกับกรุงสยามเป็นสัญญา ๒๓ ข้อ มอบให้กาลสเดอลิลไวราเข้ามาอีก ขอให้กาลสเป็นกงสุลเยเนราล และขอพระราชทานที่ตั้งบ้านเรือนให้กาลสอยู่ และได้ให้ปักเสาธง...”

แต่สำหรับชาวสยามเองแล้วยังไม่ปรากฎว่ามีการตั้งเสาธงขึ้นบนบกแต่อย่างใด รวมทั้งพระมหากษัตริย์เองก็ยังไม่มีพระราชประสงค์ให้มีการตั้งเสาธงขึ้นเป็นการทั่วไป ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อธิบายไว้ในหนังสือ เรื่อง “ความทรงจำ” ว่า

“...เรือนชานในบ้านของคุณตาสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มีตึกหลังเดียว เรียกว่า “หอสูง” ที่ท่านอยู่และฉันอยู่ต่อมาในตอนก่อนสร้างเป็นวัง มีของแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง คือ เสาสำหรับชักธงเหมือนอย่างที่มีตามสถานกงสุลปักไว้ข้างหน้าบ้าน ฉันมาทราบในภายหลังว่าการทำเสาธงนั้นเกี่ยวกับการเมืองเป็นข้อสำคัญ ควรจะเล่าไว้ให้ปรากฏ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมาการตั้งเสาชักธงมีแต่ในเรือกำปั่น บนบกหามีประเพณีเช่นนั้นไม่ มีคำเล่ากันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดขนบธรรมเนียมฝรั่งให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม อันเป็นที่เสด็จประทับ และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระกฐิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามผู้ที่อยู่ใกล้พระองค์ว่า “นั่นท่านฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม” พิเคราะห์เห็นว่ามิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่า ทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้นเพราะไม่โปรดที่ไปเอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง...”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเริ่มต้นของการตั้งเสาธงของไทยก็ได้เริ่มขึ้น ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อธิบายไว้ในหนังสือ เรื่อง “ความทรงจำ” ว่า

“...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้า เสาธงวังหลวงให้ชักธงตราพระมหามงกุฎ และเสาธงวังหน้าให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่น) คนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่า เสาชักธงนั้นเป็นเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีกงสุลนานาประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งเสาชักธงชาติของตนขึ้นตามสถานกงสุล เหมือนอย่างสถานกงสุลที่เมืองจีน คนทั้งหลายไม่รู้ประเพณีฝรั่งก็พากันตกใจโจษกันว่าพวกกงสุลจะเข้ามาตั้งแข่งพระราชานุภาพ ความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไขด้วยดำรัสสั่งเจ้านายต่างกรมกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ทำเสาธงช้างขึ้นตามวังและที่บ้าน เมื่อมีเสาธงชักขึ้นมาก คนทั้งหลายก็หายตกใจ เรื่องนี้ฉันเคยเล่าให้พวกราชทูตต่างประเทศฟัง หลายคนพากันชอบใจชมพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าช่างทรงพระราชดำริแก้ไขดีนัก...”

จากการแก้ไขปัญหาเรื่องเสาธงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดมีเสาธงในกรุงสยามขึ้นมากมาย ดังที่ นายเทาเซนด์ แฮรีส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ แห่งสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้เข้ามาทำสัญญาการค้ากับสยาม เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙ ได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือ เรื่อง “บันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส” ดังนี้

“...ข้าพเจ้าคิดว่ากรุงเทพฯ ควรจะได้ชื่อว่าเมืองแห่งเสาธง ตามพระราชวังทุกแห่ง ตามวัดทุกวัด และตามบ้านเรือนของขุนนางทุกคน ท่านจะได้เห็นเสาธงตั้งเสียดฟ้านับเป็นจำนวนร้อยๆ มิฉะนั้น ก็เป็นจำนวนพันๆ...”

