Wright, Arnold และ Oliver T. Breakspear, Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources. London : Lloyd’s Greater Britain Publishing Company, Ltd, 1908.
Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources เป็นหนังสือเล่ม หนึ่งในชุดหนังสือที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว หนังสือชุดนี้มีหลายเล่มด้วยกัน แต่ปัจจุบัน ปรากฏให้เห็นเพียงเฉพาะเล่มที่เกี่ยวกับพม่า มลายา สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ตลอดจนเมืองท่าอื่นๆ ของจีนที่ต่างชาติได้สิทธิ์ในการเช่า และ ไทย(สยาม) เท่านั้น Twentieth Century Impressions of Siam มีอาร์โนลด์ ไรต์ (Arnold Wright) เป็นบรรณาธิการใหญ่และโอลิเวอร์ ที. เบรกสเปียร์ (Oliver T. Breakspear) เป็นบรรณาธิการผู้ช่วย สำนักพิมพ์ Lloyd’s Greater Britain Publishing Company, Ltd. ประเทศอังกฤษจัดพิมพ์ขึ้นในค.ศ. 1908 ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2451 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และมี พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยประทานคำปรึกษาและประทาน ภาพถ่ายที่ทรงสะสมไว้เพื่อใช้ประกอบเนื้อหาด้วย หนังสือมีขนาดใหญ่ (oversize) พิมพ์ 3 คอลัมน์ พร้อมภาพประกอบ ความหนาจำนวน 302 หน้า
เนื้อหาของ Twentieth Century Impressions of Siam แบ่งออกเป็น 21 หมวดหรือหัวข้อ ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้
อาร์โนลด์ ไรต์ ไม่เพียงจะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าและเขียนหัวข้อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และราชวงศ์อีกด้วย ซึ่งเป็นการแนะนำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักประวัติศาสตร์สยามตั้งแต่เริ่มมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยอยุธยา โดยโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายด้วย การเข้ามาของอังกฤษที่ปัตตานี การแข่งขันทางการค้าระหว่างอังกฤษ กับดัตช์ เรื่องราวภายในกรุงศรีอยุธยาที่เกี่ยวกับการเข้ามามีอำนาจของคอนสแตนติน ฟอลคอล นักผจญภัยชาวกรีกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ออกญาวิชาเยนทร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเขามีตำแหน่งสมุหนายกเทียบเท่าอัครเสนาบดี การส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าและเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส สงครามระหว่างสยามกับกอลกอนดาซึ่งเป็นเมืองการค้าตั้งอยู่ในอินเดีย จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชาและการเสื่อมอำนาจของกรุงศรีอยุธยา
ส่วนประวัติศาสตร์สยามในสมัยรัตนโกสินทร์จะเน้นตั้งแต่การเข้ามาติดต่อค้าขายของชาวต่างชาติกับสยามอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จนถึงช่วงที่อังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริงเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสยามในพ.ศ. 2398 ซึ่งตรงกับ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้งยังให้รายละเอียดเรื่องการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลที่4 กับปัญหาการ เมืองภายในและการมีกษัตริย์ 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาธิราช ที่ครองราชย์ร่วมกัน การส่งคณะทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับอังกฤษในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียใน พ.ศ. 2399 ซึ่งได้รับการต้อน รับอย่างเอิกเริก (ใช้บันทึกของล่ามเล่าซ้ำบรรยากาศ) ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็กล่าวถึงความพยายามของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสในการแย่งชิงสยามและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันในช่วง 2 ทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่19 จนถึงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณ พ.ศ. 2320 - 2350) ก็สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสยามในการพัฒนาประเทศให้ เจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศตะวันตกในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนการเกริ่นนำที่จะนำไปสู่รายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ต่อไป ส่วนในเรื่องที่ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ก็เป็นการเสนอพระราชประวัติสั้นๆ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เท่านั้น