ทว่า เรื่องของการตั้งเสาธงในกรุงสยามนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่นิยมทำกันเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพราะพอหมดปัญหาเรื่องความตื่นตระหนกตกใจของราษฎรแล้ว ชาวสยามทั่วไปก็ไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องของเสาธงแต่อย่างใด ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงตัวอย่างของจุดจบของเสาธงเหล่านั้น ว่า

“...แต่เมื่อฉันได้ไปบ้านคุณตา ปัญหาเรื่องเสาธงระงับมาช้านานแล้ว เสาธงของคุณตาก็ผุยังแต่จะหักโค่นจึงสั่งให้เอาลงเสีย”

เรื่องของการตั้งเสาธงนี้กลับมาได้รับความเอาใจใส่ขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาติไทยได้มีธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ และชาวไทยก็ได้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสามาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

ทั้งนี้ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๒๙” กำหนดวิธีการชักธงชาติเอาไว้ ความโดยสรุป ดังต่อไปนี้

ธงชาติที่จะนำมาใช้ชัก หรือแสดง ต้องมีสภาพดี เรียบร้อย ไม่ขาดวิ่น และสีไม่ซีดจนเกินควร

เสาธงชาติจะมีขนาดสูง ต่ำ ใหญ่หรือเล็กเพียงไร ควรจะอยู่ ณ ที่ใด และจะใช้ผืนธงขนาดเท่าใดนั้น ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือผู้ปกครองสถานที่หรือเอกชนผู้ครอบครองอาคารสถานที่หรืออาคารนั้นที่จะพึงพิจารณาให้เหมาะสมเป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ

การชักธงชาติให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. ผู้มีหน้าที่ชักธง ต้องแต่งกายเรียบร้อย

๒. เมื่อใกล้กำหนดเวลาชักธงขึ้น ให้เตรียมธงผูกติดกับสายเชือกทางด้านขวาของผู้ชักธงให้เรียบร้อย

๓. เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงออกเต็มผืน แล้วดึงเชือกให้ธงขึ้นช้าๆด้วยความสม่ำเสมอ จนถึงสุดยอดเสาธง แล้วจึงผูกเชือกไว้ให้ตึงไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม

๔. เมื่อชักธงลง ให้ดึงเชือกให้ธงลงช้าๆด้วยความสม่ำเสมอ และสายเชือกตึงจนถึงระดับเดิมก่อนชักขึ้น

๕. ในกรณีที่มีการบรรเลงเพลงเคารพหรือมีสัญญาณในการชักธงขึ้นและลงจะต้องชักธงขึ้นและลงให้ถึงจุดที่สุด พร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้นๆ

การชักธงชาติในเวลาปกติ ณ อาคารสถานที่และที่ยานพาหนะ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. อาคารสถานที่และยานพาหนะของราชการฝ่ายทหารให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของทหาร

๒. อาคารสถานที่ราชการฝ่ายพลเรือน ให้ชักธงทุกหน่วยงาน กรณีที่มีสถานที่ราชการหลายหน่วยงานในบริเวณเดียวกัน จะสมควรชักธง ณ ที่ใด ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานผู้ปกครองอาคารสถานที่นั้นๆจะตกลงกัน

๓. อาคารสถานที่ราชการฝ่ายพลเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน การชักธงโดยการจัดตั้งเสาธงต่างหากจากตัวอาคารให้ได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการพระราชวัง

๔. สถาบันการศึกษาในสังกัดหรือในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย โรงเรียน ทุกประเภท และสถานศึกษาในสังกัดหรือในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการให้ปฏิบัติตามระเบียบ ที่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือกระทรวงศึกษาธิการกำหนด แล้วแต่กรณี

๕. เรือเดินทะเล ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ

๖. เรือเดินในลำน้ำ ถ้าจะชักธงให้ชักไว้ที่ท้ายเรือ

๗. ที่สาธารณสถานและอาคารสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงให้ปฎิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๒๙ โดยอนุโลม

๘. ยานพาหนะอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ข้างต้น โดยปกติไม่ควรชักธง

โอกาสและวันพิธีสำคัญที่ให้ชักและประดับธงชาติ

๑. วันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ๑ วัน

๒. วันมาฆบูชา ๑ วัน

๓. วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึก ๑ วัน มหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ ๖ เมษายน

๔. วันสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน ๑ วัน

๕. วันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๑ วัน

๖. วันพืชมงคล ๑ วัน

๗. วันวิสาขบูชา ๑ วัน

๘. วันอาสาฬหบูชา ๑ วัน

๙. วันเข้าพรรษา ๑ วัน

๑๐. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑ วัน

๑๑. วันสหประชาชาติ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑ วัน

๑๒. วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๓ วัน วันที่ ๕ ๖ และ ๗ ธันวาคม

๑๓. วันรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑ วัน

นอกจากนี้ การประดับและชักธงในโอกาสหรือวันพิธีสำคัญอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่ทางราชการ จะประกาศให้ทราบเป็นครั้งคราว กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นและลง