โดยความเป็นจริง เรื่องราวของสยามตั้งแต่หัวข้อที่ 2 เป็นต้นไปจนจบเล่มนั้นเป็นเสมือน “การรายงานและความประทับใจ” ที่มีต่อสยามในการ สร้างประเทศให้ทันสมัยของผู้เขียนแต่ละคนที่รับผิดชอบในการเขียนหัวข้อต่างๆ เหล่านั้น ผู้เขียนเป็นชาวต่างชาติจากหลาย ๆ ประเทศที่ต่าง ล้วนมีความสามารถเฉพาะด้านและต่างก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลือกสรรจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เข้ามาช่วยในการ วางพื้นฐานการดำเนินงานของหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ การเข้ามารับราชการในสยามของพวกเขาดังกล่าวนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ในการสร้างสยามให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ทั้งในหลายกรณีก็เป็นการเจริญก้าวหน้ากว่า ประเทศเพื่อนบ้านมาก บุคคลที่รับผิดชอบการเขียน เช่น มะซะโอะ(Masao) นักกฎหมายชาวญี่ปุ่นซึ่งเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลมี ส่วนสำคัญในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเขียนเรื่องรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดับเบิลยู. เจ. เอฟ. วิลเลียมสัน (W. J. F. Williamson) ชาวอังกฤษซึ่งมาจากชาติที่เก่งในเรื่องการเงินและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งเป็นที่ปรึกษาด้านการคลังเขียนเรื่อง การคลัง และฟาน เดอร์ ไฮเดอ (van der Heide) หรือ “ไฮเด” อธิบดีกรมคลองชาวดัตช์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแผ่นดินต่ำซึ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมทรัพยากรน้ำเขียนเกี่ยวกับแม่น้ำ ถนน และคูคลอง เป็นต้น ส่วนผู้เขียนคนอื่นๆ ซึ่งต่างมีประสบการณ์โดยตรงและมีความรู้ความสามารถเช่นกันก็ได้เขียนในเรื่องที่เขาถนัด ดังนั้นงานเขียนในหัวข้อต่างๆ ที่ผูกร้อยกันขึ้นมาและเป็นเนื้อหา ที่เกี่ยวกับ “ผู้คน การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและทรัพยากรด้านต่างๆ(ของสยาม)” (Its History, People, Commerce, Industries, and Resources) ซึ่งเป็นชื่อ(เรื่อง)รองของหนังสือจึงมีความน่าสนใจยิ่งในรายละเอียดที่ให้สีสันของการพัฒนาประเทศที่สามารถเจริญรุดหน้าได้ ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีจนเป็นที่ประทับใจของผู้คนทั่วไปเมื่อสยามย่างก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่วนตาราง สถิติต่างๆ ก็เป็นประโยชน์ อย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สยามในสมัยนั้น งานเขียนชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นรายงานของความก้าวหน้าของสยามร่วมสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันหลังจากหนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วงานเขียนชิ้นนี้ก็คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการใช้เป็นข้อมูลและการอ้างอิงสำหรับผู้ที่ทำงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลก่อนหน้านั้นด้วยได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นผลงานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าเล่มหนึ่ง
การเรียงร้อยหัวข้อต่างๆ ก็เป็นไปอย่างมีระบบซึ่งทำให้เห็นถึงการปฏิรูปประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การคลัง การสาธารณสุข การค้าขาย การผลิตข้าว การทำอุตสาหกรรมไม้สักและเหมืองแร่ การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสารที่ทันสมัย และรวดเร็ว (การไปรษณีย์และโทรเลข)ผู้อ่านยังสามารถเห็นภาพของสยามในช่วงปรับปรุงประเทศได้เป็นอย่างดี และยังทำให้เห็นถึงความเจริญต่างๆที่ยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉาะในกรุงเทพฯ นครหลวงของสยามก็เห็นความก้าวหน้าทางด้านการศึกษา การกีฬา และมีสิ่งตีพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทั้งหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ทั้งสยามยังเป็นดินแดนที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และพระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกอีกด้วย นอกจากนี้ในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรายชื่อของนักการทูตประเทศต่างๆ ที่ประจำในราช สำนักสยามในช่วงเวลานั้น และมีการสอดแทรกเนื้อหาและข้อเขียนต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสารหรือหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเพื่อเล่าซ้ำเหตุการณ์ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น จึงเท่ากับผู้อ่านได้อ่านเอกสารชั้นต้นในเรื่องต่างๆ ไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความจำกัดในข้อมูลและการเป็นชาว ต่างชาติที่ไม่สันทัดในข้อมูลที่เป็นภาษาไทยจึงอาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงจึงให้ข้อเท็จจริงบางประการคลาดเคลื่อนไปบ้าง ดังนั้นผู้อ่านจึงต้องตรวจสอบจากเอกสารอื่นๆ ด้วย
ส่วนงานเขียนประวัติศาสตร์ของอาร์โนลด์ ไรต์ ซึ่งเป็นเสมือนบทโหมโรงของหนังสือที่ครอบคลุมเนื้อหาประมาณ 1ใน 4 ของหนังสือผู้อ่านต้องใช้ความระมัดระวังในข้อมูลต่างๆ ที่เขานำเสนอ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยานั้น อาร์โนลด์ ไรต์ใช้ข้อมูลและหลักฐานที่เป็นบันทึก ของนักผจญภัยที่เป็นชาวโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษฝ่ายเดียวขณะที่พวกเขาเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาและนานาประเทศเพื่อนบ้าน บางครั้งเขาได้นำข้อเขียนต่างๆ มาลอกซ้ำโดยไม่มีการตรวจสอบว่าอันไหนถูกต้องที่สุดหรือขัดแย้งกับข้อมูลของไทย ส่วนงานเขียนของชาติต่างๆ เหล่า นั้นก็มีความขัดแย้งในข้อเท็จจริงกันเอง ทั้งการออกเสียงและการสะกดชื่อของบุคคลต่าง ๆ ก็แตกต่างกัน จึงอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนได้ โดยง่าย ในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ อาร์โนลด์ ไรต์ใช้งานเขียนของแอนนา ลีโอโนเวนส์ (Anna Leonowens) สตรีชาว อังกฤษที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในราชสำนักของรัชกาลที่ 4 เป็นหลักฐานในการอ้างอิง ซึ่งปัจจุบันนี้นักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นว่างานเขียนของเธอมีอคติและหลายเรื่องไม่ใช่ข้อเท็จจริง ทั้งชื่อต่างๆ ที่ปรากฏก็ไม่ใช่ชื่อ ที่คนไทยเรียกกัน จึงทำให้ไม่สามารถสืบเสาะหาความจริงได้ นอกจากนี้ อาร์โนลด์ ไรต์ ยังมักนำเรื่องเก่าๆ ที่คนไทยนิยมเล่าต่อ ๆ กันมาเล่าซ้ำอีกครั้งโดยไม่ตรวจสอบก่อน ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ถูกต้องและไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่น กรณีรัชกาลที่ 4 ทรงส่งช้างไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) แห่งสหรัฐอเมริกาในพ.ศ. 2404 แต่ในความเป็นจริงเป็นการส่งไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน (James Buchanan)ซึ่งดำรงตำแหน่งตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนประธานาธิบดีลิงคอล์น ทั้ง อาร์โนลด์ ไรต์ ยังขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบวันเวลาที่ถูกต้องของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กล่าวว่า บางกอกไทมส์ (Bangkok Times) จัดตั้ง พ.ศ.2430 ( ค.