๑. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐประดับธงชาติไว้ในสถานที่อันควรในบริเวณที่ทำการทุกวันและตลอดเวลา

๒. นอกเหนือจากข้อ ๑ ถ้าต้องมีการชักธงชาติขึ้นและลง ณ สถานที่ หรือบริเวณใด ให้เป็นไปตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

๒.๑ ให้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โดยให้ชักธงขึ้นตามเสียงเพลงชาติที่บรรเลงต่อจากการเทียบเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

๒.๒ ให้ชักธงชาติลงจากยอดเสาเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ตามเสียงเพลงชาติที่บรรเลงต่อจากการเทียบเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

๓. สถานที่และยานพาหนะของฝ่ายทหาร การชักธงชาติขึ้นและลงให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของทหาร

๔. เรือเดินทะเล การชักธงชาติขึ้นและลงให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ

การทำความเคารพธงชาติ

๑. เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลงในพิธีการต่างๆ ให้แสดงความเคารพ โดยยืนตรง หันไปทางเสา อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ

๒. ในกรณีได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง

๓. ในกรณีอยู่ในอาคารหรือยานพาหนะที่ไม่สามารถยืนแสดงความเคารพได้ ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง

การลดธงชาติลงครึ่งเสา

การลดธงชาติครึ่งเสากรณีใด เป็นเวลาเท่าใด ให้กระทรวงการต่างประเทศ สำนักพระราชวัง หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี แจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและปฏิบัติ

การชักธงชาติคู่กับธงอื่น

การใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่กับธงอื่น หรือร่วมกับธงอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธง ยกเว้นธงพระอิสริยยศจะต้องไม่ให้ธงชาติอยู่ในระดับต่ำกว่าธงอื่นๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรก ด้านขวา

การใช้ธงชาติคู่กับธงอื่นในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือที่สำหรับประธานให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวาและธงอื่นอยู่ด้านซ้าย

การใช้หรือชักธงชาติคู่กับธงอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นให้ทำดังต่อไปนี้

๑. เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคี่ ต้องให้ธงชาติอยู่ตรงกลาง

๒. เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ ต้องให้ธงชาติอยู่ตรงกลางทางด้านขวา (ด้านขวา หมายถึง ส่วนข้างขวาเมื่อดูออกมาจากภายในหรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธง)

การใช้ธงชาติร่วมกับพระพุทธรูปและพระบรมรูป

การใช้ธงชาติร่วมกับพระพุทธรูปและพระบรมรูปในพิธีการต่างๆ เพื่อเป็นที่สักการะร่วมกัน ให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปอยู่ด้านซ้าย

การใช้ธงชาติร่วมกับธงของต่างประเทศการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่หรือร่วมกับธงของต่างประเทศ ให้ปฏิบัติดังนี้

๑. การใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่หรือร่วมกับธงของต่างประเทศ จะต้องเป็นไปในลักษณะที่เท่าเทียมกัน เช่น ขนาดและสีของธง และความสูงต่ำของเสาธง เป็นต้น

๒. ถ้าใช้หรือชักธงของต่างประเทศประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติเคียงคู่อยู่ทางด้านขวาของธงต่างประเทศ

๓. ถ้าใช้หรือชักธงของต่างประเทศเกินกว่าหนึ่งประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคี่ ต้องให้ธงชาติอยู่กลาง

๔. ถ้าใช้หรือชักธงของต่างประเทศเกินกว่าหนึ่งประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ ต้องให้ธงชาติอยู่กลางด้านขวา (ด้านขวา หมายถึง ส่วนข้างขวาเมื่อดูออกมาจากภายในหรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธง)

๕. กรณีที่เป็นการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติในอาคารสถานที่ หรือมีข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือประเทศภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่นให้ใช้ ชัก หรือแสดงเรียงตามลำดับอักษร หรือเรียงตามลำดับการเป็นสมาชิก เป็นต้น ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดนั้นๆได้

๖. การใช้ ชัก หรือการแสดงธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ

๗. การใช้ธงชาติคู่กับธงของต่างประเทศสำหรับรถยนต์ให้ใช้ปักธงชาติไว้ทางด้านขวาและธงของต่างประเทศไว้ทางด้านซ้าย ส่วนยานพาหนะอื่นให้อนุโลมทำนองเดียวกัน เว้นแต่การใช้บนเรือให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ

หน้า จาก ๑๒ หน้า