ศ.1887) เป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าที่สุด แต่ในความเป็นจริงคือบางกอกรีคอเดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 หรือก่อนหน้านั้น 43 ปี ซึ่ง เป็นวันครบรอบ 68 ปีของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และวันทีที่ไม่ถูกต้องของการจัดตั้งกรมรถไฟ กรมไปรษณีย์ และอื่น ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีแม้ Twentieth Century Impressions of Siam จะมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลทางประวัติศาสตร์และมีข้อผิดพลาดในหลายๆ เรื่องก็ตาม แต่หนังสือเล่มนี้ก็มีคุณค่าอย่างมากเมื่อพิจารณาถึงการนำเสนอโดยเฉพาะรูปภาพที่พิมพ์ประกอบซึ่งเป็นรูปประทานของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพและของช่างภาพอื่นๆ ที่สำคัญคือ เจ. แอนโตนิโอ (J. Antonio) ซึ่งมีผลงานภาพโพสการ์ดเกี่ยวกับสยามประเทศจำนวนมาก เพราะถือได้ว่าเป็นการรวบรวมภาพถ่ายจำนวนมากที่สุดที่เกี่ยวกับสยามในแง่มุมต่างๆ มาจัดพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกัน ทั้ง การจัดวางรูปภาพต่างๆก็ทำได้อย่างสวยงาม โดยนำศิลปะรูปแบบนวศิลป์หรืออาร์ตนูโว (art nouveau) ที่นิยมกันในเวลานั้นมาใช้ในการตกแต่งได้แก่ลายเครือเถา พฤกษา และเส้นสายที่อ่อนช้อยงดงาม ทำให้เกิดการจัดภาพถ่ายและการรวมรูปกลุ่มภาพถ่ายในแต่ละหน้าที่แปลกตา สวยงามและมีศิลปะ นับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเล่มนี้ด้วย
ภาพต่างๆ เหล่าที่ปรากฏก็มีจำนวนนับร้อย ๆ ภาพ ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่ได้ดังนี้ : ภาพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญทั้งที่ เป็นขุนนางไทย ทูตานุทูตและชาวต่างประเทศ พ่อค้าวาณิชย์ที่เป็นคหบดีทั้งชาวตะวันตก ชาวจีน และชาวสยาม ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา สถานที่ซึ่งมีทั้งพระราชวัง โบราณสถาน วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร อนุสรณ์สถาน อาคารพาณิชย์ คฤหาสน์ โรงงาน ห้องสมุดแห่งแรกของสยาม โรงเรียนทั้งของไทยและโรงเรียนของศาสนนิกายอื่นๆ ที่ทำการรัฐบาล โรงพิมพ์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ สปอร์ตคลับ โรงแรม สะพาน ถนนหนทาง ทางรถไฟ เรือพาณิชย์ เรือจ้าง ศิลปวัฒนธรรม สัตว์พื้นบ้าน ยานยนต์ รถม้า วิถีชีวิตแบบไทยๆ ทั้งในภาคการเกษตรและการค้า สินค้าจากตะวันตกที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย โรงงานอุตสาหกรรมรายย่อย และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบางครั้งผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดของภาพต่างๆ โดยเฉพาะชื่อของบุคคลต่างๆ ที่ปรากฏในภาพ เช่น กลุ่มพ่อค้าชาวจีนสยามจำนวนมากมายที่มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจของไทยสมัยนั้น หากผู้อ่านต้องการทราบชื่อเสียงเรียงนามจริงก็ยากที่จะบอกได้ว่าว่าใครเป็นใคร เพราะการถอดคำของพ่อค้าชาวจีนจากภาษา จีนเป็นภาษาอังกฤษนั้น เขาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการใช้หลักเกณฑ์การถอดคำเท่าใดนัก จึงทำให้ผู้อ่านในปัจจุบันยากที่จะทราบได้ว่าชื่อที่ถูกต้องนั้นออกเสียงอย่างไร แต่ภาพที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯซึ่งทำให้เห็นถึงการสร้างกรุงเทพฯให้ทันสมัยทัดเทียมตะวันตกดูน่าประทับใจอย่าง ยิ่งในความเป็นเมืองที่มีระเบียบและความสะอาด รวมถึงภาพหายากที่เป็นบ้านหรือคฤหาสน์ของคหบดีที่มีชีวิตอยู่อย่างหรูหราและมีรสนิยม แบบตะวันตกก็สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบไทยให้เป็นตะวันตกได้เป็นอย่างดี ชาวตะวันตกที่มาจากประเทศที่พัฒนาในขณะ นั้นคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างมากนักในการกินอยู่ในสยาม
Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources จึงนับว่าเป็นบทบัน ทึกที่สำคัญในประวัติศาสตร์ในการเรียนรู้ถึงการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งหนังสือยังบรรลุเป้าหมายของผู้จัดทำที่ต้องการให้หนังสือนี้เป็น “การเสนอภาพที่เป็นตัวแทนของสยามในระดับที่ไม่เคยมีความพยายามทำมาก่อนหน้านี้” หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความประทับใจ” ของทั้งผู้เขียนและผู้จัดทำในอดีตที่มีต่อสยาม พอๆ กับผู้อ่านในปัจจุบันที่ได้เห็นภาพเก่าอันน่าตื่นตาตื่นใจจำนวนมากของ สยามประเทศและผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติและอาชีพเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วด้วย
เรื่องอ่านประกอบ Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources. จำนวน 21 เรื่อง เรียงลำดับหัวข้อตามหนังสือดังต่อไปนี้